ยังไม่ใกล้สันติภาพ...สงครามรัสเซีย-ยูเครน (อาจ) ยังไม่จบลงง่ายๆ

25 พ.ค. 2568 - 00:00

  • สงครามรัสเซีย-ยูเครน (อาจ) ยังไม่จบลงง่ายๆ...แม้การสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างทรัมป์และปูตินจะไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่าสงครามจะจบลงอย่างไร

  • แต่ความสัมพันธ์อันยาวนานของผู้นำทั้งสองได้สร้างความกังวลอย่างมากต่อฝั่งตะวันตก

  • อดีตรองประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐฯ เผยว่า “สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังไม่ใกล้จะสิ้นสุด และปูตินยังไม่มีความต้องการที่จะให้สงครามจบลงจนกว่าเขาจะทำลายยูเครนได้อย่างแท้จริง”

ดูเหมือนว่าข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังคงไม่ได้ข้อสรุปอีกตามเคย แม้เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะต่อสายตรงถึงประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ตามด้วยประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ของรัสเซียซึ่งคุยกันนานกว่า 2 ชั่วโมงที่สุดท้ายแล้วก็จบลงด้วยการที่ทรัมป์ออกมาบอกว่า “ทั้งสองประเทศจะเจรจาหยุดยิง” แต่ไม่ชัดเจนว่าการเจรจาดังกล่าวจะมีรูปแบบอย่างไร และมีแนวโน้มว่าวาติกันจะเสนอเป็นเจ้าภาพในการเจรจาด้วย 

 

เซเลนสกีถึงกับออกมาต่อว่าว่า รัสเซียไม่ได้มีท่าทีจริงจังในการเจรจาสันติภาพ และต้องการที่จะทำสงครามต่อไป แม้ว่าสหรัฐฯ จะผลักดันให้มีการหยุดยิงก็ตาม “เห็นได้ชัดว่ารัสเซียกำลังพยายามซื้อเวลาเพื่อทำสงครามและยึดครองต่อไป” เซเลนสกี โพสต์บนโซเชียลมีเดีย 

 

แผนของรัสเซีย = กระบวนการสันติภาพที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ (?) 

russia-ukraine-war-not-near-end-SPACEBAR-Photo01.jpg
(Photo by Manan VATSYAYANA / POOL / AFP)


ดูท่าการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะเป็นไปตามแผนของรัสเซียที่ต้องการให้กระบวนการสันติภาพเป็นไปอย่างช้าๆ และอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ปูตินไม่เดินทางมาเจอเซเลนสกีที่ตุรกีเพื่อเจรจาสันติภาพ ทั้งๆ ที่ปูตินเป็นฝ่ายท้าทายให้มาเจอตัวต่อตัวตั้งแต่แรก 

 

มีความเป็นไปได้ที่การประชุมทวิภาคีระหว่างรัสเซียและยูเครนอาจเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ แต่ปูตินดูเหมือนจะพอใจกับกระบวนการสันติภาพที่ก้าวไปอย่างช้าๆ และดูเหมือนว่าเขาจะพร้อมรับมือกับ ‘มาตรการคว่ำบาตรครั้งใหญ่’ และแรงกดดันทางการเมืองด้วย 

 

ทว่าการสนทนาทางโทรศัพท์นาน 2 ชั่วโมงระหว่างทรัมป์และปูตินเมื่อวันจันทร์ (19 พ.ค.) ก็ไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ หรือผลักดันให้เกิดความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพแต่อย่างใด  

 

ขณะนี้ เซเลนสกีต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ลำบากใจ เพราะเขาต้องติดตามความเคลื่อนไหวของการเจรจาสันติภาพอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือหากสถานการณ์บานปลายขึ้นอย่างรวดเร็ว 

 

ความหวังที่จะเห็นปูตินยุติสงครามในเร็ววันนี้กลับยากขึ้นเรื่อยๆ แม้ก่อนหน้านี้ทรัมป์จะเคยบอกว่า “ผมเชื่อว่าปูตินต้องการให้เรื่องนี้จบลง…ถ้าผมคิดว่าประธานาธิบดีปูตินไม่ต้องการให้มันจบ ผมคงไม่พูดถึงเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ” แต่หลังจากคุยโทรศัพท์กับปูตินได้ไม่กี่วัน ทรัมป์กลับบอกว่า “ปูตินยังไม่พร้อมที่จะยุติสงครามกับยูเครน เพราะเชื่อว่าตัวเองจะชนะสงครามนี้”  

 

แม้ว่าสงครามจะสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเศรษฐกิจรัสเซียและคร่าชีวิตเยาวชนหนุ่มสาวชาวรัสเซียไปหลายหมื่นคน แต่รัสเซียกลับยืนยันว่าปูตินเน้นย้ำว่าหากต้องการยุติสงคราม จะต้องแก้ไขที่ ‘สาเหตุหลัก’ ของสงคราม ซึ่งรวมถึงข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีมูลว่า “ยูเครนต้องกำจัดนาซี” กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ‘การโค่นล้มเซเลนสกีและระบอบประชาธิปไตย’ รวมถึงการกำหนดข้อจำกัดที่เข้มงวดต่ออำนาจอธิปไตย ระบบการเมือง และสิทธิ์ในการกำหนดอนาคตของยูเครน  

 

แน่นอนว่าปูตินต้องการสันติภาพ แต่เป็นสันติภาพในเงื่อนไขที่ยูเครนไม่สามารถยอมรับได้หากยังคงเป็นชาติที่มีเอกราช 

 

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ทรัมป์เรียกร้องให้รัสเซียหยุดโจมตีพลเรือน และตั้งคำถามว่า ปูตินอาจกำลัง ‘ชักใยเขาอยู่หรือไม่’ การที่ทรัมป์ยอมรับในสิ่งที่รัสเซียต้องการเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา จึงทำให้เกิดคำถามว่า “จริงๆ แล้วทรัมป์เป็นฝ่ายถูกชักใยมากกว่าที่จะเป็นผู้ชักใย” 


ยูเครนกำลังหวั่นใจในมิตรภาพของทรัมป์-ปูติน 


ยูริ อุชาคอฟ ผู้ช่วยปูตินได้ให้คำใบ้ที่น่าสนใจบางอย่างเกี่ยวกับบรรยากาศการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างทรัมป์และปูตินครั้งนี้ว่า “ผมบอกคุณได้เลยว่าการสนทนาที่ยาวนานเช่นนี้เกิดขึ้นได้ยาก ประธานาธิบดีทั้งสอง...ต่างไม่ต้องการจบการสนทนาและวางสาย” ซึ่งสร้างความกังวลในกลุ่มผู้วิจารณ์ทรัมป์ว่าเขาอาจเป็นฝ่ายที่ถูกปูตินโน้มน้าวได้ง่าย 

 

แม้การสนทนาทางโทรศัพท์เมื่อวันจันทร์ (19 พ.ค.) จะยังไม่มีความคืบหน้าในการยุติสงครามแต่ก็ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าความสัมพันธ์แบบมิตรภาพใกล้ชิดระหว่างผู้นำทั้งสองยังคงมีอยู่ โดยทรัมป์กล่าวถึงปูตินหลังการสนทนาที่ยาวนานถึงสองชั่วโมงว่า “โทนเสียงของปูตินและบรรยากาศการสนทนาเป็นไปอย่างยอดเยี่ยม”  

“ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างปูตินกับทรัมป์ช่วยให้ปูตินซื้อเวลาได้มากขึ้น เนื่องจากปูตินแสดงท่าที ‘ไม่ต้องการหยุดยิง’ หากว่าไม่รรลุเป้าหมายสูงสุดของตัวเอง ขณะที่กองกำลังรัสเซียยังคงรุกคืบอย่างช้าๆ ในแนวรบภาคตะวันออกของยูเครน...ดังนั้น เมื่อการเจรจาถึงทางตัน ปูตินก็ยินดีที่จะชะลอการตัดสินใจทั้งในเรื่องการสนับสนุนยูเครนของสหรัฐฯ และมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย”

มาร์ก กาเลออตติ ผู้อำนวยการบริษัทวิจัยมุ่งเน้นศึกษารัสเซีย ‘Mayak Intelligence’ ของอังกฤษ เผย 


การสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างทรัมป์และปูตินไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่าสงครามจะจบลงอย่างไร หรือว่าทั้งสองจะพบกันเป็นการส่วนตัวหรือไม่ ซึ่งทั้งคู่เคยแสดงความตั้งใจว่าจะมีการพบปะกันแบบตัวต่อตัวในอนาคต 

 

“หากการพบกันจริงเกิดขึ้น จะเป็นเรื่องยากสำหรับปูตินที่จะปฏิเสธไม่ให้สิ่งตอบแทนบางอย่างแก่ทรัมป์ เพราะรัสเซียเป็นนักเจรจาที่หัวแข็งมากและพยายามหลีกเลี่ยงการให้ข้อเสนอใดๆ แต่การพบกันแบบตัวต่อตัวจะทำให้ทรัมป์ได้รับบางสิ่งบางอย่างกลับไป” กาเลออตติ กล่าว 

 

แม้ว่าจะยังไม่มีการกำหนดวันนัดหมายของผู้นำทั้งสอง แต่ความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างทรัมป์กับปูตินได้สร้างความกังวลอย่างกว้างขวางต่อฝั่งตะวันตก หน่วยข่าวกรองมองว่าปูตินเป็นศัตรูที่ท้าทายบรรทัดฐานระหว่างประเทศด้วยวิธีการทำสงครามแบบผสมผสาน เช่น การโจมตีทางไซเบอร์และการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนต่อสถาบันประชาธิปไตย 

 

ทรัมป์กล่าวถึงโอกาสในการพบกับปูตินตัวต่อตัวในอนาคตว่า “เราต้องพบกัน เขาและผมจะพบกัน ผมคิดว่าเราจะหาทางแก้ไขได้ หรือบางทีก็อาจจะไม่ได้” คำตอบนี้สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของกระบวนการเจรจาและความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทั้งสอง แม้ทรัมป์จะยืนยันถึงความตั้งใจที่จะพบปูตินและแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่ได้ให้ความแน่นอนว่าทุกอย่างจะจบลง เพราะการเจรจาอาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ 

 

สถานการณ์กำลังเปลี่ยนไปหรือเปล่า...(?) 

russia-ukraine-war-not-near-end-SPACEBAR-Photo02.jpg
(Photo by Brendan Smialowski / AFP / ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย (ขวา) และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ (ซ้าย) จับมือกันก่อนการประชุมที่เฮลซิงกิเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2018)

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามทรัมป์หลังการสนทนาทางโทรศัพท์กับปูตินว่า ‘ทำไมถึงไม่กำหนดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่?’ ทรัมป์ก็ตอบว่า “เพราะผมคิดว่ายังมีโอกาสที่จะทำให้บางอย่างสำเร็จได้ และถ้าคุณทำเช่นนั้น (คว่ำบาตรรัสเซีย) อาจทำให้สถานการณ์แย่ลงมากกว่าเดิม...แต่สิ่งนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นได้” 

 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าคำพูดของทรัมป์จะไม่ค่อยมีความชัดเจนสำหรับกำหนดเส้นตาย หรือรายละเอียดที่แน่ชัดกว่านี้ มันจึงดูเหมือนว่าเขาพูดออกมาเพื่อบรรเทาความกดดันต่อตัวเขามากกว่าที่จะเป็นการส่งสัญญาณอย่างจริงจังไปยังปูติน 

“สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังไม่ใกล้จะสิ้นสุด และปูตินยังไม่มีความต้องการที่จะให้สงครามจบลงจนกว่าเขาจะทำลายยูเครนได้อย่างแท้จริง”

เจมส์ เควล อดีตรองประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐฯ กล่าว


แม้ว่าเควลจะมองความคิดของปูตินออก แต่กลยุทธ์ของทรัมป์ต่างหากที่ทำให้เขาสับสน “ผมไม่เข้าใจว่าทำไมทรัมป์ถึงไม่เรียกร้องอะไรจากปูตินเลย สิ่งเดียวที่เขาต้องการทำในฐานะประธานาธิบดีก็คือ ‘การทำข้อตกลง’...ดังนั้น หากคุณเป็นคนทำข้อตกลง คุณต้องการอะไร? อำนาจต่อรอง เขาพยายามใช้อำนาจต่อรองอะไรกับปูติน? มันเป็นศูนย์ เสียเปล่าเลยล่ะ”  

 

เควลกล่าวว่า แม้ว่าทรัมป์จะชอบพูดว่านี่คือ ‘สงครามของไบเดน’ แต่เขาเชื่อว่าหากทรัมป์ปล่อยให้ยูเครนล่มสลาย ความนิยมของประธานาธิบดีที่ลดลงอยู่แล้วจะได้รับผลกระทบทางการเมือง “คุณรับช่วงสงครามนี้มา แต่มันเกิดขึ้นในช่วงที่คุณเป็นผู้นำ และหากเขาถอนตัวจากยูเครน (ซึ่งผมไม่คิดว่าเขาจะทำ) แต่ก็เป็นไปได้ มันก็จะต้องแลกด้วยราคาทางการเมืองที่สูงมาก” 

 

“คนอเมริกันไม่ชอบสงคราม แต่พวกเขาก็ไม่ชอบการแพ้สงคราม และหากเขาถูกมองว่าเป็นฝ่ายแพ้ในประเด็นนี้ ก็จะต้องแลกมาด้วยราคาที่ต้องจ่าย ดังนั้นทรัมป์จำเป็นต้องหาทางออกให้ได้ เขาต้องการสันติภาพ เขาไม่ชอบสงคราม แต่เขามีอคติ (เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป) และนั่นแหละปัญหา เควล กล่าว 

 

จากนี้ไปรัสเซีย-ยูเครนจะเป็นไงต่อ... 

russia-ukraine-war-not-near-end-SPACEBAR-Photo03.jpg
(Photo by Handout / 24th Mechanized Brigade of Ukrainian Armed Forces / AFP)

 

หลังจากนี้ รัสเซียและยูเครนจะเจรจากันอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าวาติกันจะเป็นเป็นเจ้าภาพจัดเจรจารอบต่อไปในช่วงกลางเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ก็ยังมีตุรกีและสวิตเซอร์แลนด์ที่หลายฝ่ายกำลังพิจารณาให้เป็นสถานที่สำหรับการจัดเจรจาสันติภาพด้วยเช่นกัน 

 

ทรัมป์กล่าวหลังคุยโทรศัพท์กับปูตินเสร็จว่า เขาคาดหวังว่าการเจรจาจะมีความคืบหน้า แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น เขาก็พร้อมที่จะ ‘ถอนตัว’ จากการเจรจา ขณะเดียวกัน แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว ก็เผยว่า “ทรัมป์รู้สึกเบื่อหน่ายและหงุดหงิดกับความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย” แต่ลีวิตต์ไม่ได้ระบุว่าทรัมป์ขีดเส้นตายให้รัสเซียและยูเครนสำหรับขั้นตอนต่อไปหรือไม่ 

 

ด้านเซเลนสกีเรียกร้องให้สหรัฐฯ มีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย พร้อมเน้นย้ำว่า “สหรัฐฯ ไม่ควรถอนตัวจากการเจรจา” แต่ ดร.มาริน่า มิรอน นักวิจัยจากภาควิชาการศึกษาด้านการป้องกันประเทศ มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอนมองว่า “ฝ่ายสหรัฐฯ อาจจะมีท่าทีที่ผ่อนคลายและเป็นกลางมากขึ้นต่อสงครามยูเครน-รัสเซีย เนื่องจากยุโรปพยายามเข้ามามีบทบาทและสนับสนุนยูเครนมากขึ้น” 

 

เว้นแต่ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ จะตกอยู่ในความเสี่ยง ฉันไม่คิดว่าเขา (ทรัมป์) จะกลับเข้ามาแทรกแซง เขาหรือฝ่ายบริหารของเขาจะเข้ามาแทรกแซงก็ต่อเมื่อเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ต่อชาวอเมริกันเท่านั้น …เพราะพวกเขายังมีเรื่องอื่นที่ต้องจัดการ” ดร.มิรอน กล่าว 

 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์