นักวิทย์อธิบายสาเหตุที่อาจเป็นคำตอบว่า ‘โลกจะถึงกาลอวสานได้อย่างไร?’

27 มกราคม 2567 - 23:00

scientist-explain-how-will-the-world-end-SPACEBAR-Hero.jpg
  • เปิดคำอธิบายนักวิทยาศาตร์ว่ามีสาเหตุใดบ้างที่เกิดขึ้นแล้วอาจทำให้โลกของเราเกิด ‘หายนะ’ ในอนาคต

  • มีทั้งภัยพิบัติบนโลกและนอกโลก รวมถึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามันมีส่วนที่ทำให้โลกเสี่ยงถึง ‘จุดจบ’ อีกครั้ง

หลายคนคงเคยได้ยินคำร่ำลือเรื่อง ‘วันสิ้นโลก’ กันมาบ้างแล้วที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นประเด็นให้ผู้คนร่วมถกเถียงกันว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? มันจะเกิดขึ้นจริงหรือ? แล้วถ้าเกิดขึ้นจริงๆ โลกเราจะเป็นอย่างไร? ย้อนกลับไปในวันที่ 21 เดือน 12 ปี 2012 ที่ผู้คนต่างเฝ้าดูและพูดถึงว่าโลกของเราจะแตกหรือถึงกาลอวสานจริงตามคำทำนายของชาวมายันโบราณหรือเปล่า? ช่วงเวลานั้นใครๆ ต่างก็พูดว่า “ถ้าวันนั้นโลกแตกจริงๆ เราอยากอยู่กับใคร และทำอะไรมากที่สุด”

แต่ทว่ามันไม่ได้เป็นดังคำทำนาย เพราะในความเป็นจริงแล้วโลกมีเวลาของมัน มันมีกระบวนการที่เกิดจากภัยธรรมชาติและมนุษย์ก่อขึ้น ขณะเดียวกันนาฬิกาวันสิ้นโลก (Doomsday Clock) ในปีนี้ก็ขยับเข้าใกล้เที่ยงคืนมากขึ้นทุกที (จุดหายนะของโลก) ซึ่งเหลืออีกเพียง 90 วินาทีเท่านั้น แม้นักวิทยาศาสตร์จะบอกว่า ‘โลกจะน่าอยู่ต่อไปได้อีกอย่างน้อย 200-300 ล้านปี’ แต่ก็เตือนว่า ‘มีหลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไป และการดำรงอยู่ต่อไปของมนุษยชาติจะมีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิม’  

และนี่คือ ‘ภัยคุกคาม’ ที่ (อาจ) เกิดขึ้นและทำลายล้างโลกของเราในอนาคต 

การพุ่งชนโลกของดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์

scientist-explain-how-will-the-world-end-SPACEBAR-Photo01.jpg

ความน่าจะเป็น : มีความเป็นไปได้มาก 

หากว่ากันตามเหตุผลและทฤษฎีที่เชื่อว่ายุคไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปก็เพราะอุกกาบาตชิกชูลุบ (Chicxulub) พุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อน จนเกิดมหาภัยพิบัติครั้งใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสึนามิ ภูเขาไฟระเบิด และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่คร่าชีวิตพืชและสัตว์โลกล้านปีในห้วงเวลานั้น ก็เป็นไปได้ว่ามันอาจจะเกิดขึ้นอีกก็ได้ 

นักดาราศาสตร์ประเมินว่าหนึ่งในดาวเคราะห์เหล่านี้น่าจะพุ่งชนโลกของเราทุกๆ 100 ล้านปีหรือประมาณนั้น นั่นหมายความว่า เราอาจจะเผชิญหน้ากับเหตุการณ์สูญพันธุ์อีกครั้งในอีกประมาณ 300 ล้านปี แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายเช่นเดียวกับที่ชิกชูลุบพุ่งชนโลกครั้งนั้น  

NASA เคยประกาศไว้เมื่อปี 2011 ว่าได้ทำแผนที่วัตถุมากกว่า 90% ในอวกาศซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1 กิโลเมตร และพบว่าไม่มีวัตถุใดที่น่าจะพุ่งชนโลก หรือหากเป็นวัตถุเล็กๆ ชนก็อาจไม่ก่อให้เกิดภัยพิบัติระดับโลก  

ปัญญาประดิษฐ์ ‘AI’ อาจครองโลก

scientist-explain-how-will-the-world-end-SPACEBAR-Photo02.jpg

ความน่าจะเป็น : มีความเป็นไปได้  

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าโดยเฉลี่ยแล้ว มีโอกาส 50% ที่ AI จะสามารถทำงานส่วนใหญ่ได้เท่ากับหรือดีกว่ามนุษย์ภายในปี 2050 และมีโอกาสอย่างน้อย 5% ที่จะเหนือกว่าสติปัญญาของมนุษย์ในอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น 

ในปี 2018 ศาสตราจารย์แม็กซ์ เท็กมาร์ค นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เตือนว่า “วันหนึ่งมนุษย์อาจตกเป็นทาสของเครื่องจักรอัจฉริยะที่พวกเขาสร้างขึ้น” ในขณะที่อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติได้เรียกร้องท่ามกลางความกลัวว่า “ในไม่ช้าความก้าวหน้าของ AI จะนำไปสู่การพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถเลือกและโจมตีเป้าหมายโดยไม่ต้องอาศัยข้อมูลจากมนุษย์” เมื่อเป็นเช่นนั้น ผลกระทบจะยิ่งน่ากลัวมากขึ้น หากมันถูกมาประยุกต์ใช้ในการแข่งขันทางอาวุธที่นำไปสู่สงคราม AI 

การปะทุของภูเขาไฟขนาดใหญ่

scientist-explain-how-will-the-world-end-SPACEBAR-Photo03.jpg

ความน่าจะเป็น : อาจจะเกิดขึ้น แต่บางทีอาจมีเทคโนโลยีแจ้งเตือนที่ทันสมัยและลดความเสียหายได้ 

การปะทุของภูเขาไฟขนาดใหญ่ (Supervolcanic eruption) เป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามทางธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ ซึ่งมีศักยภาพที่จะทำลายล้างเผ่าพันธุ์ของเราได้ แต่ถ้ามองในแง่ดีก็คือ ‘การปะทุของภูเขาไฟขนาดใหญ่ 20 ลูกบนโลกเกิดขึ้นน้อยมาก โดยเฉลี่ยประมาณหนึ่งครั้งทุกๆ 100,000 ปี’ หากมีการปะทุขึ้นอีกครั้ง มันจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสภาพอากาศและระบบนิเวศของโลกซึ่งอาจนำไปสู่จุดจบของโลก 

ภูเขาไฟเยลโลว์สโตน (Yellowstone Caldera) ในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนของรัฐไวโอมิงที่ใครๆ ก็ไม่อยากให้ปะทุ เพราะได้ชื่อว่าเป็นภูเขาไฟที่จะสร้างมหันตภัยให้โลกมากที่สุด อีกทั้งยังทรงพลังมากจนพ่นเถ้าถ่านและลาวาออกมามากกว่า 1,000 ลูกบาศก์กิโลเมตรในการปะทุครั้งเดียวเมื่อ 640,000 ปีก่อน แต่หากวันนี้มันปะทุขึ้นก็อาจสร้างความหายนะให้กับมนุษยชาติได้เลยล่ะ 

ถึงกระนั้นเราก็ยังไม่มีวิธีคาดการณ์การปะทุล่วงหน้ามากกว่า 2-3 สัปดาห์หรือหลายเดือน และเราไม่มีวิธีใดที่จะลดโอกาสที่จะเกิดการปะทุได้จริงๆ ในขณะนี้ ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ก็กำลังติดตามความเสี่ยงหลายประการ แต่ก็บอกด้วยว่า ‘สิ่งนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้มากนัก’  

หายนะจาก ‘สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง’ และ ‘ภาวะโลกร้อน’

scientist-explain-how-will-the-world-end-SPACEBAR-Photo04.jpg

ความน่าจะเป็น : มีความเป็นไปได้สูง เพราะสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลง และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 

‘ภาวะโลกร้อน’ มหันตภัยร้ายที่คนส่วนใหญ่มองข้ามเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่เปล่าเลยในตอนนี้เรากำลังเผชิญหน้ากับผลกระทบของมันอยู่เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและรวนขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะปรากฏการณ์คลื่นความร้อนและไฟป่าในยุโรป น้ำท่วมหนักในเอเชียบางประเทศ น้ำแข็งละลายบริเวณขั้วโลก อากาศหนาวสุดขั้วที่สหรัฐฯ และแคนาดาเจออยู่ขณะนี้ และร้อนจัด เป็นต้น 

นักวิจัยบางคนบอกว่า “เรากำลังอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ระดับโลก ซึ่งเทียบได้กับการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์…หากไม่มีเรา โลกจะสามารถเข้าถึงจุดสมดุลได้อีกครั้ง และอาจถึงขั้นสร้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ใหม่ที่ฉลาดกว่าด้วยซ้ำ”

ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์อาจทำให้อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4 องศาฯ” แม้ว่าคำเตือนดังกล่าวจะดูน่ากลัว แต่ก็มีความเสี่ยงที่ภาวะโลกร้อนจะรุนแรงยิ่งขึ้น และอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยอาจสูงถึง 6 องศาฯ 

ในแง่ของการทำลายล้างทั้งหมด หากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจนำไปสู่ภาวะเรือนกระจกที่ไม่อาจควบคุมได้ ซึ่งหากถึงระดับสูงสุดของโลก โลกจะมีลักษณะคล้ายดาวศุกร์มากขึ้น โดยที่อุณหภูมิสูงสุดในวันปกติคือ 482 องศาฯ 

หากสภาพอากาศยังควบคุมไม่ได้ อุณหภูมิของโลกก็อาจจะสูงเหมือนดาวศุกร์ขึ้นมาจริงๆ ซึ่งอาจทำให้เราไม่สามารถอยู่อาศัยบนโลกได้อีกต่อไป 

การระบาดใหญ่ไปทั่วโลก

scientist-explain-how-will-the-world-end-SPACEBAR-Photo05.jpg

ความน่าจะเป็น : มีความเป็นไปได้สูง 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรคระบาดเป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามร้ายแรงที่อันตรายต่อโลกมากทีเดียว และเราได้เห็นถึงความร้ายกาจของมันแล้วอย่าง ‘โรคโควิด-19’ ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 7 ล้านคน หลายประเทศต้องล็อคดาวน์ปิดเมืองไปหลายเดือน หลายธุรกิจปิดตัวลงเพราะไปต่อไม่ได้ จนเศรษฐกิจโลกซบเซาไปเกือบ 3 ปี 

นอกจากนี้ยังมีไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ โรคซาร์ส อีโบลา หรือแม้แต่กาฬโรค (black death) ที่ได้ชื่อว่าเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ซึ่งโรคเหล่านี้คร่าชีวิตผู้คนไปนับไม่ถ้วนและระบาดติดกันได้ง่ายด้วย เมื่อมันเกิดขึ้นกะทันหัน หลายประเทศที่ไม่ได้เตรียมตั้งรับจึงรับมือไม่ทัน 

และล่าสุดกับคำเตือนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าในอนาคตอันใกล้อาจมีโรคอุบัติใหม่ที่เรียกว่า ‘โรค X’ ระบาดไปทั่วโลกอีก แต่โลกจะตั้งรับได้ เพราะมีบทเรียนจากโควิด-19 มาแล้ว 

พลังทำลายล้างจาก ‘สงครามนิวเคลียร์’

scientist-explain-how-will-the-world-end-SPACEBAR-Photo06.jpg

ความน่าจะเป็น : มีความเป็นไปได้ อาจเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ศตวรรษข้างหน้า 

เป็นที่พูดถึงกันมานานถึงสงครามนิวเคลียร์ว่ามันอาจจะเกิดขึ้น ในอดีตมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และรัสเซียต่างก็ขู่กันไปมาว่าตัวเองมีอาวุธนิวเคลียร์ที่รุนแรงที่สุด แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีประเทศไหนทิ้งระเบิดนิวเคลียร์นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯ ทิ้งในฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้รัสเซียขู่ว่าจะใช้ในสงครามยูเครนหลายครั้งแล้วก็ตาม  

ระเบิดนิวเคลียร์ขึ้นชื่อในเรื่องพลังการทำลายล้างสูงมาก มันทรงพลัง เพราะหลังจากที่มันระเบิดจะเกิดเมฆฝุ่นและควันปกคลุมพื้นที่โดยรอบสูงขึ้นไปราว 30-60 กิโลเมตรจนบดบังดวงอาทิตย์ ส่งผลให้อุณหภูมิลดลงนานหลายปีทำให้ไม่สามารถปลูกพืชได้ และแน่นอนว่าอาจทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตนับไม่ถ้วนราว 80-95% ในบริเวณที่เกิดการระเบิดซึ่งทอดยาวออกไปในรัศมี 4 กิโลเมตรซึ่งสร้างความเสียหายร้ายแรงที่อาจรุนแรงถึง 6 เท่า 

ความกังวลที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ‘คลังแสงนิวเคลียร์’ แม้ว่าจำนวนหัวรบจะลดลงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาก็ตาม ทว่าทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียต่างก็มีหัวรบนิวเคลียร์เหลือไม่ถึง 7,000 ลูก แต่ก็ยังเป็นคลังแสงที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ดี ไหนจะพันธมิตรของทั้ง 2 ประเทศนี้อย่างสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน อินเดีย ปากีสถาน เกาหลีเหนือ และอิสราเอล ที่มีอาวุธนิวเคลียร์ด้วยเหมือนกัน ลองคิดดูซิว่าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจุดชนวนขึ้นมามันจะเกิดอะไรขึ้น? หากมันเกิดขึ้นอาวุธนิวเคลียร์หลายพันลูกก็พร้อมที่จะถูกปล่อยออกมาภายในไม่กี่นาที  

ทว่าภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดของสงครามนิวเคลียร์บางครั้งก็อาจเกิดขึ้นเพราะอุบัติเหตุหรือการสื่อสารที่ผิดพลาด อย่างที่เคยเกิดขึ้น 2-3 ครั้งตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 และในปี 1995 เมื่อเจ้าหน้าที่รัสเซียตัดสินใจอย่างหวุดหวิดที่จะไม่ยิงอาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้ต่อสิ่งที่พวกเขาเพิ่งค้นพบในภายหลังว่าเป็นเพราะความผิดพลาดของสัญญาณเตือน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์