‘รยูกัน’ เมืองในเงามืดของนอร์เวย์ที่ต้องติดกระจกสะท้อนแสงแดดในฤดูหนาว

2 ก.พ. 2568 - 00:00

  • ยินดีต้อนรับสู่ ‘รยูกัน’ เมืองทางใต้ของนอร์เวย์ที่จมอยู่ในเงามืดช่วงฤดูหนาวมานานกว่า 1 ศตวรรษ

  • เมืองแห่งนี้เคยถูกปกคลุมด้วยเงามืดเป็นประจำทุกปีทุกๆ 6 เดือนตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงมีนาคม เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ไม่เคยขึ้นสูงมากพอที่ชาวเมืองจะเห็น หรือได้สัมผัสกับแสงอาทิตย์เลย

  • เวลาผ่านไปเป็นร้อยปี ในท้ายที่สุดเมืองก็ติดตั้งกระจกสะท้อนแสงแดดเพื่อให้ชาวเมืองได้สัมผัสกับแสงอาทิตย์

rjukan-the-dark-town-that-built-giant-mirror-to-deflect-the-sun-SPACEBAR-Hero.jpg

เมื่อนานมาแล้วเมืองแห่งหนึ่งซึ่งห่างออกไปอยู่ทางใต้ของนอร์เวย์เคยถูกปกคลุมด้วยเงามืดเป็นประจำทุกปีทุกๆ 6 เดือนตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงมีนาคม เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ไม่เคยขึ้นสูงมากพอที่ชาวเมืองจะเห็น หรือได้สัมผัสกับแสงอาทิตย์เลย และเป็นเช่นนี้มานานเกือบ 100 ปีตั้งแต่ช่วงก่อตั้งเมืองปี 1916 

ดินแดนแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า ‘รยูกัน’ (Rjukan) เมืองห่างไกลที่ตั้งอยู่ในรอยแยกระหว่างภูเขาสูงสองลูกทอดยาวจากตะวันออกไปตะวันตก ส่วนทางทิศใต้มียอดเขาสูง 1,800 เมตรที่รู้จักกันในชื่อ ‘กอสตาทอปเปน’ พอเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ดวงอาทิตย์จะขึ้นไม่พ้นภูเขาสูงทำให้เมืองนี้ตกอยู่ภายใต้ร่มเงาตลอดทั้งฤดูหนาว 

ยินดีต้อนรับสู่...เมืองอุตสาหกรรมในเงามืด

ในอดีตรยูกันเป็นเมืองอุตสาหกรรมโดยเฉพาะนวัตกรรมทางการเกษตร มีประชากรอาศัยอยู่ราว 3,500 คน (ปัจจุบันราว 3,000 คน) ในช่วงต้นปี 1900 ‘แซม เอเด’ นักธุรกิจได้เข้ามาสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเวมอร์คโดยอาศัยพลังงานน้ำจากน้ำตกรยูกัน ซึ่งช่วยกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมในพื้นที่  

เวลานั้นเอเดเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นการผลิตดินประสิวด้วยการออกซิไดซ์ไนโตรเจนจากอากาศ และผลิตไฮโดรเจนในปริมาณมากด้วยวิธีอิเล็กโทรไลซิสของน้ำ ทว่ามีสิ่งหนึ่งที่เอเดนั้นทำไม่ได้ นั่นก็คือ ‘การเปลี่ยนระดับของดวงอาทิตย์’ ในหุบเขาตะวันออก-ตะวันตกที่รายล้อมไปด้วยภูเขาสูงทำให้ชาวเมืองต้องอยู่ภายใต้เงามืดเป็นเวลาครึ่งปี 

ปี 1913 เอเดกังวลว่าพนักงานของเขาจะได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ จึงพิจารณาข้อเสนอแนะของคนงานในโรงงานคนหนึ่งเกี่ยวกับ ‘ระบบกระจกบนยอดเขา’ เพื่อเปลี่ยนทิศทางแสงแดดไปยังหุบเขาเบื้องล่าง แต่สุดท้ายเขาก็ล้มเลิกแผนดังกล่าวเนื่องจากขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสม และสร้างกระเช้าไฟฟ้าความสูงเกือบ 500 เมตรขึ้นมาเป็นของขวัญให้พนักงานและชาวเมืองในปี 1928 เพื่อขึ้นไปรับแสงแดดในฤดูหนาวแทนที่จะนำแสงแดดมาให้พวกเขา 

ทว่า ‘ความมืดมน’ กลับกระตุ้นให้คนจำนวนมากรู้สึกเหนื่อยล้าและหดหู่...

rjukan-the-dark-town-that-built-giant-mirror-to-deflect-the-sun-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Shutterstock / Wirestock Creators

ฤดูหนาวถือเป็นช่วงเวลาที่น่าหดหู่ใจสำหรับชาวเมืองรยูกันอย่างแท้จริง ผู้คนส่วนใหญ่มักมีอาการไม่สบายเล็กๆ น้อยๆ รู้สึกเหนื่อยล้า และอารมณ์เสียง่าย ซึ่งอาการเหล่านี้ได้รับการอธิบายครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1980 โดยเป็นลักษณะอาการซึมเศร้าซ้ำๆ ที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันทุกปี 

แม้แต่คนที่มีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีปัญหาสุขภาพตามฤดูกาลก็ดูเหมือนว่าจะประสบกับอาการเหล่านี้ตลอดทั้งปี ซึ่งพวกเขามักจะอารมณ์เสียง่าย ตลอดจนได้รับพลังงานที่แย่ลงในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว แต่จะดีขึ้นในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน 

แล้วเหตุใดเดือนที่มืดมิดจึงกระตุ้นให้คนจำนวนมากรู้สึกเหนื่อยล้าและอารมณ์ไม่ดีล่ะ? มีทฤษฎีอยู่หลายทฤษฎี แต่ไม่มีทฤษฎีใดที่ยืนยันได้ชัดเจน แต่ส่วนใหญ่อธิบายว่าเกี่ยวข้องกับ ‘นาฬิกาชีวภาพ’ (circadian clock) โดยทฤษฎีหนึ่งอธิบายว่า ดวงตาของบางคนไวต่อแสงน้อยกว่า ดังนั้นเมื่อระดับแสงลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้พวกเขาไม่สามารถปรับนาฬิกาชีวภาพให้สอดคล้องกับโลกภายนอกได้ ขณะที่อีกทฤษฎีหนึ่งบอกว่า บางคนผลิตฮอร์โมนที่เรียกว่า ‘เมลาโทนิน’ ในฤดูหนาวมากกว่าในฤดูร้อน 

แนวคิดที่ว่าวันสั้นลงทำให้จังหวะการทำงานของร่างกายไม่ตรงกับเวลาจริงของวัน เนื่องจากมีการหลั่งเมลาโทนินล่าช้า ระดับของฮอร์โมนนี้มักจะเพิ่มขึ้นในเวลากลางคืนเพื่อตอบสนองต่อความมืด ทำให้ผู้คนรู้สึกง่วงนอน และจะถูกกดลงด้วยแสงสว่างในตอนเช้า 

“หากนาฬิกาชีวภาพของใครบางคนเดินช้า และจังหวะการทำงานของเมลาโทนินยังไม่ลดลง แสดงว่านาฬิกากำลังบอกให้พวกเขานอนต่อแม้ว่านาฬิกาปลุกจะดังก็ตาม...” เคลลี โรฮัน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเวอร์มอนต์ กล่าว 

ส่วนสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกซึมเศร้ายังคงไม่ชัดเจน แต่ทฤษฏีหนึ่งบอกว่า ‘ความเหนื่อยล้า’ อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อสุขภาพ หากผู้คนมีความคิดเชิงลบอันมาจากความเหนื่อยล้า ปัจจัยนี้อาจกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เศร้า เบื่ออาหาร และอาการอื่นๆ ที่อาจตามมาอีกด้วย 

ผ่านไปราว 1 ศตวรรษ...ชาวเมืองได้สัมผัสแสงแดดในฤดูหนาวสักที

rjukan-the-dark-town-that-built-giant-mirror-to-deflect-the-sun-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Shutterstock / Sergey Kamshylin

หลังจากชาวเมืองต้องอยู่ในเงามืดในช่วงฤดูหนาวมาเป็นเวลานานเป็นร้อยปี ท้ายที่สุดในปี 2013 เมืองแห่งนี้ก็ตัดสินใจติดตั้งกระจกเงาบานใหญ่ 3 บานขนาด 17 ตารางเมตร พร้อมแผงโซลาร์เซลล์ และเซ็นเซอร์ที่เรียกว่า ‘เฮลิโอสแตต’ บนไหล่เขาเหนือเมือง มีค่าใช้จ่ายในการสร้างราว 825,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 27 ล้านบาท) 

กระจกดังกล่าวถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สะท้อนแสงแดดส่องสว่างไปยังจตุรัสใจกลางเมืองได้ราว 80-100% นอกจากนี้ กระจกยังปรับตามการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์และเปลี่ยนตำแหน่งทุกๆ 10 วินาทีเพื่อให้แสงสะท้อนไปยังเมืองได้คงที่ ช่วยให้ชาวเมืองได้เพลิดเพลินกับแสงแดดในช่วงเดือนที่มืดที่สุดได้  

**แต่ก็ใช่ว่าชาวเมืองจะชอบกันทุกคน...**ชาวเมืองจำนวนหนึ่งคิดว่าไม่จำเป็นต้องสร้างกระจกเหล่านี้ก็ได้ พวกเขามองว่ามันเป็นเพียงกลอุบายการท่องเที่ยว แม้ว่าพวกเขาจะยอมรับว่ากระจกเงาเหล่านี้มีประโยชน์ต่อธุรกิจท่องเที่ยวก็ตาม 

เมื่อเวลาผ่านไป ชาวเมืองบางคนยอมรับว่าเคยชินกับการ ‘ขาดแสงแดด’ “ผมไม่คิดว่ามันจะแย่อีกต่อไปแล้ว”  มาร์ติน แอนเดอร์สัน ชาวเมืองบอก 

บางคนบอกว่าโปรเจกต์นี้ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ “ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” นิลส์ เอ็กเกอรุด อดีตพนักงานบริษัท Norsk Hydro บอก เช่นเดียวกับคนอื่นๆ อีกหลายคน เอ็กเกอรุดเผยว่า “ทำไมถึงไม่นำเงินไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่านี้ เช่น จ้างคนดูแลคนชราในเมืองเพิ่มอีก 2-3 คน หรือปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงเรียน เส้นทางจักรยาน และปูผิวถนนในชนบทใหม่”

“ผมยังคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับต้นทุนการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง ใครจะเป็นคนจ่าย แต่ก็ยอมรับว่า...การได้ยืนอยู่ตรงนี้ก็รู้สึกดี...” เอ็กเกอรุด บอก 

อย่างไรก็ดี แม้วิธีนี้จะไม่ใช้การแก้ปัญหาที่สมบูรณ์ เนื่องจากกระจกจะสะท้อนแสงไปแค่บริเวณจตุรัสกลางเมืองเท่านั้น และชาวเมืองเองก็ไม่ได้รู้สึกถึงการสัมผัสแสงแดดบนใบหน้าตลอดเวลา แต่พวกเขาก็ยังเพลิดเพลินกับกิจกรรมต่างๆ มากมายทั้งเป็นสนามเล่นวอลเลย์บอล เป็นสถานที่พักผ่อน และนั่งเก้าอี้อาบแดดได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์