นักวิทย์หาคำตอบ ‘โลกรวน อากาศแย่’ ยิ่งทำ ‘โรคผิวหนัง’ แย่ลง ?

6 กุมภาพันธ์ 2567 - 10:53

Scientists-analyse-how-climate-change-affect-eczema-skin-condition-SPACEBAR-Hero.jpg
  • เป็นที่รู้กันดีว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลเสียในแง่ลบต่อสุขภาพ

  • งานวิจัยล่าสุด พบว่าความอันตรายจากสภาพอากาศ 10 อย่าง อาจส่งผลเสียต่อ ‘โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง’

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ โดยงานวิจัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ เช่น ความร้อนรุนแรงสามารถเพิ่มความเสี่ยงของคนในการเป็นโรคไต และการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด

นอกจากนี้มลพิษทางอากาศจากสิ่งต่างๆ เช่น หมอกควัน และไฟป่า สามารถกระทบต่อโรคระบบทางเดินหายใจ และระบบหัวใจและหลอดเลือด ไม่เพียงแค่นั้นผลกระทบมากมายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังอาจนำไปสู่ปัญหาของสุขภาพจิตด้วย

ล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก (USCF) พบว่าความอันตรายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังส่งผลในทางลบต่อโรคผิวหนังเรื้อรัง ที่เรียกว่า ‘โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง’ หรือ ‘โรคผิวหนังอักเสบ’ (atopic dermatitis; eczema) อีกด้วย ซึ่งงานวิจัยนี้เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร Allergy

ความอันตรายจากสภาพภูมิอากาศกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

งานวิจัยนี้ นักวิจัยเน้นไปที่ความอันตรายที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10 อย่าง ส่งผลกระทบต่อโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอย่างไร ซึ่งความอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเหล่านี้ ประกอบด้วย ความร้อน คลื่นความร้อน ไฟป่า ภัยแล้ง หยาดน้ำฟ้า พายุ น้ำท่วม การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล มหาสมุทร และการเปลี่ยนแปลงของพื้นดิน

ดร. แคทรีนา เอบูอาบารา รองศาสตราจารย์ด้านโรคผิวหนัง แห่ง USCF ผู้เขียนงานวิจัยอาวุโสฉบับนี้ กล่าวว่า “เรารู้มานานแล้วว่าโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอ่อนไหวอย่างมากต่อปัจจัยจากสภาพแวดล้อม แต่ยังไม่มีความคิดเห็นเป็นเอกฉันท์ชัดเจนว่า ความอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังเพิ่มขึ้นอาจส่งผลต่อโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอย่างไร ดังนั้น เราจึงเริ่มศึกษาทบทวนบทวิจัยผ่านการค้นหาที่เป็นระบบและได้แสดงบทสรุปนี้”

“การไม่สามารถคาดการณ์โรคได้ล่วงหน้าเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังหลายคน...

การทำความเข้าใจว่าปัจจัยจากสภาพภูมิอากาศส่งผลอย่างไรต่อโรคอาจสามารถนำไปสู่กลยุทธ์ที่ดีขึ้นในการจัดการกับตัวกระตุ้นของโรคได้

รศ.ดร.แคทรีนา เอบูอาบารา ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง

นอกจากนี้ เพราะโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคที่สามัญมากๆ จึงสำคัญมากว่าระบบสาธารณสุขจะมีมุมมองในการทำความเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความอันตรายจากสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อแนวโน้มของโรคในประชากรอย่างไร”

ความอันตรายจากสภาพอากาศส่วนใหญ่ทำให้โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังรุนแรงขึ้น

งานวิจัยนี้ นักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัย 18 ฉบับ ที่แสดงหลักฐานเกี่ยวกับโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่รุนแรงขึ้นจากความอันตรายของสภาพภูมิอากาศฉบับละหนึ่งอย่างจากที่ระบุไว้ 10 อย่าง โดยรวมแล้วนักวิจัยกล่าวว่า มีหลักฐานว่าความอันตรายที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่ ทำให้โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังรุนแรงขึ้น และส่งผลในทางลบหลายด้าน ทั้งความชุกของโรค ความรุนแรง และการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวกับโรค

บางอย่างเป็นผลกระทบโดยตรง เช่น อากาศที่อุ่นขึ้น สามารถทำให้เกิดการผลิตสารที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ (proinflammatory cytokines) และอาการคันรุนแรง และทำให้โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังแย่ลง สันนิษฐานว่าเหงื่อยิ่งทำให้คัน และอากาศอุ่นยังเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งการผลิตและการกระจายของสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ และสารพิษในอากาศ เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ฤดูละอองเกสรดอกไม้มาเร็วขึ้น และหนักขึ้น ส่วนอีกความอันตรายคือ ไฟป่า อนุภาคจากไฟป่า อย่าง PM 2.5 เมื่อเทียบ PM 2.5 จากเมืองกับจากไฟป่าพบว่าอาจเป็นพิษมากกว่า เนื่องจากเป็นสารอนุมูลอิสระและมีแนวโน้มทำให้เกิดการอักเสบ

และอย่างอื่นที่เป็นผลกระทบทางอ้อม เช่น ภัยแล้ง ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร ความยากจน และการอพยพ ทำให้ขัดขวางการดูแลสุขภาพและเป็นเหตุให้เกิดความเครียดส่งผลต่อการเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้

นักวิทยาศาสตร์ ยังสร้างแผนที่ที่แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างสถานการณ์โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังกับความอันตรายเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยสร้างเครื่องหมายแสดงถึงความอันตรายจากสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้นในปี 2005 และ 2017 รวมไปถึงคาดการณ์ในปี 2053 ด้วย

“แผนที่ปี 2005 และ 2017 แสดงให้เห็นว่ามีความเหลื่อมกันอยู่ระหว่างพื้นที่ทางภูมิศาสตร์กับความอันตรายจากสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้น และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ส่วนภาพปี 2053 แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากที่สุดในอนาคต ซึ่งมักจะอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากขึ้น และไม่เหลื่อมกับประเทศที่มีการทำงานวิจัยไว้มากที่สุด ซึ่งเน้นย้ำถึงพื้นที่สำคัญที่จะต้องทำงานเพิ่มในอนาคต” เนื่องจากข้อมูลที่มียังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของโลก

เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันโรคนี้

ดร.จอร์แดน ทาเลีย รองศาสตราจารย์ ด้านโรคผิวหนังโรงพยาบาลเมาท์ไซนาย กล่าวว่า เขาคิดว่างานวิจัยนี้น่าสนใจและเป็นบทสรุปที่เป็นประโยชน์ของบทวิจัยที่มีอยู่เกี่ยวกับผลกระทบของปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันต่อโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง “ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้แพทย์และผู้ป่วยก้าวไปสู่การบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศที่สามารถทำให้โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังแย่ลง”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์