นักวิทย์ไขคำตอบ ‘ทำไมเวลามีความรัก! เราถึงทำอะไรลงไปโดยไม่มีเหตุผล?’

10 กุมภาพันธ์ 2567 - 23:00

scientists-discover-why-being-in-love-scrambles-our-brains-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ว่าด้วยเรื่อง ‘ความรัก’ ที่แม้แต่นักวิทย์เองก็ปวดหัวว่า ‘ทำไมทุกครั้งที่คนเรามีความรักมักจะทำอะไรลงไปอย่างบ้าคลั่งโดยไม่รู้ตัว’

  • และนี่คือ ‘ทฤษฎีความรัก’ ที่นักวิทย์นำมาอธิบาย

ความรักเหมือนโรคา              บันดาลตาให้มืดมน

ไม่ยินและไม่ยล                      อุปสรรคคะใดใด

ความรักเหมือนโคถึก             กำลังคึกผิขังไว้

ก็โลดจากคอกไป                   บ่ยอมอยู่ ณ ที่ขัง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชนิพนธ์ในบทละครพูดคำฉันท์ ‘มัทนะพาธา’

ใครหลายคนมักกล่าวกันว่า ‘ความรัก’ เป็นเรื่องของความรู้สึก เป็นเรื่องของคน 2 คน เป็นโชคชะตาพรหมลิขิต บ้างก็บอกว่า ‘ใจสั่งมา’ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่าความรู้สึกใจต่างๆ นานาไม่ว่าจะเป็นใจเต้นแรง พูดติดๆ ขัดๆ หรือหน้าแดงเวลาเจอคนที่ชอบล้วนแล้วแต่เป็นปฏิกิริยาที่ ‘สมองสั่งการ’ ทั้งนั้น 

ทว่า ‘ความรัก’ มันไม่มีเหตุผลหรอก เคยเป็นไหมที่บางครั้งใจเราคิดอีกอย่างหนึ่ง แต่เรากลับทำอีกอย่างสวนทางซะงั้น (อยากบอกรักแต่ไม่บอก) บางครั้งเรารู้สึกตกหลุมรัก คลั่งรัก หรือทุกข์ใจจากความรัก จนอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘วัฏจักรความรัก’ ก็ว่าได้ ซึ่งตัวเราเองไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าความรู้สึกเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร (ปากไม่ตรงกับใจ)

แน่นอนว่านักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้มาหลายปีแล้วว่า ‘ทำไม ‘ความรัก’ ถึงเข้ามามีอิทธิพลต่อสมองของเราที่บางครั้งเราก็ทำอะไรที่ไม่มีเหตุผลลงไป’

ในการศึกษาครั้งใหม่นี้นำทีมโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา และมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าส่วนหนึ่งของสมองมีส่วนในการทำให้เรา ‘รู้สึกตกหลุมรักหัวปักหัวปำ’ อย่างแท้จริง และเป็นการทดลองครั้งแรกของโลกในการตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่าง ‘ระบบกระตุ้นพฤติกรรมของสมอง’ (BAS) และ ‘ความรักโรแมนติก’ 

การศึกษาดังกล่าวทำการสำรวจคนหนุ่มสาว 1,556 คนที่บอกว่าตัวเองกำลัง ‘มีความรัก’ ด้วยการถามคำถามเชิงมุ่งเน้นไปที่ ‘ปฏิกิริยาทางอารมณ์ต่อคู่รัก พฤติกรรมที่อยู่รอบตัว และการมุ่งความสนใจไปที่คนที่ตัวเองรักเหนือสิ่งอื่นใด’ 

ผลของการค้นพบก็คือ? ‘เมื่อเราตกหลุมรัก สมองของเราจะตอบสนองแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยความคิดในแต่ละวันจะเน้นไปที่ ‘คนที่คุณหลงรัก’ และมี ‘ความรัก’ เป็นศูนย์กลางชีวิตทั้งชีวิต  

‘อดัม โบด’ นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียได้อธิบายถึงสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้จนถึงตอนนี้ว่า “จริงๆ แล้วเรารู้น้อยมากเกี่ยวกับวิวัฒนาการของ ‘ความรักโรแมนติก’…เชื่อกันว่าความรักโรแมนติกเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อประมาณ 5 ล้านปีก่อนหลังจากที่เราแยกจากบรรพบุรุษของเรา ซึ่งเป็นลิงใหญ่ เรารู้ว่าชาวกรีกโบราณมีปรัชญาเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก โดยตระหนักว่ามันเป็นทั้งประสบการณ์ที่น่าทึ่งและเป็นบาดแผลทางจิตใจ…” 

ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ‘ความรักโรแมนติก’ และ ‘ระบบกระตุ้นพฤติกรรม’

scientists-discover-why-being-in-love-scrambles-our-brains-SPACEBAR-Photo01.jpg

สำหรับขั้นตอนที่ 2 ของการศึกษา นักวิจัยได้มุ่งเน้นไปที่กลุ่มตัวอย่างเดียวกัน 812 คน และมีความรักมาไม่เกิน 2 ปี โดยพิจารณาถึงระดับความคลั่งรักโรแมนติกในช่วงแรกๆ ของพวกเขา 

ดร.ฟิล คาวานาห์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา และมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลียค้นพบว่า “ความรักโรแมนติกเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและอารมณ์ เรารู้บทบาทของฮอร์โมนแห่งความรัก ‘ออกซิโตซิน’ ในความรักโรแมนติก เพราะว่าเราได้รับคลื่นของสารออกซิโตซินที่ไหลเวียนไปทั่วระบบประสาทและกระแสเลือดเมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์กับคนที่เรารัก”  

“การที่เราให้ความสำคัญกับคนรักเป็นพิเศษนั้นเกิดจากออกซิโตซินผสมกับโดปามีน ซึ่งเป็นสารเคมีที่สมองของเราปล่อยออกมาระหว่างมีความรักโรแมนติก โดยพื้นฐานแล้ว ความรักจะกระตุ้นวิถีทางในสมองที่ให้ความรู้สึกเชิงบวก” ดร.คาวานาห์กล่าวเสริม 

การศึกษายังยืนยันว่าสมองจะทำงานแตกต่างออกไปในช่วงการมีความรักโรแมนติกช่วงแรกๆ โดยความคิดและการกระทำจะเกี่ยวกับคู่รักคนใหม่เป็นหลัก 

เมื่อ ‘ความรัก’ กลายเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ของชีวิต

scientists-discover-why-being-in-love-scrambles-our-brains-SPACEBAR-Photo V01.jpg

ผลการศึกษาระบุว่า “พฤติกรรมที่เกิดจากการได้รับสารความรักโรแมนติกจะเป็นไปในลักษณะต่อไปนี้ ได้แก่ 

  • การหมกมุ่นอยู่กับคู่รัก  
  • การสร้างอุดมคติของอีกฝ่ายในความสัมพันธ์  
  • ความปรารถนาที่จะรู้จักอีกฝ่าย  
  • กิจกรรมทางอารมณ์ รวมถึงการดึงดูดผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงดึงดูดทางเพศ  
  • ความรู้สึกเชิงลบเมื่อสิ่งต่างๆ ผิดไป  
  • ความปรารถนาที่จะตอบแทนซึ่งกันและกัน 
  • การกระทำเพื่อกำหนดความรู้สึกของอีกฝ่าย ศึกษาอีกฝ่าย รับใช้อีกฝ่าย และรักษาความใกล้ชิดทางกาย”  

ถ้าคุณเคยมีความรัก! คุณจะรับรู้ความรู้สึกนี้ดีกว่าใครๆ เมื่อคุณตกหลุมรักใครสักคน คุณจะเริ่มพิจารณาความคิดเห็น ความรู้สึก และความใกล้ชิดโดยตัดสินใจลงไปทั้งที่ไม่รู้ตัวเกือบทุกครั้ง เช่น ‘เขา / เธอจะชอบเสื้อตัวนี้ที่ฉันใส่ไหม’, ‘ฉันควรออกกำลังกายฟิตหุ่นให้ดูดีไหมนะ?’, ‘ฉันจะซื้อชุดนั้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแน่นอนเพราะเป็นเสื้อตัวโปรดของเขา / เธอ’ 

นั่นก็เพราะว่า ‘บุคคลนั้นจะกลายเป็นศูนย์กลางจักรวาลทั้งหมดของคุณได้โดยที่คุณเองก็ไม่รู้ตัวเลย’ 

นอกจากนี้ ทีมวิจัยกำลังวางแผนที่จะยกระดับการวิจัยของพวกเขาไปสู่อีกระดับ ด้วยการเริ่มวิจัยเกี่ยวกับ ‘ความแตกต่างระหว่างชายและหญิงในด้านแนวทางความรัก และการสำรวจทั่วโลกเพื่อระบุคู่รักโรแมนติกที่แตกต่างกัน 4 ประเภท’ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่พวกเขารอคอยอย่างใจจดใจจ่อ 

ยังมีอะไรอีกมากมายที่เราไม่สามารถอธิบายเกี่ยวกับ ‘ความรัก’ ได้ มันดูเหมือนมาพร้อมกับความลึกลับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจักรวาล

ดังคำกล่าวของนักปรัชญาชาวเยอรมันที่ว่า

“ในความรักย่อมมีความบ้าคลั่งอยู่เสมอ แต่ในความบ้าคลั่งก็ยังมีเหตุผลด้วยเช่นกัน”

ฟรีดริช นีทเชอ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์