‘เครื่องแบบนักเรียน’ จัดระเบียบ หรือ กรอบจำกัด?

16 มิ.ย. 2566 - 10:05

  • เปิดบทวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญว่า ‘ชุดนักเรียน’ ที่ใส่อยู่ทุกวันไม่ได้การันตีว่าเด็กจะเรียนดีขึ้น หรือช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวจากความแตกต่างเพราะใส่ ‘ไปรเวท’

school-uniform-could-help-studying-better-SPACEBAR-Thumbnail
กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์และข้อถกเถียงกันมาอย่างยาวนานว่าจริงๆ แล้ว ‘ชุดนักเรียน’ ที่เราใส่กันทุกวันนี้มีไว้เพื่ออะไร? มันเป็นกฎระเบียบเล็กๆ ที่เราควรจะปฏิบัติตาม? แล้วยูนิฟอร์มมันมีผลต่อการเรียนของเรามากน้อยเพียงใด? ช่วยให้เราเรียนดีขึ้นไหม? 

ที่ผ่านมานักเรียนต่างไทยตั้งคำถามมากมายและล่าสุดกับกรณี ‘หยก’ เยาวชนวัย 15 ปีก็มีประเด็นที่คล้ายกันว่า ‘ทำไมพวกเขาต้องใส่ชุดนักเรียนไปโรงเรียน?’ ในมุมผู้ใหญ่อาจมองว่ามันเป็นเรื่องของระเบียบวินัยและเป็นกฎเล็กๆ ที่เด็กควรเรียนรู้เพื่อการปรับตัวเมื่อต้องเติบโตไปอยู่ในองค์กรซึ่งก็มีกฎต้องปฏิบัติตามเหมือนกัน แต่ในมุมเด็กๆ พวกเขาอาจตั้งคำถามว่า ‘แล้วมันช่วยให้เราเรียนดีขึ้นหรอ?’ 

โรงเรียนบางแห่งก็รับข้อเรียกร้องของเด็กๆ ไปพิจารณาและทดลองให้พวกเขาได้ใส่ ‘ชุดไปรเวท’ มาเรียนได้ 

แล้วในมุมต่างประเทศล่ะ? พวกเขามีแนวคิดอย่างไรกับยูนิฟอร์มของโรงเรียน?

กฎ ‘เครื่องแบบนักเรียน’ ทั่วโลกเป็นอย่างไร?

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1MuYUwKqE0R43v9FsFNQNG/0bfdbc8eb4cc3436d006c32adcb221c1/school-uniform-could-help-studying-better-SPACEBAR-Photo01
หากกล่าวกันตามประวัติศาสตร์แล้ว เครื่องแบบนักเรียนถูกสวมใส่ครั้งแรกเมื่อศตวรรษที่ 16 ในประเทศอังกฤษและตั้งแต่นั้นมาเครื่องแบบดังกล่าวก็ถูกแพร่หลายไปทั่วโลก ซึ่งหลายประเทศต่างก็มีรูปแบบและกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันไป 

ทว่าเครื่องแบบนักเรียนในหลายๆ ประเทศยังกลายเป็นข้อบังคับซึ่งหมายความว่านักเรียนต้องสวมเครื่องแบบไปโรงเรียน เช่น อินเดีย กานา และอินโดนีเซีย ขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างอิตาลี บราซิล เยอรมนีและฝรั่งเศส นั้นไม่บังคับใช้กฎเครื่องแบบ แต่ขึ้นอยู่กับโรงเรียนเป็นผู้กำหนดเอง 

นอกจากนี้ โรงเรียนบางแห่งทั่วโลกยังมีกฎที่เข้มงวดเกี่ยวกับการไว้ทรงผมอีกด้วย เช่น ในมาเลเซียไม่อนุญาตให้เด็กผู้ชายไว้ผมยาว ส่วนการแต่งหน้าก็เป็นการฝ่าฝืนกฎเช่นกัน 

ส่วนในประเทศจีนนั้นนักเรียนจะมีเครื่องแบบอยู่ 2 ประเภท คือ เครื่องแบบทางการสำหรับสวมใส่ในวันจันทร์และโอกาสพิเศษ ขณะที่เครื่องแบบประจำวันจะสวมใส่ในวันอื่นๆ 

แต่ทว่าก็มีบางประเทศที่คลายกฎเหล่านี้ด้วยเหมือนกันทั้งระเบียบเครื่องแต่งกายและทรงผม เช่น โรงเรียนบางแห่งในญี่ปุ่นได้ยกเลิกกฎการไว้ผมสีดำ ต้องสวมชุดชั้นในสีเฉพาะ ห้ามทำผมทรงทูบล็อค นอกจากนี้โรงเรียนบางแห่งในไทยก็อนุญาตให้ใส่ชุดไปรเวทและไว้ผมยาวได้แล้ว 

ใส่ชุดนักเรียน = เรียนดีขึ้น?

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/qedaI4HDrSE2bsQEI8gPF/917edfe87ae098eec7b5af3717b787a8/school-uniform-could-help-studying-better-SPACEBAR-Photo02
หากจะหาคำตอบของคำถามดังกล่าวก็คงจะตอบได้ยากเหมือนกัน เพราะการที่เด็กจะเรียนดีขึ้น หรือตั้งใจเรียน แน่นอนว่าเสื้อผ้าที่พวกเขาสวมใส่ไปเรียนทุกวันอาจไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่น่าจะเป็นเพราะสิ่งเร้าและสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กเสียมากกว่า 

อีกมุมมองที่บอกว่า ‘เครื่องแบบ’ ก็มีข้อดี...

มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยว่าเครื่องแบบนักเรียนช่วยแก้ปัญหาพฤติกรรมหรือส่งเสริมผลการเรียน และแม้ว่านโยบายเรื่องเครื่องแบบอาจส่งผลดีเล็กน้อยต่อการเข้าเรียน แต่ก็มีการพิจารณาถึงข้อเสียสำหรับเด็กบางคนที่สวมเครื่องแบบซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาวะด้วยเหมือนกัน 

บางคนแย้งว่าเครื่องแบบนักเรียนเป็นสิ่งที่ดีสำหรับสร้างขวัญกำลังใจและจิตวิญญาณของชุมชน นโยบายเครื่องแบบทำให้การเข้าเรียนในโรงเรียนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น เพราะหากทุกคนสวมใส่สิ่งเดียวกัน อาจส่งเสริมความรู้สึกเป็นตัวตนของกลุ่ม และช่วยปกปิดความแตกต่างทางเศรษฐกิจและฐานะทางสังคมระหว่างบุคคลได้  

นอกจากนี้ เครื่องแบบยังช่วยขจัด ‘ภาวะการแต่งกายที่แข่งขันกัน’ และช่วยลดระดับความขัดแย้งความว้าวุ่นใจ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เด็กๆ มีแนวโน้มที่จะประพฤติตัวไม่เหมาะสมน้อยลง และมีแนวโน้มที่จะมีสมาธิกับการเรียนรู้มากขึ้นด้วย 

แต่ทว่าการอ้างความคิดเห็นเหล่านี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่น่าสนใจมารองรับว่าเครื่องแบบนักเรียนช่วยปรับปรุงบรรยากาศทางสังคมของโรงเรียนได้จริงหรือ? 

ย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 1990 ในโรงเรียน ‘Long Beach Unified School District’ รัฐแคลิฟอร์เนียรายงานว่าพฤติกรรมอาชญากรรมของนักเรียนลดลงอย่างมากหลังจากอนุญาตให้โรงเรียนในเครือใช้นโยบายเครื่องแบบ ในขณะที่บางคนเชื่อว่าเครื่องแบบเป็นสาเหตุของการปรับปรุงพฤติกรรมในโรงเรียน เมื่อนักวิจัยตรวจสอบข้อมูลอย่างถี่ถ้วนแล้ว พวกเขาก็พบว่ามีหลักฐานเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยที่แสดงว่าเครื่องแบบมีผลในเชิงบวกที่ยั่งยืนต่อนักเรียน 

ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า ‘เครื่องแบบ’ มีแนวโน้มไปในเชิงบวก

อย่างไรก็ดี การศึกษาในปี 2021 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ‘Early Childhood Research Quarterly’ พบว่า “การสวมเครื่องแบบในโรงเรียนประถมศึกษาไม่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมหรือการเข้าเรียนของเด็ก” 

อายาห์ อันซารี นักวิจัยและผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านมนุษยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตตกล่าวว่า “เราไม่เห็นความแตกต่างมากนักในมาตรวัดความประพฤติของเรา ไม่ว่าโรงเรียนจะมีนโยบายเครื่องแบบหรือไม่ก็ตาม” 

“ประเด็นนี้มีความสำคัญเนื่องจากเครื่องแบบนักเรียนกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนเอกชนเท่านั้น ประมาณ 20% ของโรงเรียนของรัฐกำหนดให้สวมเครื่องแบบในปี 2011-2012 เพิ่มขึ้นจากเพียง 3% ในปี 1995-1996…ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีการวิจัยเกี่ยวกับคุณค่าของเครื่องแบบนักเรียนมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้น” อันซารีกล่าวเสริม 

ทั้งนี้ นักวิจัยได้ติดตามกลุ่มตัวอย่างนักเรียน 6,320 คนจากทั่วประเทศตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยทุกปีการศึกษาครูจะประเมินนักเรียนแต่ละคนใน 3 มิติ ได้แก่ 
  • ปัญหาพฤติกรรมที่ฝังลึกอยู่ภายใน (เช่น ความวิตกกังวลและการปลีกตัวทางสังคม) 
  • ปัญหาพฤติกรรมภายนอก (เช่น ความก้าวร้าวหรือการทำลายทรัพย์สิน)  
  • ทักษะทางสังคม 
โดยรวมแล้วพบว่า เครื่องแบบนักเรียนไม่มีผลต่อพฤติกรรมทั้ง 3 มิติของระดับชั้นใดๆ แม้ว่าจะพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมของนักเรียนแล้วก็ตาม 

ขณะที่การศึกษาอื่นๆ เองก็ไม่สามารถยืนยันสมมติฐานที่ว่าเครื่องแบบช่วยลดปัญหาพฤติกรรมได้ และไม่พบหลักฐานที่น่าสนใจว่านโยบายแบบเดียวกันช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้จริง  

แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้การันตีว่า “เครื่องแบบนักเรียนอาจไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการปรับปรุงพฤติกรรมและการมีส่วนร่วมของนักเรียน” อันซารีกล่าวทิ้งท้าย 

แล้วคุณล่ะคิดอย่างไรกับ ‘เครื่องแบบนักเรียน’? คุณคิดว่ามันสร้างความแตกต่างให้กับการเรียนรู้ของคุณหรือไม่? ‘เสื้อผ้า’ กลายเป็นปัจจัยที่สร้างและทำลายสมาธิการเรียนไปแล้วหรอ? 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์