ยาน ‘InSight’ ของนาซ่าเผยความลึกลับอีกอย่างบน ‘ดาวอังคาร’!

15 สิงหาคม 2566 - 05:08

retired-lander-discovers-another-martian-mystery-SPACEBAR-Thumbnail
  • แม้ว่ายาน InSight จะไม่ได้ใช้งานอีกต่อไป แต่ข้อมูลที่ยานได้รวบรวมไว้ในช่วง 4 ปีบนพื้นผิวดาวอังคารได้เปลี่ยนวิธีที่นักวิทยาศาสตร์เคยเข้าใจดาวเคราะห์สีแดงมาก่อนหน้านี้ด้วย

  • ภารกิจนี้ยังเป็นภารกิจแรกที่เปิดเผยความลับบางอย่างเกี่ยวกับโครงสร้างภายในของดาวอังคาร และนักวิทยาศาสตร์จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลของมันต่อไปอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

ความลึกลับอีกอย่างของ ‘ดาวอังคาร’ 

หลังจากปลดระวางไปเมื่อปี 2022 สำหรับ ‘ยานอินไซต์’ (InSight) ที่สำรวจดาวอังคารตั้งแต่ปี 2018 โดยในระหว่างภารกิจได้มีการติดตั้งชุดเครื่องมือต่างๆ รวมถึงเสาอากาศและช่องส่งสัญญาณวิทยุที่เรียกว่า ‘RISE’ ซึ่งถูกใช้เพื่อติดตามการหมุนรอบตัวเองของดาวอังคารในช่วง 900 วันแรกที่ภารกิจโคจรรอบดาวเคราะห์ 
 
ตามข้อมูลของยาน InSight ระบุว่า ‘ดาวอังคารกำลังหมุนรอบตัวเองเร็วกว่าที่เคยเป็น’ ซึ่งการศึกษาดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการวิทยาศาสตร์เนเจอร์ (Nature) 
 
ขณะที่นักดาราศาสตร์กล่าวว่า “การหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์เพิ่มขึ้นประมาณ 4 มิลลิอาร์ควินาทีต่อปี² หรือทำให้ความยาวของวันบนดาวอังคารสั้นลงเพียงเสี้ยวมิลลิวินาทีต่อปี…1 วันบนดาวอังคารยาวนานกว่า 1 วันบนโลกประมาณ 40 นาที” 
 
ความเร็วที่เพิ่มขึ้นแม้ดูเหมือนจะเล็กน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ แต่นักวิจัยก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ทั้งนี้ พวกเขากล่าวว่าอาจเกิดจากการสะสมตัวของน้ำแข็งที่ขั้วดาวอังคาร หรือการเพิ่มขึ้นของผืนดินหลังจากถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง เมื่อมวลของดาวเคราะห์เปลี่ยนไปในลักษณะนี้ก็อาจทำให้การหมุนของดาวเคราะห์เร็วขึ้นได้ 
 
ในระหว่างภารกิจ ยาน InSight ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับดาวอังคารที่บันทึกไว้และส่งกลับมายังโลก นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังใช้เครือข่ายอวกาศห้วงลึก (Deep Space Network) เพื่อส่งสัญญาณไปยัง RISE บนยาน InSight ซึ่งจะสะท้อนสัญญาณกลับมายังโลก 
 
สัญญาณที่ถ่ายทอดเหล่านี้นี่เองที่ช่วยให้นักวิจัยติดตามการเปลี่ยนแปลงความถี่เล็กน้อยที่เกิดจาก ‘ปรากฏการณ์ด็อพเพลอร์ หรือการเลื่อนด็อพเพลอร์’(Doppler shift) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ไซเรนเปลี่ยนระดับเสียงตามระยะทาง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงความถี่นั้นก็มีความสัมพันธ์กับการหมุนของดาวเคราะห์ด้วย 
 
“สิ่งที่เรากำลังมองหาคือความแปรผันที่มีเพียงไม่กี่สิบเซนติเมตรในช่วง 1 ปีของดาวอังคาร…ต้องใช้เวลานานมากและข้อมูลจำนวนมากในการสะสมก่อนที่เราจะสามารถเห็นรูปแบบเหล่านี้ได้” เซบาสเตียน เลอ แมสทร์ นักวิจัยหลักของ RISE จากสถาบันวิจัยเบลเยี่ยม (Royal Observatory of Belgium) กล่าว 
 
อย่างไรก็ดี แม้ว่ายาน InSight จะไม่ได้ใช้งานอีกต่อไป แต่ข้อมูลที่ยานได้รวบรวมไว้ในช่วง 4 ปีบนพื้นผิวดาวอังคารได้เปลี่ยนวิธีที่นักวิทยาศาสตร์เคยเข้าใจดาวเคราะห์สีแดงมาก่อนหน้านี้ด้วย ประกอบกับภารกิจนี้ยังเป็นภารกิจแรกที่เปิดเผยความลับบางอย่างเกี่ยวกับโครงสร้างภายในของดาวอังคาร และนักวิทยาศาสตร์จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลของมันต่อไปอีกหลายทศวรรษข้างหน้า 
 
“ผมมีส่วนร่วมในความพยายามที่จะส่งการสำรวจธรณีฟิสิกส์อย่างยาน InSight ไปยังดาวอังคารมาเป็นเวลานาน และผลลัพธ์เช่นนี้ทำให้การทำงานตลอดหลายทศวรรษนั้นคุ้มค่า” บรูซ แบนเนิร์ด อดีตผู้ตรวจสอบหลักของยาน InSight และทำงานประจำห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (Jet Propulsion Laboratory / JPL) ของ NASA เป็นเวลานานถึง 46 ปีกล่าว 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์