เปิดหน้านายพัน 'ซอ ชิต ตู' ตัวละครสำคัญที่จะชี้ชะตาพื้นที่ยุทธศาสตร์ 'เมียวดี'

27 เมษายน 2567 - 02:00

saw-chit-thu-myanmar-warlord-centre-battle-key-border-town-myawaddy.psd-SPACEBAR-Hero.jpg
  • กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) เผยว่า กองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) หักหลังปล่อยให้กองทัพของรัฐบาลกลับเข้ายึดเมืองเมียวดีคืน

  • KNA เคยเป็นพันธมิตรกับกองทัพเมียนมามาก่อน แต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็ประกาศว่าจะไม่ฟังคำสั่งของกองทัพรัฐบาลทหารอีกแต่ไป แต่ผู้นำระดับสูงของพวกเขายังมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลทหาร

  • ซอ ชิต ตู ไม่ได้สวามิภัดิ์แบบเต็มตัวต่อรัฐบาลมิน อ่อง หล่าย แต่ก็ไม่ได้ประกาศเป็นแนวร่วมกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอื่นๆ

หลังจากเพลี่ยงพล้ำให้กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) จนต้องทิ้งฐานบัญชาการที่เมืองเมียวดีเมื่อวันที่ 11 เมษายน เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมากองทัพเมียนมาก็ยึดฐานทัพกลับคืนมาได้ โดยฝั่ง KNLA บอกว่ากองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA)  หักหลังปล่อยให้กองทัพของรัฐบาลกลับเข้าเมืองเมียวดี 

เหตุการณ์นี้ทำให้ชื่อของพันเอก ซอ ชิต ตู (Saw Chit Thu) ผู้นำกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA)  ถูกพูดถึงและจับตามองในฐานะคนที่มีอิทธิพลต่อสถานการณ์การสู้รบในเมืองเมียวดีซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ติดชายแดนไทย ทั้งยังเป็นจุดค้าขายหลักชายแดนไทย-เมียนมาที่มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี 

กองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่เมียวดีชายแดนไทย-เมียนมามานานแล้ว ซึ่งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาพื้นที่เมืองเมียวดีกลายเป็นสมรภูมิสำคัญในช่วงที่กลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมายึดเมืองต่างๆ จากกองทัพไว้ได้หลายเมือง 

ความสัมพันธ์ของซอว์ ชิต ตู กับคนใหญ่คนโตในกองทัพ ซึ่งเห็นได้จากการที่มิน อ่อง หล่าย มอบตำแหน่งพิเศษในฐานะ “ผู้มีผลงานโดดเด่น” ให้นายพันรายนี้เมื่อปลายปี 2022 ช่วยให้เขาเพาะสร้างอิทธิพลในเมืองเมียวดีได้อย่างดี 

เมื่อต้นเดือนเมษายน เมืองเมียวดีกลายเป็นสมรภูมิด่านหน้า หลังกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มกองทัพชาติพันธุ์ที่เก่าแก่กลุ่มหนึ่งของเมียนมา รุกคืบเข้ามาในเมืองเมียวดีและขับไล่กองทัพรัฐบาลออกจากฐานทัพได้หลายฐาน 

กองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) เคยเป็นพันธมิตรกับกองทัพเมียนมามาก่อน จนกระทั่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พวกเขาประกาศว่าจะไม่ฟังคำสั่งของกองทัพรัฐบาลทหาร รวมทั้งไม่รับเงินเดือน และการปันส่วนจากกองทัพอีกต่อไป และเปลี่ยนชื่อจากกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) เป็นกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) 

ตอนที่กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) บุกเมียวดี กองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) ก็ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือ เพราะซอ ชิต ตูเคยพูดไว้เมื่อเดือนมกราคมว่า “เราไม่ต้องการต่อสู้กับคนกะเหรี่ยงด้วยกัน”

เมื่อไม่มีทั้งกองหนุนด้านลอจิสติกส์และแท็กติกจากกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) ของซอ ชิต ตู ซึ่งมีทหารราว 8,000 นาย กองทัพเมียนมาจึงไม่มีกำลังสู้กลับในเมืองเมียวดี 

ในเวลานั้น การสูญเสียเมืองเมียวดีถือเป็นความพ่ายแพ้ในสนามรบอีกครั้งหนึ่งสำหรับรัฐบาลทหาร ที่ติดพันอยู่กับการทำสงครามกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยและกลุ่มประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านการทำรัฐประหารเมื่อปี 2021

saw-chit-thu-myanmar-warlord-centre-battle-key-border-town-myawaddy.psd-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: นักรบฝึกหัดเข้าร่วมการฝึกซ้อมกับกองพลที่ 6 ของกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ในรัฐกะเหรี่ยง Photo by AFP

แต่สถานะกำกึ่งของกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) ที่ไม่จงรักภักดีต่อรัฐบาลเผด็จการทหารโดยสิ้นเชิง แต่ก็ไม่ได้ให้คำมั่นว่าจะเป็นพันธมิตรกับกลุ่มกบฏ ทำให้กองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) ถูกจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกองทัพเมียนมาที่ยังรักษาอาวุธยุทโธปกรณ์สำคัญไว้ได้ บุกยึดเมืองเมียวดีกลับคืนจนกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ต้องถอนทัพจากเมียวดีชั่วคราว บางส่วนถอยร่นไปไกลถึง 12 กิโลเมตรเพื่อควบคุมเส้นทางสำคัญ  

ซอ ตอ นี โฆษกกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเผยกับสำนักข่าว Reuters ว่า การสนับสนุนจากกลุ่มกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยงของซอ ชิต ตู ช่วยให้กองทัพเมียนมากลับเข้าเมืองเมียวดีได้สำเร็จ 

กลุ่มกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยงของซอ ชิต ตู แยกตัวออกมาจากกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เมื่อปี 2010 และเข้าร่วมกับกองทัพเมียนมาสู้รบกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารในพื้นที่ที่ราบสูงตอนใต้ซึ่งป็นที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยง 

นักวิเคราะห์ระบุว่า ปี 2017 ซอ ชิต ตู มีส่วนร่วมในการก่อสร้างชเวก๊กโก ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา โครงการนี้กลายเป็นศูนย์กลางของอาชญากรรมข้ามชาติและการพนันที่มีแก๊งคนจีนหนุนหลัง สร้างรายได้ให้กองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยงปีละราว 190 ล้านเหรียญสหรัฐ  

ชเวก๊กโกขยายตัวอย่างรวดเร็ว ภาพถ่ายทางดาวเทียมเผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ภายในเวลาหลายสิบปีจากผืนดินริมแม่น้ำที่แห้งแล้งเป็นแหล่งรวมของของอาคารทั้งที่ไม่สูงมากและอาคารสูงหลายชั้น 

ปีที่แล้วทางการอังกฤษคว่ำบาตรซอ ชิต ตู ในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง เช่น การค้ามนุษย์ และนักวิเคราะห์ยังชี้ว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับแก๊งสแกมเมอร์ที่อยู่ตามชายแดนที่ดำเนินการโดยครือข่ายอาชญากรจีน 

รายงานของทางการอังกฤษระบุว่า คนที่ถูกหลอกมาที่ชเวก๊กโกจะถูกบังคับให้ทำงานกับแก๊งสแกมเมอร์ ได้รับการปฏิบัติหรือการลงโทษอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี 

สถาบันแห่งสันติภาพสหรัฐ (USIP) ระบุว่า ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทางการจีนปราบปรามแก๊งสแกมเมอร์ตามแนวชายแดนจีน-เมียนมาอย่างหนัก จนบางแก๊งต้องหนี้ไปอยู่ตาแนวชายแดนไทย-เมียนมา รวมทั้งพื้นที่ที่ซอ ชิต ตู ควบคุมอยู่ 

รายงานของ USIP ระบุอีกว่า “ที่ตั้งของแก๊งสแกมเมอร์ในรัฐกะเหรี่ยงที่ดำเนินการโดยเครือข่ายอาชญากรจีนเติบโตอย่างเห็นได้ชัดตามแนวชายแดนไทยนับตั้งแต่ที่ตั้งที่อยู่ตามชายแดนจีนถูกปิด...ชิต ตูยังคงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนอาณาจักรอาชญากรรมของเขา และยังพยายามให้ศูนย์สแกมเมอร์เหล่านี้เข้าถึงบริการสำคัญอย่างความปลอดภัย การเชื่อมต่อการสื่อสาร และไฟฟ้า”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์