นักโบราณคดีพบเมืองมายาโบราณที่สาบสูญนานหลายศตวรรษในป่าเม็กซิโก

29 ต.ค. 2567 - 09:11

  • นักโบราณคดีค้นพบเมืองมายาขนาดใหญ่ที่หายไปนานหลายศตวรรษ รวมถึงพีระมิด สนามกีฬา กลุ่มอาคารต่างๆ ราว 6,764 หลังและโรงละครกลางแจ้ง ในป่ารัฐคัมเปเชทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเม็กซิโก

  • นักโบราณคดีเรียกเมืองนี้ว่า ‘วาเลเรียนา’ (Valeriana) ซึ่งถูกพบโดยบังเอิญจากการใช้ ‘ไลดาร์’ (Lidar) เครื่องสำรวจด้วยเลเซอร์ที่ใช้ทำแผนที่โครงสร้างต่างๆ ที่ถูกฝังอยู่ใต้พืชพรรณ

  • หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า “การค้นพบนี้ช่วยเปลี่ยนความคิดของชาวตะวันตกที่ว่าเขตร้อนชื้นคือที่ที่ ‘อารยธรรมต่างๆ ดับสูญ’ ในทางกลับกัน ส่วนนี้ของโลกกลับเป็นแหล่งรวมของวัฒนธรรมที่หลากหลายและซับซ้อน”

researcher_finds_lost_city_in_mexico_jungle_by_accident_SPACEBAR_Hero_0886ee0932.jpg

นักโบราณคดีค้นพบเมืองมายาขนาดใหญ่ที่หายไปนานหลายศตวรรษ รวมถึงพีระมิด สนามกีฬา สะพานเชื่อมระหว่างเขตและโรงละครกลางแจ้ง ในป่ารัฐคัมเปเชทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเม็กซิโก 

นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบกลุ่มอาคารที่มีขนาดต่างๆ กันอยู่ 6,764 หลัง ซึ่งนักโบราณคดีเรียกว่า ‘วาเลเรียนา’ (Valeriana / ตั้งตามชื่อทะเลสาบในบริเวณใกล้เคียง) พวกเขาใช้ ‘ไลดาร์’ (Lidar) เครื่องสำรวจด้วยเลเซอร์ที่ใช้สำหรับทำแผนที่โครงสร้างต่างๆ ที่ถูกฝังอยู่ใต้พืชพรรณ นักโบราณคดีเชื่อว่าเมืองนี้มีความหนาแน่นรองจากเมืองกาลักมุล ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแหล่งโบราณคดีของชาวมายาที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกาโบราณ 

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ค้นพบแหล่งโบราณคดีทั้งหมด 3 แห่ง ซึ่งมีขนาดเท่ากับเมืองเอดินบะระ เมืองหลวงของสกอตแลนด์ ‘โดยบังเอิญ’ หลังนักโบราณคดีคนหนึ่งสืบค้นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต “เมื่อผมค้นหาใน Google ถึงหน้าที่ 16 ก็พบการสำรวจด้วยเลเซอร์ที่จัดทำโดยองค์กรของเม็กซิโกเพื่อการตรวจสอบสิ่งแวดล้อม” ลุค อัลด์-โธมัส นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยทูเลนในสหรัฐฯ อธิบาย 

นี่คือการสำรวจด้วยไลดาร์ ซึ่งเป็นเทคนิคการสำรวจระยะไกล โดยจะยิงเลเซอร์หลายพันพัลส์จากเครื่องบิน และทำแผนที่วัตถุด้านล่าง แต่เมื่ออัลด์-โธมัสประมวลผลข้อมูลโดยใช้วิธีการที่นักโบราณคดีใช้ เขาก็ได้เห็นสิ่งที่คนอื่นมองข้ามไป นั่นก็คือ เมืองโบราณขนาดใหญ่ซึ่งอาจเคยเป็นบ้านของผู้คนจำนวน 30,000-50,000 คนในช่วงรุ่งเรืองระหว่างปี 750-850 ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ในปัจจุบันเสียอีก

“การค้นพบนี้ช่วยเปลี่ยนความคิดของชาวตะวันตกที่ว่าเขตร้อนชื้นคือที่ที่ ‘อารยธรรมต่างๆ ดับสูญ’ ในทางกลับกัน ส่วนนี้ของโลกกลับเป็นแหล่งรวมของวัฒนธรรมที่หลากหลายและซับซ้อน”

ศาสตราจารย์มาร์เซโล คานูโต ผู้เขียนวิจัยร่วม อธิบาย

ทั้งนี้ ยังไม่แน่ใจว่าอะไรทำให้เมืองนี้เสื่อมโทรมและถูกทิ้งร้างในที่สุด แต่นักโบราณคดีกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญ 

วาเลเรียนาเป็น ‘สัญลักษณ์ของเมืองหลวง’ และเป็นรองเพียงเมืองกาลักมุลอันงดงามที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 100 กม. ในด้านความหนาแน่นของอาคาร “มันซ่อนอยู่ในที่ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจน และต้องเดินป่าเพียง 15 นาทีจากถนนสายหลักใกล้เมืองซปูจิล (Xpujil) ซึ่งปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมายาเป็นส่วนใหญ่...ไม่มีรูปถ่ายใดๆ ของเมืองที่สาบสูญนี้เนื่องจาก ‘ไม่เคยมีใครไปที่นั่นเลย’ แม้ว่าคนในพื้นที่อาจสงสัยว่ามีซากปรักหักพังอยู่ใต้เนินดินก็ตาม” นักโบราณคดี กล่าว 

เมืองดังกล่าวมีพื้นที่ประมาณ 16.6 ตารางกิโลเมตร มีศูนย์กลางหลัก 2 แห่งซึ่งมีอาคารขนาดใหญ่ห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร เชื่อมต่อกันด้วยบ้านเรือนหนาแน่นและสะพาน อีกทั้งยังมีลานกว้าง 2 แห่งที่มีพีระมิดวิหารสำหรับให้ชาวมายามาสักการะบูชา และมีสมบัติล้ำค่าซ่อนอยู่ เช่น หน้ากากหยกและหลุมฝังศพของคนตาย แล้วก็ยังมีลานว่างสำหรับเล่นบอลโบราณ รวมถึงมีหลักฐานของอ่างเก็บน้ำด้วย ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้คนใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อรองรับประชากรจำนวนมาก 

งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าเมื่ออารยธรรมมายาล่มสลายตั้งแต่ปี 800 เป็นต้นมา สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะอารยธรรมเหล่านี้มีประชากรหนาแน่นมากและไม่สามารถอยู่รอดจากปัญหาสภาพอากาศได้ นอกจากนี้ สงครามและการพิชิตภูมิภาคโดยผู้รุกรานชาวสเปนในศตวรรษที่ 16 ยังมีส่วนที่ทำให้นครรัฐของชาวมายาล่มสลายด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์