หากคุณสังเกตเห็นริ้วรอย อาการปวดเมื่อยสะสมขึ้นอย่างกะทันหัน หรือรู้สึกว่าตัวเองแก่ลงข้ามคืน อาจมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายได้ งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการแก่ตัวลงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง แต่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะแก่เร็วขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้ง
การศึกษาที่ติดตามโมเลกุลต่างๆ หลายพันโมเลกุลในผู้คนในช่วงอายุ 25-75 ปี ได้ตรวจพบการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับอายุ 2 ครั้งในช่วงอายุประมาณ 44 ปีและอีกครั้งเมื่ออายุ 60 ปี ผลการค้นพบดังกล่าวสามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและโครงกระดูก โรคหัวใจและหลอดเลือด จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในบางช่วงอายุ
“เราไม่ได้แค่เปลี่ยนแปลงไปทีละนิดตามกาลเวลาเท่านั้น แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากอีกด้วย ช่วงอายุ 40 กลางๆ นั้นเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่นเดียวกับช่วงอายุ 60 ต้นๆ...”
ศาสตราจารย์ไมเคิล สไนเดอร์ นักพันธุศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์จีโนมิกส์และการแพทย์เฉพาะบุคคลแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและนักวิจัยอาวุโสของการศึกษากล่าว
งานวิจัยนี้ติดตามอาสาสมัครผู้เข้าร่วม 108 คน ซึ่งส่งตัวอย่างเลือดและอุจจาระ รวมถึงตัวอย่างจากผิวหนัง ช่องปาก และโพรงจมูกทุกๆ 2-3 เดือน เป็นเวลาตั้งแต่ 1 ถึงเกือบ 7 ปี ขณะเดียวกัน นักวิจัยก็จะประเมินโมเลกุลต่างๆ 135,000 ชนิด (RNA, โปรตีน, และเมแทบอไลต์) และจุลินทรีย์ (แบคทีเรีย, ไวรัส, และเชื้อราที่อยู่ในลำไส้ และบนผิวหนังของผู้เข้าร่วม)
ความอุดมสมบูรณ์ของโมเลกุลและจุลินทรีย์ส่วนใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามช่วงเวลา เมื่อนักวิทยาศาสตร์ค้นหากลุ่มโมเลกุลที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด จึงพบว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้คนที่มีอายุประมาณ 40 กลางๆ หรือ 60 ต้นๆ
การแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วของวัย 40 กลางๆ นั้นเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง และในตอนแรกสันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงก่อนวัยหมดประจำเดือนในผู้หญิง ซึ่งทำให้ผลการศึกษาสำหรับทั้งกลุ่มเบี่ยงเบนไป แต่ข้อมูลเผยให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายกันนี้เกิดขึ้นกับผู้ชายในวัย 40 กลางๆ ด้วยเช่นกัน
“ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าแม้ภาวะหมดประจำเดือน หรือก่อนหมดประจำเดือนอาจมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในผู้หญิงในช่วงวัย 40 กว่าๆ แต่ก็น่าจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญกว่าซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในทั้งผู้ชายและผู้หญิง” ดร.เสี่ยวเทา เฉิน ผู้เขียนการศึกษาคนแรกซึ่งปัจจุบันประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ กล่าว
คลื่นการเปลี่ยนแปลงแรกครอบคลุมถึงโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดหัวใจและความสามารถในการเผาผลาญคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และไขมัน ส่วนคลื่นการเปลี่ยนแปลงที่ 2 ครอบคลุมถึงโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมภูมิคุ้มกัน การเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต และการทำงานของไต โมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับการแก่ชราของผิวหนัง แต่ทั้งนี้ พบว่า กล้ามเนื้อเปลี่ยนแปลงในทั้ง 2 ช่วงเวลา การวิจัยก่อนหน้านี้บอกว่าการแก่ชราในช่วงที่ 2 อาจเกิดขึ้นเมื่ออายุประมาณ 78 ปี แต่การศึกษาล่าสุดไม่สามารถยืนยันได้เนื่องจากผู้เข้าร่วมที่มีอายุมากที่สุดมีอายุ 75 ปี
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสอดคล้องกับหลักฐานก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าความเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวข้องกับอายุหลายชนิดไม่ได้เพิ่มขึ้นทีละน้อย โดยความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ โรคหัวใจและหลอดเลือดจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากอายุ 60 ปี นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ที่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์หรือปัจจัยด้านพฤติกรรม ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงของการเผาผลาญแอลกอฮอล์อาจเป็นผลมาจากการบริโภคแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นในคนวัย 40 กลางๆ
“ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าเราควรพยายามปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราในขณะที่เรายังมีสุขภาพดีอยู่” สไนเดอร์ กล่าว