ซาอุฯ-อิหร่านคืนดีกันอาจสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งภูมิภาค

14 มีนาคม 2566 - 09:52

_saudi-iran-reconciliation-regional-impact -SPACEBAR-Hero
  • ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านที่โกรธเคืองกันมาเกือบ 7 ปีเซอร์ไพรส์ชาวโลกด้วยการหันมาจับมือปรองดองกัน โดยมีจีนป็นกาวใจ

การเซอร์ไพรส์ชาวโลกด้วยการหันมาจับมือปรองดองกันของคู่ขัดแย้งอย่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่านที่โกรธเคืองกันมาเกือบ 7 ปีโดยมีจีนเป็นกาวใจ สะท้อนความเป็นจริงในเอเชียตะวันตกที่คู่ปรับเก่ากลับมาคืนดีกัน และจีนก็ยินดีย่างยิ่งที่จะก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในช่วงวลาที่สหรัฐฯ มหาอำนาจดั้งเดิมในภูมิภาคนี้ กำลังวุ่นวายอยู่กับการรับมือความท้าทายในภูมิภาคอื่น 

ความเป็นปรปักษ์ระหว่างอิหร่าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมชีอะห์ และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมซุนนีที่ปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญของความขัดแย้งในภูมิภาค  

ทั้งซาอุฯ และอิหร่านต่างให้เวลากันและกัน 2 เดือนในการพิสูจน์ว่าต่างฝ่ายต่างจริงจังกับข้อตกลงเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์  

การปรองดองกันนี้เกิดขึ้นขณะที่อิหร่านพบว่าตัวเองกำลังโดดเดี่ยวมากขึ้นในเวทีโลก ส่วนซาอุฯ ก็กำลังเดินหน้าเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศมาเป็นทางใช้การทูตแทนการเผชิญหน้า โดยเมื่อไม่กี่ปีก่อนซาอุฯ และเพื่อนบ้านอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต่างก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมุ่งที่จะกลับมาคืนดีกับคู้แค้นส่วนใหญ่ในภูมิภาค 

ซาอุฯ หันหลังให้กับนโยบายต่างประเทศสายเหยี่ยวที่ใช้ในสมัยที่มกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญหลังจากกษัตริย์ซัลมานผู้เป็นพ่อครองบัลลังก์เมื่อปี 2015 โดยที่ผ่านมาซาอุฯ ปรองดองกับตุรกี กลับไปติดต่อกับซีเรีย และสนับสนุนการหยุดยิงในเยเมน 

หากข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้น จะเกิดผลกระทบอย่างกว้างไกลต่อภูมิรัฐศาสตร์ระดับภูมิภาค ตั้งแต่สันติภาพในเยเมนไปจนถึงเสถียรภาพในเลบานอน 

เยเมน 

เยเมนเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างซาอุฯ และอิหร่าน ทั้งสงประเทศสนับสนุนกลุ่มฝ่ายตรงข้ามในสงครามกลางเมืองของเยเมนในปี 2014 ต่อมาในปี 2015 กลุ่มพันธมิตรที่นำโดยซาอุฯ เข้ามาแทรกแซงเพื่อต่อสู้กับกลุ่มกบฏฮูษีที่อิหร่านหนุนหลัง 

ฟิรัส มัคซัด นักวิจัยระดับอาวุโสของสถาบันตะวันออกกลางในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และศาสตราจารย์วุฒิคุณของมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันเผยว่า สงครามเยเมนมีความสำคัญในวาระของทั้งสองประเทศ 

เยเมนเพิ่งได้พบเจอกับความสงบบ้างหลังจากมีการเจรจาหยุดยิงเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วโดยมีองค์การสหประชาชาติเป็นคนกลาง โดยการพักรบชั่วคราวสิ้นสุดลงเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าหลังจากนั้นก็ยังพักรบกันต่อ และซาอุฯ ก็เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงในการเจรจากับกลุ่มกบฏฮูษี 

สำนักข่าว IRNA ของอิหร่านรายงานว่า ในแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผู้แทนอิหร่านประจำสหประชาชาติระบุว่า การปรองดองนี้ “จะเร่งการพักรบ ช่วยเริ่มการเจรจาระดับชาติ และจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่รวมความหลากหลายไว้ด้วยกันในเยเมน” 

ฮุสเซน ไอบิช นักวิชาการของสถาบันประเทศอ่าวอาหรับในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.เผยกับสำนักข่าว CNN ว่า อิหร่านอาจใช้อิทธิพลกับกลุ่มกบฏฮูษีเพื่อผลักดันให้สงครามยุติ “มีความเป็นไปได้มากที่เตหะรานจะต้องกดดันพันธมิตรของตัวเองในเยเมนให้เตรียมพร้อมมากขึ้นเพื่อยุติความขัดแย้งในประเทศนั้น แต่เรายังไม่ทราบว่าเบื้องหลังมีการบรรลุข้อตกลงอะไรไปแล้วบ้าง” 

อับดุลวาฮับ อัล-มาห์บาชี สมาชิกฝ่ายการเมืองของฮูษีเผยกับ al-Mayadeen TV ของลบานอนว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งในเยเมนต้องทำผ่านการเจรจาโดยตรงกับซาอุฯ เพราะฮูษีไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชาของอิหร่าน 

เลบานอน 

เลบานอนประสบปัญหาวิกฤตการเงินอย่างหนัก พันธมิตรที่เคยสนิทที่สุดและผู้สนับสนุนทางการเงินของเลบานอนอย่างซาอุฯ เลิกคุยกับเลบานอนหลังจากกองกำลังติดอาวุธฮิซบุลเลาะห์ที่อิหร่านสนับสนุนเข้ามาป่วนในเลบานอน 

ความสัมพันธ์ของเลบานอนและซาอุฯ ตกต่ำถึงขีดสุดในปี 2021 เมื่อซาอุฯ และพันธมิตรในอ่าวอาหรับบางประเทศพากันถอนทูตออกจากกรุงเบรุตหลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงข้อมูลของเลบานอนในขณะนั้นวิพากษ์วิจารณ์สงครามของกลุ่มพันธมิตรของซาอุฯ ในเยเมน แม้ว่าในภายหลังซาอุฯ จะส่งทูตกลับไปประจำที่ลบานอน แต่ทั้งสองประเทศก็ยังเย็นชาต่อกันอยู่ 

ทั้งฮิซบุลเลาะห์และนายกรัฐมนตรี นาจิบ มิตากิ ของเลบานอนต่างก็ชื่นชมข้อตกลงระหว่างซาอุฯ กับอิหร่าน โดยมิตากิบอกว่าข้อตกลงนี้เป็น “โอกาสให้ภูมิภาคได้หายใจหายคอ แล้วมองไปในอนาคต” ทว่านักวิเคาะห์หลายคนมองว่า นั่นไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์ของเลบานอนกับซาอุฯ จะดีขึ้นโดยอัตโนมัติ 

ขณะที่ Al Arabiya รายงานว่า เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาร์ฮาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของซาอุฯ เผยว่า เลบานอนจำเป็นต้อง “สร้างสายสัมพันธ์เลบานอน” เพื่อให้สถานการณ์ในเลบานอนดีขึ้น ไม่ใช่ “สายสัมพันธ์ซาอุฯ-อิหร่าน” 

คำตอบที่บ่ายเบี่ยงนี้บ่งชี้ว่า ซาอุฯ อาจจะแยกความไม่พอใจต่อเลบานอนออกจากความขัดแย้งกับอิหร่าน 

“ผู้กำหนดนโยบายในริยาดไม่ได้ให้ความสำคัญกับเลบานอนมากนัก” ฟิราส มัคซัด เผยกับ CNN “มีผลที่จะตามมาหลายอย่างให้ริยาดต้องกังวลก่อนที่จะแก้ปัญหาความท้าทายในเลบานอน” และกล่าวต่อว่า ขณะนี้เลบานอนสำคัญกับอิหร่านมากกว่าจะสำคัญกับซาอุฯ และเว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลง ฮิซบุลเลาะห์ ในสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนี้” ดูเหมือนจะเป็น “ผู้เล่นหลักในเลบานอน” 

อิสราเอล 

การปรองดองของซาอุฯ กับอิหร่านทำให้เกิดการถกเถียงกันในการเมืองภายในประเทศของอิสราเอล ไม่กี่ชั่วโมงก่อนการประกาศข้อตกลงดังกล่าว นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ซึ่งยังอยู่ในอิตาลี ได้พูดถึงหนึ่งในเป้าหมายของตัวเอง นั่นคือการปรับความสัมพันธ์กับซาอุฯ ให้เป็นปกติ  

สำหรับอิสราเอล การสงบศึกกับซาอุฯ ถูกมองว่าเป็นจุดสูงสุดของข้อตกลงปรับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติ แม้ว่าเบื้องหลังนั้นความสัมพันธ์ได้ดำเนินมาหลายปี แต่การสงบศึกแบบเต็มที่จะเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ และเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรในภูมิภาคเพื่อตอบโต้อิหร่าน 

แล้วความจริงก็เผยออกมาเมื่อวันศุกร์ (10 มี.ค.) ว่า ศัตรูหมายเลขหนึ่งของอิสราเอลและว่าที่เพื่อนสนิทคนต่อไปของเนทันยาฮูกำลังจับมือปรองดองกัน หลังจากนั้นก็เกิดการกล่าวโทษกันในกลุ่มการเมืองอิสราเอล 

หนังสือพิมพ์ Haaretz ของอิสราเอลอ้างแหล่งข่าวที่เป็นนักการเมืองระดับสูงในกรุงโรมโดยไม่ระบุชื่อเพื่อกล่าวโทษรัฐบาลชุดก่อนซึ่งนำโดยอดีตนายกรัฐมนตรี นาฟตาลี เบนเนตต์ และยาอีร์ ลาปิด สำหรับการปรองดอง 

กลับกัน อดีตนายกรัฐมนตรีลาปิดและเบนเนตต์เผยว่า ที่ผ่านมาเนทันยาฮูไม่สนใจสถานการณ์ในตะวันออกกลางในภาพกว้าง แต่กลับไปให้ความสำคัญกับความพยายามของรัฐบาลในการปฏิรูประบบยุติธรรม 

ลาปิดทวีตว่า การกล่าวโทษว่าตัวเขาทำให้ความสัมพันธ์กับซาอุฯ เสื่อมถอยเป็นเรื่อง “โกหกหลอกลวง” และว่า ระหว่างที่เขากับเบนเนตต์อยู่ในตำแหน่ง ซาอุฯ ลงนามข้อตกลงด้านการบินกับอิสราเอล ทั้งยังมีการจัดเที่ยวบินตรงสำหรับประกอบพิธีฮัจญ์ และมีการลงนามในข้อตกลงด้านความมั่นคงเกี่ยวกับเกาะต่างๆ ทะเลแดงระหว่างอียิปต์และซาอุฯ  

“ทั้งหมดนี้ถูกเบรกดังเอี๊ยดหลังรัฐบาลที่สุดโต่งที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศถูกตั้งขึ้นที่นี่ และเป็นที่ประจักษ์แก่ซาอุฯ ว่าเนทันยาฮูอ่อนแอ และคนอเมริกันหยุดฟังคำพูดเขาแล้ว” ลาปิดทวีต 

ส่วนเบนเนตต์ทวีตว่า “นานาประเทศและทั้งภูมิภาคกำลังเฝ้ามองอิสราเอลขัดแย้งกับรัฐบาลที่ล้มเหลวซึ่งมีส่วนร่วมในการทำลายตนเองอย่างเป็นระบบ” 

อิรัก 

อิรักซึ่งเป็นเจ้าภาพการเจรจาหลายรอบระหว่างซาอุฯ และอิหร่านแสดงความยินดีกับการปรองดองนี้เช่นกัน โดยนักวิเคราะห์มองว่า อิรักต้องการให้การคืนดีกันของทั้งสองประเทศลุล่วง เนื่องจากอิรักกลายเป็นสังเวียนความขัดแย้งของซาอุฯ กับอิหร่านนับตั้งแต่การสิ้นสุดการครองอำนาจของรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน เมื่อปี 2003  

ไอห์ซาน อัล-ชัมมารี ศาสตรจารย์ด้านการเมืองของมหาวิทยาลับแบกแดดเผยว่า “อิหร่านใช้อิรักเพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อซาอุฯ ในทุกๆ ด้าน รวมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความมั่นคง” และว่า อิรักต้องพลาดการปรับความสัมพันธ์กับซาอุฯ และการลงทุนครั้งใหญ่ในประเทศก็เพราะอิหร่านมีอิทธิพลอย่างมากในอิรัก 

พรรคการเมืองที่ฝักใฝ่อิหร่านมีอำนาจเหนือการเมืองในอิรักมายาวนานและหลายๆ ครั้งยังก่อให้เกิดทางตันทางการเมืองจนส่งผลให้เกิดความรุนแรง 

อัล-ชัมมารีเผยต่อว่า ซาอุฯ ต้องการให้อิหร่านเข้าไปควบคุมพันธมิตรของอิหร่านในอิรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองกำลังกึ่งทหารที่ซาอุฯ มองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง และว่านั่นอาจเป็นเพียงการวาดวิมานในอากาศ เนื่องจากอิหร่านมองว่าอิรักเป็นรัฐบริวารและมองว่าพันธมิตรของอิหร่านในสภายังต้องการรักษาผลประโยชน์ที่จะช่วยสนับสนุนอิหร่าน 

สงครามข่าว 

ซาอุฯ และอิหร่านทำสงครามข่าวสารกันมานานหลายปี โดยสำนักข่าวที่สนับสนุนโดยรัฐบาลของแต่ละประเทศต่างก็ถูกฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่าโจมตีอีกฝ่าย 

สถานีข่าวภาษาอาหรับอย่าง Al Alam ที่รัฐบาลอิหร่านหนุนหลัง และ Press TV ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษมักจะทำรายการที่มีเนื้อหาวิจารณ์ซาอุฯ และถูกบล็อกในหลายประเทศในอาหรับ ขณะที่ซาอุฯ ก็ถูกอิหร่านกล่าวหาว่า ให้เงินสนับสนุน Iran International ซึ่งเป็นช่องข่าวภาษาฟอร์ซีที่มักจะสัมภาษณ์ปรปักษ์ของอิหร่านและรายงานการประท้วงรัฐบาลอิหร่าน โดยอิหร่านกล่าวหาว่าช่อง Iran International เป็น “องค์กรก่อการร้าย”  ส่วน Iran International ปฏิเสธความเกี่ยวโยงกับรัฐบาลซาอุฯ  

สงครามสื่อที่จะออกมาหลังจากนี้จะเป็นตัวชี้วัดความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของข้อตกลงปรับความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯ กับอิหร่าน โดยนักวิเคราะห์มองว่า ซาอุฯ ลงทุนในสำนักข่าวภาษาเปอร์เซียเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับอิหร่านในการเจรจากัน หลังจากสื่ออิหร่านโจมตีซาอุฯ มาหลายสิบปี 

Wall Street Journal รายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่ที่ไม่เปิดเผยชื่อของทั้งสองฝ่ายว่า ซาอุฯ ตกลง ลดการวิจารณ์อิหร่านผ่าน Iran International ขณะที่เมื่อเดือนที่แล้ว Iran International ระบุว่า กำลังย้ายที่ปฏิบัติการจากกรุงลอนดอนไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เนื่องจากถูกอิหร่านขู่ 

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าทั้งสองประเทศจะสงบศึกกันได้จริงหรือไม่ เนื่องจากความเป็นปฏิปักษต่อกันของทั้งสองประเทศซับซ้อนหลายชั้น 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์