นักวิทย์พบดาวเคราะห์คล้าย ‘โลก’ มนุษย์ (อาจ) อาศัยอยู่ได้!

27 พ.ค. 2567 - 06:51

  • นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าดาวเคราะห์ดวงนี้ ‘เอื้อต่อการอยู่อาศัยได้’ มีขนาดเล็กกว่าโลกแต่ใหญ่กว่าดาวศุกร์ และห่างจากโลกของเราออกไปประมาณ 40 ปีแสง

  • “มันอาจจะไม่สะดวกสำหรับมนุษย์ แต่วิธีที่เรานิยามว่า ‘สามารถอยู่อาศัยได้’ ก็เพราะ พบน้ำเหลวอยู่บนพื้นผิวดาวเคราะห์ดังกล่าว ซึ่งในกรณีนี้ก็เกิดขึ้นได้”

scientists-have-discovered-a-theoretically-habitable-earth-size-planet-SPACEBAR-Hero.jpg

ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสหราชอาณาจักร 2 ทีมค้นพบดาวเคราะห์ที่ ‘เอื้อต่อการอยู่อาศัย’ มีขนาดเล็กกว่าโลกแต่ใหญ่กว่าดาวศุกร์ ซึ่งห่างจากโลกของเราออกไปประมาณ 40 ปีแสง และโคจรรอบตัวเองทุกๆ 12.8 วัน 

ตามรายงานการศึกษา 2 ฉบับที่ตีพิมพ์เมื่อวันพฤหัสบดี (23 พ.ค.) ในวารสาร ‘The Astrophysical Journal Letters and Monthly’ ของราชสมาคมดาราศาสตร์ (the Royal Astronomical Society) ระบุว่า “ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีชื่อว่า ‘กลีเซอ 12บี’ (Gliese 12b) นั้นโคจรรอบดาวแคระแดงเย็นที่อยู่ในกลุ่มดาวปลา มีขนาดประมาณ 27% ของดวงอาทิตย์ ไม่มีชั้นบรรยากาศและมีอุณหภูมิพื้นผิวประมาณ 42 องศาเซลเซียส (107 องศาฟาเรนไฮต์)”  

ทีมวิจัยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมของ NASA และ ESA เพื่อยืนยันการมีอยู่และลักษณะเฉพาะของดาวเคราะห์ เช่น ขนาด อุณหภูมิ ระยะห่างจากโลก และที่สำคัญคือค้นหาว่า ‘มีน้ำเพื่อการดำรงชีวิตหรือไม่’

“มีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเพียงไม่กี่ดวงที่เราพบว่าเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับสิ่งนั้น และนี่คือการค้นพบที่ใกล้ที่สุดและถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญทีเดียว”

ลาริสซา ปาเลธอร์ป นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระและมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ซึ่งร่วมเป็นผู้นำการศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่งบอกกับสำนักข่าว CNN

ในขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าอะไรคือชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้ ไม่ว่าจะมีหรือไม่ และมีน้ำอยู่หรือไม่ แม้ว่าปาเลธอร์ปบอกว่าพวกเขาไม่ได้คาดหวังว่าจะพบน้ำที่นั่นก็ตาม 

“น่าตกใจมากที่ดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดเท่าโลกและมีอุณหภูมิใกล้เคียงโลกที่สุดเท่าที่เรารู้จัก ดาวเคราะห์อย่าง ‘กลีเซอ 12บี’ นั้นมีอยู่ไม่มากนัก ดังนั้นสำหรับเราที่จะสำรวจดาวเคราะห์ดวงนี้อย่างใกล้ชิดและเรียนรู้เกี่ยวกับชั้นบรรยากาศและอุณหภูมิของมันนั้นหาได้ยากมาก…ขั้นตอนต่อไปคือให้ทีมงานตรวจสอบชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์และค้นหาว่ามันคล้ายกับบรรยากาศของโลกหรือไม่” ดร.โทมัส วิลสัน นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากสถาบันวอร์วิกกล่าว

“จริงๆ แล้วมันอาจจะเป็นดาวเคราะห์ที่ไม่มีชั้นบรรยากาศ ซึ่งหมายความว่ามันไม่สามารถอยู่อาศัยได้ มันอาจเป็นเหมือนเมฆ อาจเป็นหมอก หรืออาจไม่มีชั้นบรรยากาศเลย…แม้ว่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะนี้อาจเป็นดาวที่มนุษย์สามารถอยู่อาศัยได้และค่อนข้าง ‘ใกล้’ ระบบสุริยะของเราในแง่ดาราศาสตร์ แต่ก็ไม่น่าเป็นไปได้ที่ใครจะมาเยือนที่นั่นในไม่ช้า ยานอวกาศของเราจะใช้เวลาที่เร็วที่สุดประมาณ 300,000 ปีจึงจะไปถึงที่นั่นได้”

ปาเลธอร์ปกล่าว

ปาเลธอร์ปกล่าวอีกว่า “มันอาจจะไม่สะดวกสำหรับมนุษย์ แต่วิธีที่เรานิยามว่า ‘สามารถอยู่อาศัยได้’ ก็เพราะ พบน้ำเหลวอยู่บนพื้นผิวดาวเคราะห์ดังกล่าว ซึ่งในกรณีนี้ก็เกิดขึ้นได้”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์