นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบมาเนิ่นนานแล้วว่ามนุษย์เราจะอายุยืนได้นานที่สุดถึงกี่ปี โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้านี้บอกว่าคนเราจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 150 ปี
แต่เกือบ 27 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่มีใครโค่นสถิติมนุษย์ที่อายุยืนที่สุดในโลกซึ่งเป็นของ ฌาน ลุย กาลมองต์ หญิงชาวฝรั่งเศสที่เสียชีวิตในวัน 122 ปีเมื่อปี 1997
ผู้ชายที่อายุยืนที่สุดในโลกที่ได้รับการรับรองจากกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส์ คือ จิโรเอมอน คิมูระ ชาวญี่ปุ่นเจ้าของสถิติอายุ 116 ปี ปีที่แล้ว ซิสเตอร์ อังเดร แม่ชีชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตในวัย 118 ปี หลังจากนั้นกินเนสส์ก็บันทึกให้ มาเรีย บรันยาส โมเรรา เป็นบุคคลที่อายุยืนที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่โดยเธออายุ 115 ปี
ทำให้ผู้คนพากันเข้าใจว่าคนเราจะมีอายุยืนได้ประมาณนี้
กรณีนี้มีงานวิจัยหลายชิ้นให้คำตอบไว้ต่างกัน
การวิจัยของนักสถิติจากมหาวิทยาลัยทิลเบิร์กและมหาวิทยาลัยอีรัสมุสของเนเธอร์แลนด์ที่ศึกษาตัวเลขอายุที่ชาวนเธอร์แลนด์ 75,000 คนเสียชีวิตในช่วง 30 ปีจนถึงปี 2017 ที่น่าสนใจคือ ทีมวิจัยทีมนี้ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่อายุขัยเพื่อหาคำตอบ แต่เป็นการตั้งคำถามว่าคนคนหนึ่งจะมีชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหนตราบเท่าที่พวกเขาดูแลตัวเอง และชีวิตของพวกเขาไม่ได้สั้นลงจากความเจ็บป่วยหรือสถานการณ์อื่นๆ
ผลปรากฏว่า อายุขัยสูงสุดจะเริ่มนิ่งในช่วงวัยเลข 9 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวเลขอายุจะหยุดอยู่เท่านั้น และยังบอกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะอายุยืนเกิน 115 ปี แต่ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชายเล็กน้อยอยู่ที่ 115.7 ปี ส่วนผู้ชายอายุยืนสุดได้ 114.1 ปี แต่ก็มีคนที่อายุยืนได้มากกว่านี้ดังที่เห็นเป็นสถิติของกินเนสส์
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งเป็นของ เดวิด แม็คคาร์ธี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการบริหารความเสี่ยงและการประกันภัยของมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ที่พบหลักฐานว่าตัวเลขคนที่อายุยืนที่สุดจะถูกทำลายภายใน 4 ทศวรรษข้างหน้า
ทีมของแม็คคาร์ธีศึกษาข้อมูลการเสียชีวิตทั้งในปัจจุบันและอดีตของคนอายุระหว่าง 50-100 ปีจาก 19 ประเทศอุตสาหกรรมอาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศสอิตาลี ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์
ผลการศึกษาซึ่งเผยแพร่ในวารสาร PLOS One วิเคราะห์ข้อมูลการเสียชีวิตของผู้คนหลายร้อยล้านคนจากทั้ง 19 ประเทศที่เกิดระหว่างทศวรรษ 1700 และปลายทศวรรษ 1900 จนถึงปี 1969 โดยพบว่าในกลุ่มคนที่เกิดก่อนปี 1900 อัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลังอายุ 50 ปีและคงที่เมื่อแก่มากๆ แต่กลุ่มที่เกิดระหว่างปี 1910-1950 อัตราการเสียชีวิตจะคงที่ที่อายุมากกว่ากลุ่มแรก ซึ่งบ่งชี้ว่ามนุษย์เรายังไปไม่ถึงขีดจำกัดของการมีอายุยืน
ทว่านักวิจัยบางส่วนไม่เห็นด้วยว่าความอายุยืนของมนุษย์กำลังเพิ่มขึ้น
แบรนดอน มิลฮอลแลนด์ อดีตนักวิจัยหลังปริญญาเอกจากวิทยาลัยการแพทย์อัลเบิร์ตไอน์สไตน์ ร่วมเขียนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อปี 2016 ที่ระบุว่า ขีดจำกัดอายุขัยของมนุษย์ไม่ขยับมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 โดยอายุสูงสุดยังอยู่ที่ราว 115 ปี
มิลฮอลแลนด์มองว่าอาจมีหนทางที่มนุษย์จะไขปริศนาได้ว่าจะลดอายุชีวภาพได้อย่างไรเมื่อเราอายุมากขึ้น และหากเราปลดล็อกเรื่องเหล่านี้ได้เราก็จะอายุยืนขึ้น
มิลฮอลแลนด์และแม็คคาร์ธีเห็นตรงกันเรื่องกฎกอมเปิร์ตซ์ที่ว่า ความเสี่ยงในการเสียชีวิตของคนเพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุกๆ 8 ปีในวัยผู้ใหญ่ แต่โมเดลของแม็คคาร์ธีบอกว่า ความเสี่ยงดังกล่าวจะคงที่ ณ จุดหนึ่งเมื่อคนเราอายุเกิน 100 ปี แต่มิลฮอลแลนด์ไม่เห็นด้วยในกรณีนี้ โดยบอกว่ามันไม่สมเหตุสมผล และข้อมูลเกี่ยวกับคนที่อายุมากๆ ในอิตาลีและฝรั่งเศสล่าสุดนี้ก็ไม่ได้สนับสนุนโมเดลของแม็คคาร์ธี

แต่ก็มีอีกทฤษฎีหนึ่งที่บอกว่าคนเราอาจจะอายุยืนถึงพันปี เพียงแต่เราต้องทำอะไรบางอย่างกับ “ซอฟต์แวร์” ของยีน
เจา เปโดร ดี มากาล ศาสตราจารย์ด้านโมเลกุลชีวศาสตร์วัยชราจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมของอังกฤษบอกว่า มนุษย์อาจอายุยืนถึง 1,000 ปี
ศาสตราจารย์รายนี้ได้ตรวจสอบจีโนมของสัตว์ที่อายุยืน เช่น วาฬหัวคันศร ซึ่งอาจอายุยืนถึง 200 ปี และตุ่นหนูไร้ขน เขาได้ข้อสรุปที่น่าตื่นเต้นว่า หากเรากำจัดความชราในระดับเซลล์ มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้นับพันปี หรืออาจจะได้ถึง 20,000 ปีเลยทีเดียว
มันจะเป็นไปได้อย่างไร?
หากความชราถูกตั้งโปรแกรมไว้แล้ว ในทางทฤษฎีนักวิทยาศาสตร์สามารถตั้งโปรแกรมเซลล์ของเราใหม่ได้ด้วยการปรับแต่งยีนที่เป็นตัวการของความชรา ซึ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่ยังไม่มีในปัจจุบัน แต่มากาลมองว่าเทคโนโลยีที่ว่านี้สามารถสร้างขึ้นได้
มากาลบอกว่าเราอาจไม่มียาที่รักษาความชราเหมือนที่ยาเพนิซิลินรักษาการติดเชื้อได้ในเร็วๆ นี้ แต่ตอนนี้มียาตัวหนึ่งที่ค่อนข้างให้ผลดีนั่นคือ ราปามัยซิน (rapamycin) ซึ่งช่วยยืดอายุขัยของสัตว์ได้ราว 10-15% และได้รับการอนุมัติให้ใช้ในมนุษย์แล้ว อาทิ ในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
ถึงอย่างนั้นคงไม่มีสูตรสำเร็จที่จะใช้ได้ผลกับทุกคน เพราะอายุขัยของคนราขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่สลับซับซ้อน รวมทั้งยีน ไลฟ์สไตล์ สภาพแวดล้อม และความไม่แน่นอนอย่างอื่น