ทุกวันนี้แค่ใช้ชีวิตให้ผ่านไปแต่ละวันก็ว่ายากแล้ว ยังต้องมาสู้กับสภาวะแวดล้อมรอบตัวอีก ลำพังแค่อยากจะสูดอากาศบริสุทธิ์ดีๆ เข้าไปให้ปอดได้สดชื่นบ้างก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่าเสียอีก แถมงานวิจัยใหม่ล่าสุดจาก ‘IQAir’ บริษัทเทคโนโลยีคุณภาพอากาศของสวิตเซอร์แลนด์ก็ได้เปิดเผยเรื่องที่น่าตกใจว่า “เกือบทั้งโลกกำลังหายใจเอาอากาศที่สกปรกเข้าไป...พื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกมีแต่อากาศสกปรก...”
เพียง 17% ของเมืองทั่วโลกเท่านั้นที่มี ‘อากาศสะอาด’
91% ของประเทศทั้งหมดมีมลพิษทางอากาศในระดับที่ไม่ปลอดภัยในปี 2024 และมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีค่าเฉลี่ย PM2.5 ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เอสโตเนีย ไอซ์แลนด์ และรัฐเกาะเล็กบางรัฐ
จากฐานข้อมูลตรวจสอบคุณภาพอากาศ IQAir ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากสถานีตรวจสอบคุณภาพอากาศ 40,000 แห่งใน 138 ประเทศ พบว่า ชาด คองโก บังกลาเทศ ปากีสถาน และอินเดีย มีอากาศสกปรกที่สุด โดยระดับ PM2.5 ในทั้ง 5 ประเทศนั้นสูงกว่าค่ามาตรฐานอย่างน้อย 10 เท่าในปี 2024
อินเดียมีเมืองที่มีมลพิษมากที่สุด 6 แห่งจากการจัดอันดับทั้งหมด 9 แห่ง โดย ‘เมืองเบอร์นิฮัต’ (Byrnihat) เมืองอุตสาหกรรมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียขึ้นแท่นกลายเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุด
แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า ระดับมลพิษที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้มาก เนื่องจากสถานที่หลายแห่งทั่วโลกยังขาดเทคโนโลยีการตรวจสอบที่เหมาะสมและแม่นยำ อย่างเช่นในแอฟริกา ซึ่งมีสถานีตรวจสอบเพียงแห่งเดียวต่อประชากร 3.7 ล้านคน
“ไม่มีระดับ PM2.5 ที่ปลอดภัย เนื่องจาก PM2.5 มีขนาดเล็กมากซึ่งไหลเข้าสู่กระแสเลือดและทำลายอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย...อากาศที่สกปรกเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของการเสียชีวิต รองจากความดันโลหิตสูง” แพทย์ กล่าว
“มลภาวะทางอากาศไม่ได้ฆ่าเราทันที อาจต้องใช้เวลาถึง 2-3 ทศวรรษกว่าที่เราจะเห็นผลกระทบต่อสุขภาพ เว้นแต่จะรุนแรงมาก การหลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันที่ผู้คนมักไม่นึกถึงจนกว่าจะสายเกินแก้”
แฟรงค์ แฮมเมส ซีอีโอของ IQAir กล่าว

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ระดับมลพิษที่มีอนุภาคขนาดเล็กเกินกว่า 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือที่เรียกว่า PM2.5 ถือว่า ‘มีความเสี่ยงที่สำคัญต่อสุขภาพของประชาชน’ อากาศที่เป็นมลพิษ อาจทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ โรคอัลไซเมอร์ และโรคมะเร็ง โดยทาง WHO ประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิต 7 ล้านคนต่อปีจากการสัมผัสกับความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศที่เกินระดับปลอดภัย อีกทั้งก่อนหน้านี้ WHO ยังพบว่าประชากรโลก 99% อาศัยอยู่ในสถานที่ที่เกินระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศ
เมืองต่างๆ หลายแห่ง เช่น ปักกิ่ง โซล เกาหลีใต้ และริบนิกในโปแลนด์ ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงคุณภาพอากาศด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการจัดการมลพิษจากยานพาหนะ โรงไฟฟ้า และอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังส่งเสริมพลังงานที่สะอาดขึ้นและลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะอีกด้วย
มาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ข้อตกลงมลพิษหมอกควันข้ามพรมแดนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าจนถึงปัจจุบันจะประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อย แต่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค 10 ประเทศก็ให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อตรวจสอบและควบคุมมลพิษจากไฟป่าขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มักเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ในช่วงฤดูแล้ง
ชเวตา นารายัน หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ของ ‘Global Climate and Health Alliance’ กล่าวว่า “ภูมิภาคหลายแห่งที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุดยังเป็นสถานที่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้นอย่างมากผ่านการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ...การลดการปล่อยก๊าซก็สามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศได้เช่นกัน...”
จากรายงานระบุว่า ‘โอเชียเนีย’ เป็นภูมิภาคที่สะอาดที่สุดในโลก โดย 57% ของเมืองในภูมิภาคนี้เป็นไปตามแนวทางของ WHO นอกจากนี้ ภูมิภาคบางแห่งของโลกที่มีมลพิษมากที่สุดยังแสดงสัญญาณของการปรับปรุงสภาพอากาศที่ดีขึ้นเมื่อเทียบเป็นรายปี เมืองต่างๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีระดับมลพิษลดลงระหว่างปี 2023-2024
ถึงกระนั้น คนส่วนใหญ่ในโลกก็ยังคงต้องเผชิญกับอากาศที่สกปรก “รายงานคุณภาพอากาศโลก ซึ่งรวบรวมการวัดมลพิษทางอากาศจากทั่วโลก ควรกระตุ้นให้หลายภาคส่วน และนานาชาติเร่งจัดการกับการปล่อยมลพิษ” เอดาน ฟาร์โรว์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสด้านคุณภาพอากาศจากองค์การกรีนพีซสากล กล่าว