งานวิจัยพบว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะแย่ลงหกเท่าจากที่เคยคิดไว้ก่อนหน้านี้ ด้วยความร้อนของโลกจะทำให้ความมั่งคั่งหดตัวลงในอัตราที่เทียบเท่ากับระดับของการสูญเสียทางการเงินจากสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน
อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ทั่วโลก ลดลง 12 % ซึ่งถือว่าเป็นการประเมินที่สูงกว่าการวิเคราะห์ก่อนหน้านี้อย่างมาก
ขณะนี้โลกร้อนขึ้นมากกว่า 1 องศาเซลเซียสแล้ว จากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศก็ได้คาดว่าโลกจะร้อนขึ้น 3 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ เนื่องจากยังมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นฉากทัศน์ที่งานวิจัยฉบับนี้รายงานว่าจะเกิดขึ้นพร้อมความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล
งานวิจัย เผยว่า หากอุณหภูมิสูงขึ้น 3 องศาเซลเซียส จะก่อให้เกิด “การลดฮวบของผลผลิต เงินทุนและการบริโภค มากกว่า 50% ภายในปี 2100” และความเสียหายทางเศรษฐกิจนี้มีความรุนแรงอย่างมาก “เทียบได้กับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มีสาเหตุจากการสู้รบ สงครามภายในประเทศและยืดเยื้อยาวนาน”
อาเดรียน บิลาล นักเศรษฐศาสตร์แห่งฮาร์วาร์ด ซึ่งเขียนงานวิจัยนี้ร่วมกับ ดิเอโก คานซิก นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น กล่าวว่า “มันจะยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่บ้างแต่ภายในศตวรรษนี้ผู้คนอาจจะจนลง 50% กว่าที่เคยเป็น ซึ่งตอนนั้นปราศจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
“ผมคิดว่าทุกคนคงจะจินตนาการได้ว่าพวกเขาจะทำอะไรกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปัจจุบัน มันจะเปลี่ยนชีวิตของผู้คนไปเลย”
บิลาล กล่าวว่า การจ่ายค่าพลังงานซึ่งเป็นจำนวนที่ผู้คนสามารถที่จะจ่ายได้ด้วยเงินของพวกเขา จะสูงขึ้น 37% จากที่เป็นอยู่ขณะนี้ที่โลกไม่ได้ร้อนตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา การสูญเสียความมั่งคั่งจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าวิกฤตสภาพภูมิอากาศรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งเทียบได้กับความสูญเสียทางเศรษฐกิจระหว่างช่วงเวลาสงคราม
“มาทำความเข้าใจให้ชัดกับการเปรียบเทียบกับสงคราม หมายถึงแค่เรื่องการบริโภคและจีดีพีเท่านั้น ส่วนความทุกข์ทรมาน และการเสียชีวิตจากสงครามที่เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ได้รวมอยู่ในการวิเคราะห์นี้” บิลาล กล่าว
“การเปรียบเทียบนี้อาจทำให้ตกใจ แต่เฉพาะจีดีพีเพียงอย่างเดียวที่มีความคล้ายกัน ถือเป็นความคิดที่น่ากังวล”

งานวิจัยนี้ได้ประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจไว้สูงกว่างานวิจัยก่อนหน้านี้อย่างมาก ซึ่งคำนวณ ‘ต้นทุนทางสังคมของคาร์บอน’ (social cost of carbon) ซึ่งก็คือมูลค่าความเสียหายจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นทุกหนึ่งตัน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,056 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน หรือประมาณ 38,000 บาทต่อตัน เทียบกับก่อนหน้านี้ที่องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม สหรัฐฯ (US Environmental Protection Agency) ประเมินไว้ที่ประมาณ 190 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน หรือประมาณ 6,847 บาทต่อตัน
บิลาล กล่าวว่า งานวิจัยใหม่นี้เป็นการวิเคราะห์แบบ ‘องค์รวม’ มากขึ้นเกี่ยวกับความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งวิเคราะห์ในมาตราส่วนของโลก แทนที่จะเป็นส่วนของแต่ละประเทศเป็นหลัก ซึ่งงานนี้ทำให้เห็นธรรมชาติที่เชื่อมโยงกันจากผลกระทบของคลื่นความร้อน พายุ น้ำท่วม และผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายอื่น ๆ ซึ่งสร้างความเสียหายกับพืชผลทางการเกษตร ลดความสามารถในการผลิตของคนทำงาน และลดการลงทุน
“พวกเขาได้ถอยกลับไปและเชื่อมโยงผลกระทบในท้องที่ด้วยอุณหภูมิโลก” เจอร์น็อต วากเนอร์ นักเศรษฐศาสตร์ภูมิอากาศ แห่งมหาวิทยาลับโคลัมเบีย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องในงานิจัยนี้ กล่าว
“ถ้าผลจากงานวิจัยจะเกิดขึ้นตามนี้ ซึ่งผมก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะเชื่อว่าไม่เกิด พวกเขาจะมีการคำนวณความเสียหายจากสภาพภูมิอากาศโดยรวมที่มีความแตกต่างอย่างยิ่ง”
งานวิจัยนี้พบว่าผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะเป็นแบบเดียวกันทั่วโลกอย่างน่าประหลาดใจ แม้กระทั่งกับประเทศที่มีรายได้ต่ำซึ่งอยู่ในจุดเริ่มต้นของความมั่งคั่งที่ต่ำกว่า และงานวิจัยชี้ว่าควรมีการกระตุ้นให้ประเทศร่ำรวย เช่น สหรัฐฯ ปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนให้อยู่ในผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
แม้จะมีการลดการปล่อยก๊าซลงอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยังทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างหนัก และแม้จะควบคุมความร้อนของโลกให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสไปเล็กน้อยภายในศตวรรษนี้ ตามข้อตกลงของโลก จีดีพีก็จะยังลดลงประมาณ 15%
“มันก็ยังคงมากมายอยู่ดี...เศรษฐกิจจะยังคงเติบโตต่อไป แต่น้อยกว่าที่ควรจะเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มันจะเป็นปรากฏการณ์ที่เคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ แม้ว่าจะรู้สึกถึงผลกระทบอย่างรุนแรงเวลาที่มันโจมตี”
บิลาล กล่าว
งานวิจัยนี้ออกมาหลังจากมีงานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน ซึ่งพบว่ารายได้โดยเฉลี่ยจะลดลงหนึ่งในห้าภายใน 26 ปีที่จะถึงนี้ เมื่อเทียบกับช่วงที่ไม่ประสบวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้น ฝนตกหนักขึ้นและสภาพอากาศรุนแรงที่เกิดบ่อยขึ้นและหนักขึ้นเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องสูญเสียถึง 38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,370 ล้านล้านบาท ทุกปี ภายในกลางศตวรรษนี้
งานวิจัยทั้งสองฉบับนี้สร้างความชัดเจนว่าค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนจากการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการควบคุมผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แม้จะไม่เล็กน้อย ก็ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าความเสียหายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่ลดน้อยลงมีมูลค่ามากกว่าการทำบางอย่างเกี่ยวกับมันอย่างมาก มันชัดเจน”
วากเนอร์ กล่าว