เมื่อ ‘มอส’ อาจมีบทบาทสำคัญในการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร?
นักวิทยาศาสตร์ในประเทศจีนค้นพบว่า มอส ‘ซินทริเซีย คานิเนอร์วิส’ (Syntrichia caninervis) ที่พบในภูมิภาคต่างๆ เช่น แอนตาร์กติกาและทะเลทรายโมฮาวีนั้นสามารถทนต่อสภาวะที่คล้ายคลึงกับดาวอังคารได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง ระดับรังสีที่สูง และความหนาวเย็นสุดขั้ว
ทีมวิจัยกล่าวว่างานของพวกเขาเป็นงานแรกที่ศึกษาการอยู่รอดของพืชทั้งต้นในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นไปที่ศักยภาพในการปลูกพืชบนพื้นผิวของโลก มากกว่าในเรือนกระจก
“ข้อมูลเชิงลึกจากการศึกษาของเราได้วางรากฐานสำหรับการตั้งอาณานิคมในอวกาศโดยใช้พืชที่คัดเลือกมาตามธรรมชาติซึ่งสามารถปรับให้เข้ากับสภาวะเครียดที่รุนแรง” ทีมงานเขียน
“แนวคิดนี้มีข้อดี...การปลูกพืชบนบกถือเป็นส่วนสำคัญของภารกิจอวกาศระยะยาว เนื่องจากพืชสามารถเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำให้เป็นออกซิเจนและคาร์โบไฮเดรตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็คืออากาศและอาหารที่มนุษย์ต้องการเพื่อความอยู่รอด มอสในทะเลทรายไม่สามารถรับประทานได้ แต่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ในอวกาศได้”
ศาสตราจารย์สจ๊วร์ต แม็กแดเนียล ผู้เชี่ยวชาญด้านมอสจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งนี้ กล่าว
ดร.อากาตา ซูปันสกา จากสถาบันวิจัย SETI เองก็เห็นด้วยว่า “มอสอาจช่วยเสริมความสมบูรณ์และแปรสภาพวัสดุหินที่พบบนพื้นผิวดาวอังคาร เพื่อช่วยให้พืชอื่นๆ เจริญเติบโตได้...”
นักวิจัยในประเทศจีนได้เขียนบทความลงในวารสาร ‘The Innovation’ ว่า มอสทะเลทรายไม่เพียงแต่สามารถอยู่รอดได้เท่านั้น แต่ยังฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากการขาดน้ำ นอกจากนี้ มอสทะเลทรายยังสามารถฟื้นตัวได้ภายใต้สภาวะการเจริญเติบโตปกติ หลังจากใช้เวลา 5 ปีในสภาวะอุณหภูมิ -80 องศาเซลเซียสและใช้เวลา 30 วันที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส และหลังจากสัมผัสกับรังสีแกมมาปริมาณประมาณ 500 เกรย์ยูนิต (Gy) ก็สามารถเติบโตใหม่ได้ด้วย
จากนั้นทีมวิจัยจึงสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความดัน อุณหภูมิ ก๊าซ และรังสี UV ใกล้เคียงกับบนดาวอังคาร โดยพบว่ามอสสามารถอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่คล้ายกับบนดาวอังคารได้ และสามารถงอกขึ้นใหม่ได้ภายใต้สภาวะการเติบโตปกติ แม้จะผ่านการสัมผัสรังสีเป็นเวลา 7 วันก็ตาม
“หากมองไปในอนาคต เราคาดว่ามอสเหล่านี้จะถูกนำไปยังดาวอังคารหรือดวงจันทร์เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ในการปลูกและเติบโตของพืชในอวกาศต่อไป” นักวิจัยเขียน

แต่แม็กแดเนียลตั้งข้อสังเกตว่าพืชส่วนใหญ่ไม่สามารถทนต่อสภาวะเครียดจากการเดินทางในอวกาศได้
“งานวิจัยนี้มีความน่าสนใจเพราะแสดงให้เห็นว่ามอสในทะเลทรายสามารถอยู่รอดได้ภายใต้สภาวะเครียดระยะสั้นๆ ที่อาจพบได้ระหว่างการเดินทางไปยังดาวอังคาร ซึ่งได้แก่ ระดับรังสีที่สูงมาก อุณหภูมิที่เย็นจัด และระดับออกซิเจนที่ต่ำมาก” แม็กแดเนียลกล่าว แต่เขาเสริมว่าการวิจัยยังมีข้อจำกัด
“การทดลองเหล่านี้ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามอสสามารถเป็นแหล่งออกซิเจนที่สำคัญภายใต้สภาพแวดล้อมของดาวอังคารได้ และไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามอสในทะเลทรายสามารถขยายพันธุ์ได้เมื่ออยู่บนดาวอังคาร” แม็กแดเนียลกล่าว
ซูปันสกาเสริมด้วยว่า นอกเหนือจากปัญหาอื่นๆ แล้ว การศึกษาครั้งนี้ไม่ได้ทดสอบผลกระทบของรังสีอนุภาคด้วย
“ในความคิดของฉัน เรากำลังเข้าใกล้การปลูกพืชในเรือนกระจกนอกโลกแล้ว และแน่นอนว่ามอสเป็นหนึ่งในนั้น การบอกเป็นนัยว่ามอสหรือสิ่งมีชีวิตบุกเบิกชนิดอื่นๆ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงดาวอังคารหรือดาวเคราะห์นอกระบบดวงอื่นๆ นั้นเป็นการพูดเกินจริง”
ขณะที่ ดร.วิเกอร์ วาเมลิงก์ จากมหาวิทยาลัยวาเคอนิงเงิน เองก็ได้แสดงความกังวลต่างๆ รวมถึงอุณหภูมิบนดาวอังคารที่ต่ำกว่าโลกมากๆ ซึ่งนั่นทำให้พืชเจริญเติบโตกลางแจ้งไม่ได้ และการศึกษาล่าสุดนี้ไม่ได้ใช้ดินแบบเดียวกับดาวอังคาร
แต่ศาสตราจารย์เอ็ดเวิร์ด กีแนน จากมหาวิทยาลัยวิลลาโนวา สหรัฐฯ บอกว่าการศึกษานี้ ‘น่าประทับใจ’
“มอสที่ทนทานต่อสภาวะสุดขั้วชนิดนี้อาจเป็นพืชบุกเบิกที่เหมาะสำหรับการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคาร” กีแนนกล่าว แม้ว่าเขาจะตั้งข้อสังเกตว่ามอสจะต้องใช้น้ำเพื่อเจริญเติบโตก็ตาม “เรายังมีหนทางอีกยาวไกล แต่มอสทะเลทรายนี้ก็ให้ความหวังที่จะทำให้พื้นที่เล็กๆ บนดาวอังคารสามารถเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับมนุษย์ในอนาคตได้”
Photo by : Wikipedia / Sheri Hagwood