สู้ไทยไม่ได้! วิจัยชี้ทุเรียนจีนโภชนาการต่ำไร้สารต้านอนมูลอิสระ

24 ธ.ค. 2567 - 05:45

  • ผลการศึกษาโภชนาการผลไม้เมืองร้อนระบุว่า ทุเรียนที่ปลูกในจีนอาจขาดสารอาหารสำคัญบางชนิดหรือต่ำมาก

  • นักวิทยาศาสตร์พบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับทุเรียนที่ปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลไม้ที่ปลูกในประเทศจีนนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการที่แตกต่างไปจากทุเรียนที่ปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างน่าประหลาดใจ

scientists_find_key_nutrient_missing_in_china_grown_durian_SPACEBAR_Hero_9f86ac574c.jpg

ผลการศึกษาโภชนาการผลไม้เมืองร้อนระบุว่า ทุเรียนที่ปลูกในจีนอาจขาดสารอาหารสำคัญบางชนิดหรือต่ำมาก 

จากการศึกษาวิจัยครั้งแรกนี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับทุเรียนที่ปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลไม้ที่ปลูกในประเทศจีนนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการที่แตกต่างไปจากทุเรียนที่ปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างน่าประหลาดใจ 

นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไห่หนานค้นพบว่า ทุเรียนหมอนทองที่ปลูกในประเทศจีนไม่มีสารเควอซิทินซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระเลย ในขณะที่ทุเรียนหมอนทองของไทยกลับมีสารเควอซิทินอยู่เป็นจำนวนมาก 

ในความเป็นจริง มีทุเรียนไห่หนานพันธุ์เดียวเท่านั้นที่พบเควอซิทินก็คือ ‘พันธุ์ก้านยาว’ แต่ระดับเควอซิทินต่ำกว่าพันธุ์เดียวกันที่ปลูกในต่างประเทศถึง 520 เท่า และต่ำกว่าระดับเควอซิทินในทุเรียนหมอนทองของไทยถึง 540,000 เท่า 

ส่วนกรดแกลลิก สารประกอบที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และต้านมะเร็ง ทีมวิจัยกล่าวว่าไม่พบกรดแกลลิกในพันธุ์ก้านยาว ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาก่อนหน้านี้ แต่ระดับกรดแกลลิกในหมอนทองนั้น ‘ต่ำกว่าระดับที่รายงานไว้ก่อนหน้านี้มาก’ 

การศึกษาวิจัยทุเรียนไทยในปี 2008 รายงานว่าทุเรียนหมอนทองมีกรดแกลลิก 2,072 ไมโครกรัมต่อทุเรียน 100 กรัม สูงกว่าทุเรียนที่ปลูกในประเทศจีนถึง 906 เท่าซึ่งมีกรดแกลลิก 22.85 นาโนกรัม 

“ความแตกต่างของสภาพภูมิอากาศ ปริมาณแร่ธาตุและสารอาหารในดินอาจส่งผลต่อการสะสมสารอาหารในระหว่างกระบวนการเจริญเติบโตของทุเรียน...สิ่งนี้อาจส่งผลให้มีสารบางชนิดในระดับที่สูงขึ้นในขณะที่สารบางชนิดอาจไม่มี” จางจิง หัวหน้าคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยซานย่า หนานฟาน แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไห่หนาน กล่าว 

ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารภาษาจีน Food and Fermentation Industries เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม นักวิจัยกล่าวว่าสารต้านอนุมูลอิสระหลักที่พบในทุเรียน 3 ประเภทที่ศึกษา (ทุเรียนหมอนทอง ทุเรียนก้านยาว และทุเรียนมูซังคิง) ได้แก่ โพรไซยานิดินบี 1 คาเทชิน และเควอซิทิน 

“ผลลัพธ์…บ่งชี้ว่า ในหลอดทดลองของทุเรียนพันธุ์ก้านยาวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเข้มข้นที่สุด (จากทั้งสามชนิด)” นักวิทยาศาสตร์ กล่าว 

จีนเป็นผู้นำเข้าทุเรียนมากที่สุดในโลก โดยซื้อผลผลิตส่งออกทั่วโลกถึง 95% กระทั่งในปี 2018 จีนได้เริ่มปลูกทุเรียนในปริมาณมากในมณฑลไห่หนาน ซึ่งเป็นเกาะเขตร้อนเพียงแห่งเดียวของประเทศที่มีสภาพอากาศเหมาะสมต่อการปลูกทุเรียน 

ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยวิตามินซี โพแทสเซียม ไฟเบอร์ และสารอาหารอื่นๆ นอกจากนี้ ทุเรียนยังมีไขมันสูงอีกด้วย ซึ่งแตกต่างจากผลไม้อื่นๆ 

Photo by Peter PARKS / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์