กิน ‘อาหารจากพืช แทนเนื้อสัตว์’ (อาจ) ลดความเสี่ยงเสียชีวิตจากทุกโรค

29 พฤศจิกายน 2566 - 07:58

Replacing-animal-based-food-with-plant-SPACEBAR-Hero.jpg
  • จากการวิเคราะห์งานวิจัยกว่า 30 ชิ้น นักวิจัยพบว่า ‘การกินอาหารจากพืชแทนอาหารจากสัตว์’ อาจลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และการเสียชีวิตจากทุกโรค

  • หลักฐานชี้ว่าการกินอาหารจากพืชแทนเนื้อแปรรูป ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ 25% และอาจลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกโรคได้ 21%

  • งานวิจัยใหม่นี้ เป็น ‘ครั้งแรก’ ของการวิเคราะห์งานวิจัยหลายชิ้น เกี่ยวกับเรื่องนี้

ในแต่ละวัน คุณกินอาหารจากสัตว์ หรืออาหารจากพืชมากกว่ากัน

ปัจจุบันการกินแบบตะวันตกที่เต็มไปด้วยเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูป และอาหารจากสัตว์อื่นๆ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าการกินแบบนี้จะทำให้ทรัพยากรทางธรรมชาติอยู่ในภาวะตึงเครียด กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แย่ลง และมีส่วนทำให้เกิดโรคไม่ติดต่ออีกเป็นขบวน ซึ่งภาระต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทำให้มีการสนับสนุนให้คนหันมาเลือกกินอาหารที่ทำจากพืชเพิ่มขึ้นแทน

งานวิจัยบางชิ้นแนะนำว่า อาหารจากพืชอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหลอดเลือดหัวใจ และการเสียชีวิตทั้งหมด แต่ไม่ได้มีการทำบททบทวนที่เป็นระบบและทำการวิเคราะห์อภิมาน (การนำผลการวิจัยหลายงานที่ศึกษาในประเด็นเดียวกันมาศึกษาวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติ หรือวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพและนำเสนอข้อสรุปอย่างมีระบบ) เกี่ยวกับการเปลี่ยนจากการกินเนื้อสัตว์มากินพืชว่ามีความสำคัญต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

ดังนั้นนักวิจัยจากสถาบันต่างๆในประเทศเยอรมนี จึงร่วมกันทำวิจัยสำรวจเรื่องนี้ ซึ่งบทความทบทวนและการวิเคราะห์อภิมานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Medicine 

นักวิจัยรายงานว่า “การค้นพบของเราชี้ว่าการเปลี่ยนอาหารจากสัตว์ เช่น เนื้อแดงและเนื้อแปรรูป ไข่ ผลิตภัณฑ์นม เนย ไปเป็นอาหารจากพืช เช่น ถั่ว ถั่วฝัก ธัญพืชไม่ขัดสี น้ำมันมะกอก มีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด และการเสียชีวิตจากทุกโรค”

งานวิจัยที่ทบทวนเรื่องนี้ครั้งแรก

ทีมวิจัยได้ค้นหางานวิจัยใน MEDLINE  Embase และ Web of Science โดยรวบรวมงานวิจัยที่วิเคราะห์การทดแทนอาหารจากสัตว์ด้วยอาหารจากพืช และอภิปรายถึงผลต่อสุขภาพ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และการเสียชีวิตทั้งหมด และเป็นงานวิจัยที่เฝ้าสังเกตประชากรที่สุขภาพดีทั่วไป 

สุดท้ายทีมวิจัยจำกัดการค้นหาลงจากงานวิจัย 1,216 ชิ้น เป็น 32 ชิ้น และหาด้วยมือเพิ่มอีก 5 ชิ้น รวมทั้งหมดวิเคราะห์อภิมานจากงานวิจัย 37 ชิ้น

นักวิจัยกล่าวว่า “งานวิจัยนี้เป็นบททบทวนที่เป็นระบบและเป็นการวิเคราะห์อภิมาน ‘ชิ้นแรก’ ที่สรุปความเชื่อมโยงระหว่างการทดแทนอาหารจากสัตว์ด้วยอาหารจากพืช กับผลต่อหัวใจและหลอดเลือดที่กว้างมาก เช่น การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด อัตราการเกิดโรคต่างๆ ทั้ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 การเสียชีวิตจากโรคเบาหวาน และการเสียชีวิตจากทุกโรค”

สลับจากอาหารที่ทำจากสัตว์ มาเป็นอาหารจากพืช เพื่อสุขภาพ

นักวิจัยสังเกตเห็นหลักฐานที่แน่นอนระดับปานกลาง จากการแทนที่ไข่ด้วยถั่ว มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง และเมื่อใช้น้ำมันมะกอกแทนเนยก็ให้ผลแบบเดียวกัน

เมื่อเปลี่ยนจากเนื้อแปรรูป 50 กรัม เป็นถั่ว 28 กรัม ทุกวัน พบ ‘อัตราการเกิด’โรคหลอดเลือดหัวใจลดลง ส่วนการแทนที่สัตว์ปีกหรืออาหารทะเล ด้วยถั่วหรือถั่วฝัก ไม่ได้เป็นเช่นนั้น 

และพบหลักฐานที่แน่นอนระดับต่ำ เกี่ยวกับการลด ‘ความเสี่ยง’โรคหลอดเลือดหัวใจจากการแทนที่เนื้อแดงด้วยถั่ว หรือถั่วฝัก

สรุปแล้ว ทีมวิจัยสังเกตพบหลักฐานที่แน่นอนระดับปานกลางว่าความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากทุกโรคลดลงเมื่อเปลี่ยนจากเนื้อแดงมาเป็นถั่ว หรือธัญพืชไม่ขัดสี และถั่วหรือถั่วฝักแทนเนื้อแปรรูป ก็ลดความเสี่ยงนี้เช่นกัน นอกจากนี้การแทนผลิตภัณฑ์นม หรือไข่หนึ่งฟองในแต่ละวัน ด้วยถั่วหรือถั่วฝัก หรือน้ำมันมะกอกแทนเนย มีความเชื่อมโยงกับการลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกโรค

การค้นพบนี้ตรงกับการทบทวนก่อนหน้านี้ที่แนะนำว่าการแทนที่เนื้อแดงด้วยอาหารจากพืช ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ และการเสียชีวิตจากทุกโรค และยังเป็นการสนับสนุนงานวิจัยอื่นๆที่ศึกษาว่าการบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และการเสียชีวิตจากทุกโรค

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์