หรือการเลือกตั้งรัสเซียครั้งนี้จะปูทาง ‘ปูติน’ ครองอำนาจตลอดกาล

15 มี.ค. 2567 - 09:31

  • วันที่ 15-17 มีนาคมนี้รัสเซียจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เลือกกันยาวนานถึง 3 วัน

  • สิ่งที่ทั่วโลกจับตาไม่ใช่ผลการเลือกตั้ง เพราะเดาได้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่เป็นผลที่จะตามมาหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งดูเหมือนว่าปูตินจะลอยลำนั่งเก้าอี้ไปอีกอย่างน้อยถึงปี 2030 หรือย่างมากถึงปี 2036

russia-election-putin-president-for-life-SPACEBAR-Hero.jpg

วันที่ 15-17 มีนาคมนี้รัสเซียจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ทั่วโลกกำลังจับตามองเป็นพิเศษ สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่ผลการเลือกตั้ง แต่เป็นผลที่จะตามมาหลังการเลือกตั้ง เพราะดูเหมือนว่าประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน จะลอยลำครองเก้าอี้ผู้นำรัสเซียสมัยที่ 5 ได้แบบสบายๆ ไร้คู่แข่ง เพราะฝ่ายตรงข้ามหากไม่เสียชีวิตก็ถูกจำคุก ลี้ภัย หรือถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครเลือกตั้งไปแล้ว 

รัสเซียเลือกตั้งอย่างไร 

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่การเลือกตั้งจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน และยังเป็นครั้งแรกที่มีการลงคะแนนแบบออนไลน์ ซึ่งเมื่อปี 2021 ฝ่ายค้านระบุว่าการเลือกสมาชิกสภาด้วยระบบออนไลน์แสดงให้เห็นถึงสัญญาณว่ามีการตุกติก นอกจากพื้นที่อันกว้างใหญ่ของรัสเซียที่มีเขตเวลาต่างกันถึง 11 เขตและแคว้นไครเมียแล้ว การเลือกตั้งยังจัดขึ้นใน 4 ภูมิภาคของยูเครนอย่าง โดเนตสก์ ลูฮันสก์ ซาปอริซเซีย และเคอร์ซอน ที่รัสเซียเพิ่งยึดมาหลังบุกยูเครนเมื่อปี 2022 

รัสเซียใช้ระบบป็อปปูลาร์โหวต หากไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเกิน 50% จะมีการเลือกตั้งรอบสองระหว่างผู้สมัคร 2 คนที่ได้คะแนนมากที่สุดในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา แต่หากดูจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ การเลือกตั้งครั้งที่ 2 ไม่น่าจะเกิดขึ้นอย่างเมื่อปี 2018 ปูตินได้คะแนน 76.7% ปี 2012 ได้ 64.35% ปี 2004 ได้ 71.91% และปี 2000 ได้ 53.44% 

ใครลงแข่งบ้าง 

นอกจากปูตินแล้วยังมีผู้สมัครคนอื่นๆ อีก ได้แก่ นิโคไล คาริโตนอฟ จากพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งไม่เคยได้คะแนนเสียงถึง 1 ใน 5 นับัต้งแต่ปูตินลงสมัครรับเลือกตั้ง เลโอนิด สลัตสกี และวลาดิสลาฟ ดาวานคอฟ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาดูมาหรือสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซียทั้งคู่ โดยผู้สมัครทั้งสามคนนี้ล้วนอยู่ฝั่งเดียวกับปูติน  

ส่วนผู้สมัครจากฝ่ายตรงข้าม เมื่อ อเล็กซี นาวาลนี เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำในเรือนจำเมื่อเดือนก่อน ก็เหลือเพียง บอริส นาเดซดิน และยคาทารินา ดอนต์โซวา แต่ก็มีเหตุให้ทั้งคู่ถูกตัดสิทธิ์ เมื่อเดือนธันวาคมดอนต์โซวาซึ่งเป็นผู้สมัครอิสระที่กล้าส่งเสียงคัดค้านการทำสงครามกับยูเครนถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิเสธการลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยอ้างว่าเอกสารที่ใช้ในการลงทะเบียนรับเลือกตั้งมีข้อผิดพลาด ส่วนนาเดซดินถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสิทธิ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยอ้างว่าลายชื่อ 100,000 รายชื่อที่ประชาชนร่วมลงนามรับรองให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้งบางรายชื่อไม่ถูกต้อง รายชื่อจึงไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด

russia-election-putin-president-for-life-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Alexander NEMENOV / AFP

ปูตินอยู่ในอำนาจมากี่ปีแล้ว 

หลังจากทำงานเป็นสายลับเคจีบีในมืองเดรสเดินของยอรมนีตะวันออกระหว่างปี 1985-1990 ปูตินก็เดินทางกลับรัสเซียแล้วเปลี่ยนอาชีพมานั่งทำงานบริหารในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและในมอสโก เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของในสมัยประธานาธิบดี บอริส เยลต์ซิน ในปี 1999 และเมื่อเยลต์ซินลาออกกะทันหัน ปูตินก็ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในวันสิ้นปีของปี 1999 และตั้งแต่นั้นก็อยู่ในตำแหน่งผู้นำของรัสเซียเรื่อยมาจนเป็นผู้นำรัสเซียที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่สมัยของ โจเซฟ สตาลิน โดยปูตินชนะการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2000, 2004, 2012 และ 2018 

รัฐธรรมนูญเดิมปี 1993 กำหนดให้ประธานาธิบดีอยู่ในวาระ 4 ปี และอยู่ในวาระได้ 2 สมัย แต่ปี 2008 ดมิทรี เมดเวเดฟ ซึ่งขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีเพื่อให้ปูตินเว้นวรรคจากการเป็นประธานาธิบดี 2 สมัยติดกัน แก้กฎหมายขยายวาระการดำรงตำแหน่งออกไปเป็น 6 ปี 

และยังมีการแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้งในปี 2020 เพื่อปิดทางให้ปูตินนั่งก้าอี้ประธานาธิบดีต่อไปได้อีก 2 สมัยหลังปี 2024 ด้วยการตัดคำว่า “ติดต่อกัน” ออกจากมาตราที่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ซึ่งเปิดทางให้ปูตินเป็นประธานาธิบดีรัสเซียไปอีกอย่างน้อยถึงปี 2030 หรือย่างมากถึงปี 2036 แทนที่จะลงจากตำแหน่งในปีนี้ ซึ่งเมื่อครบวาระที่ 2 ของการต่ออายุเขาจะอายุ 84 ปี  

หากรวมเวลาทั้งหมด รวมทั้ง 4 ปีที่ปูตินเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยของเมดเวเดฟด้วย เขาจะโลดแล่นอยู่ในเส้นทางการเมืองรัสเซียเกือบ 37 ปีเลยทีเดียว

russia-election-putin-president-for-life-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Photo by ANDREW CABALLERO-REYNOLDS / AFP

นาวาลนีเอฟเฟกต์  

การเสียชีวิตของนาวาลนีซึ่งถูกสั่งจำคุกกว่า 30 ปียังคงปกคลุมการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่นานก่อนเสียชีวิตนาวาลนีเรียกร้องให้ชาวรัสเซียออกไปรวมตัวกันที่คูหาลือกตั้งในตอนเที่ยงของวันเลือกตั้งวันสุดท้ายแล้วตั้งแถวยาวๆ เพื่อประท้วง ทางการรัสเซียตอบโต้ด้วยการขู่ว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับคนที่ออกมาประท้วง หลังนาวาลนีเสียชีวิต ยูเลีย นาวาลนายา ภรรยาของนาวาลนี ก็ขอให้ชาวรัสเซียทำแบบเดียวกับที่นาวาลนีเคยประกาศไว้ 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะสามารถคาดเดาผลการเลือกตั้งได้อยู่แล้ว แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ก็ป็นเครื่องมือสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงความชอบธรรมของปูตินในหมู่ชาวรัสเซีย ว่าแรงหนุนของชาวรัสเซียต่อปูตินยังเข้มข้นเหมือนเดิมหรือไม่หลังปูตินพารัสเซียเข้าสู่สงครามกับยูเครนเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน

Photo by STRINGER / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์