วิทยาศาตร์มีคำตอบ ‘ทำไมน้องหมาชอบกระดิกหาง?’

20 มกราคม 2567 - 23:00

scientists-may-finally-know-why-dogs-wag-their-tails-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ทำไมหมาชอบกระดิกหาง? คำถามที่หลายคนอาจคิดว่าตัวเองรู้คำตอบแล้ว แต่บางทีมันอาจไม่ตรงกับคำอธิบายของนักวิทย์

ว่ากันว่าความสัมพันธ์ระหว่างสุนัขกับมนุษย์นั้นมีมาอย่างยาวนานมากเมื่อประมาณ 15,000-50,000 ปีก่อนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สันนิษฐานว่ามนุษย์เริ่มเลี้ยงสุนัขเป็นครั้งแรก มันเป็นความสัมพันธ์พิเศษที่สร้างทั้งความรัก ความผูกพัน และความเป็นเพื่อน หลายคนที่เป็นทาสหมาจะทราบดีว่าทุกครั้งที่เจอหน้ากันน้องหมาจะต้องกระโจนใส่ด้วยความดีใจ ยกขาหน้าขึ้น และกระดิกหางส่ายไปส่ายมา 

คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าการที่น้องหมากระดิกหางหมายถึงอาการตื่นเต้น ดีใจที่ได้พบเจ้าของ แต่ทว่านักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ซึ่งพวกเขาให้เหตุผลที่แตกต่างออกไป 

ทำไมเจ้าหมาถึง ‘กระดิกหาง’?

ในการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ ‘Biology Letters’ ของราชสมาคมแห่งลอนดอน (Royal Society) ทีมนักวิจัยชาวยุโรปได้ทำการศึกษาหลายสิบครั้งเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เข้าใจยากนี้เพื่อเสนอทฤษฎีสำคัญ 2 ทฤษฎีว่าทำไมเพื่อนซี้สี่ขาของนุดถึงกระดิกหาง 

นักวิทยาศาสตร์ 4 คนจากสถาบันมัคส์พลังค์เพื่อภาษาศาสตร์จิตวิทยาในเนเธอร์แลนด์และมหาวิทยาลัยโรมได้ศึกษาผลวิจัยก่อนหน้านี้มากกว่า 100 ชิ้นเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้สุนัขกระดิกหาง โดยพบว่าสุนัขทำสิ่งนี้บ่อยกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ

“สัตว์หลายชนิดมีหางและใช้หางเหล่านั้นในการเคลื่อนที่อย่างจระเข้ว่ายน้ำ ใช้ทรงตัวอย่างแมวเดินตามรั้วแคบ หรือใช้กำจัดสัตว์รบกวนอย่างม้าปัดแมลงวันให้บินออกไปจากตัว แต่ตัวอย่างเหล่านี้แตกต่างกับสุนัขที่ดูเหมือนจะใช้หางเพื่อการสื่อสารเป็นหลัก มากกว่าที่จะทำหน้าที่อื่นใด”

ซิลเวีย ลีโอเน็ตติ ผู้เขียนงานวิจัยคนแรกกล่าว

เมื่อสุนัขได้รับการกระตุ้นที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์เชิงบวก เช่น ได้รับการทักทายจากเจ้าของ สุนัขก็มักจะกระดิกหางไปทางขวามากขึ้น ในทางตรงกันข้าม เมื่อสุนัขสัมผัสกับสิ่งเร้าที่อาจกระตุ้นให้เกิดอารมณ์เชิงลบ เช่น เจอหน้ากับคนที่ไม่คุ้นเคย หรือเผชิญหน้ากับสุนัขที่โตกว่า พวกมันก็มักจะกระดิกหางไปทางซ้ายมากกว่า 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ‘สุนัขสามารถรับรู้ถึงความไม่สมดุลเหล่านี้ในสุนัขตัวอื่นๆ’  

แม้จะมีความแตกต่างเหล่านี้ แต่การกระดิกหางมักเกี่ยวข้องกับสภาวะตื่นตัวบางประเภท ไม่ว่าจะเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บอกว่าอาจมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับสภาวะตื่นตัวและสารสื่อประสาทในร่างกายของสุนัข โดยพวกเขาอ้างถึงหลักฐานทางอ้อมที่เชื่อมโยงกับ ‘ออกซิโตซิน ฮอร์โมนความรัก และการกระดิกหาง’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสุนัขเจอหน้าเจ้าของ 

และนี่คือทฤษฎีที่นักวิทย์สมมติขึ้นมาเพื่อตอบข้อสงสัยว่า ‘ทำไมเจ้าหมาถึงกระดิกหาง?’ 

  • ทฤษฎีที่ 1 คือ ‘จังหวะของการกระดิกหาง’
scientists-may-finally-know-why-dogs-wag-their-tails-SPACEBAR-Photo01.jpg

ทฤษฎีหนึ่งซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ‘จังหวะของการกระดิกหาง’ อธิบายว่ามนุษย์ตั้งใจเลือกลักษณะสุนัขที่กระดิกหางในการผสมพันธุ์ เพียงเพราะพวกเขาชอบลำดับจังหวะ “ประสาทวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าสมองของมนุษย์ชอบสิ่งเร้าเป็นจังหวะ ซึ่งกระตุ้นการตอบสนองที่น่าพึงพอใจ และมีส่วนร่วมกับเครือข่ายสมองที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการให้รางวัล” รายงานระบุแต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าพฤติกรรมนี้พัฒนาขึ้นในมนุษย์อย่างไร แต่ระบุว่ามนุษย์ชอบ 

ลีโอเน็ตติบอกว่า “เราได้ตั้งสมมติฐานใหม่ว่ามนุษย์กำหนดให้สุนัขกระดิกหางทั้งโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวในระหว่างกระบวนการปรับตัวเป็นสัตว์เลี้ยง หรือการทำให้เชื่อง (การนำมาเลี้ยง) เนื่องจากเราสนใจสิ่งเร้าเป็นจังหวะอย่างมาก” สิ่งนี้อาจอธิบายได้ว่าทำไมสุนัขจึงกระดิกหางบ่อยครั้งเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ 

“แน่นอนว่านี่เป็นเพียงทฤษฎี และไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับทฤษฎีเหล่านี้…สมมติฐานด้านจังหวะนั้นเป็น ‘ความคิดที่น่าสนใจ’ แต่ฉันไม่มั่นใจว่ามนุษย์ตอบสนองต่อจังหวะของการกระดิกหางของสุนัขได้มากเพียงใด” ฮอลลี รูต-กัทเทอริดจ์ นักวิจัยด้านการรับรู้สัตว์แห่งมหาวิทยาลัยลินคอล์นในประเทศอังกฤษกล่าว 

รายงานยังระบุอีกว่า “การกระดิกหางยังใช้เป็นสัญลักษณ์ของการเอาใจและการยอมจำนนในปฏิสัมพันธ์ระหว่างสุนัขกับมนุษย์อีกด้วย” 

  • ทฤษฎีที่ 2 คือ ‘ผลกระทบจากการปรับตัวเป็นสัตว์เลี้ยง หรือการทำให้เชื่อง (การนำมาเลี้ยง)’
scientists-may-finally-know-why-dogs-wag-their-tails-SPACEBAR-Photo02.jpg

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า “การกระดิกหางของสุนัขเพิ่มขึ้นในระหว่างกระบวนการปรับตัวเป็นสัตว์เลี้ยง หรือการทำให้เชื่อง (domestication process) โดยเป็นเพียงผลพลอยได้จากความเชื่อฟังและความเชื่อง” หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อมนุษย์เริ่มเลี้ยงสุนัขและผสมพันธุ์พวกมันเพื่อเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง การกระดิกหางถือเป็นผลข้างเคียง (ผลข้างเคียงที่น่ารัก) 

เมื่อเปรียบเทียบกับ ‘หมาป่า’ สุนัขจะกระดิกหางบ่อยกว่ามากและทำตั้งแต่อายุยังน้อย สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมการกระดิกหางของพวกมันพัฒนาไปพร้อมกับการเลี้ยงของมนุษย์ ซึ่งสนับสนุนทฤษฎีที่ว่าการกระดิกหางอาจเกิดขึ้นเพื่อให้สัตว์เหล่านี้สื่อสารกับเจ้านายที่เป็นมนุษย์ได้ 

“การกระดิกหางอาจเป็นผลพลอยได้ของลักษณะอื่นๆ เช่น ความเชื่องหรือความเป็นมิตร และดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้นในการทดลองระยะยาวกับสุนัขจิ้งจอกสีเงิน ซึ่งออกแบบมาเพื่อจำลองกระบวนการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแบบเรียลไทม์” นักวิทยาศาสตร์เสริม 

ในการศึกษานี้ สุนัขจิ้งจอกสีเงินกลุ่มหนึ่งได้รับการผสมพันธุ์มามากกว่า 40 รุ่น และได้รับการคัดเลือกให้มีลักษณะเด่น เช่น ความเชื่องและความว่าง่าย ซึ่งคล้ายกับลักษณะที่น่าจะได้รับการคัดเลือกในบรรพบุรุษของสุนัขสมัยใหม่ ทว่าการกระดิกหางกลับไม่ได้ถูกเลือกมาโดยตรง แต่เมื่อเวลาผ่านไป สุนัขจิ้งจอกที่เชื่องก็เริ่มแสดงพฤติกรรมการกระดิกหางเหมือนสุนัขด้วย 

“จากสิ่งนี้ เราตั้งสมมติฐานว่ากระบวนการปรับตัวเป็นสัตว์เลี้ยงอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับกายวิภาคและพฤติกรรม ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการกระดิกหางในสุนัข” นักวิทยาศาสตร์ระบุ

แต่ยังคงมีคำถามอยู่ว่า ‘สุนัขสามารถควบคุมพฤติกรรมนี้ได้อย่างไร?’ พวกมันสามารถถอดรหัสความหมายของการกระดิกหางในหมู่สุนัขตัวอื่นๆ ได้ดีเพียงใด และสุนัขพันธุ์หางสั้นอาจถูกควบคุมโดยความสามารถที่ลดลงในการแสดงพฤติกรรมนี้ได้อย่างไร

“เราสะท้อนข้อกังวลของนักวิจัยคนอื่นๆ ว่าขั้นตอนเหล่านี้อาจทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารของสัตว์ลดลง (แม้ว่าสิ่งนี้ควรได้รับการทดสอบเชิงประจักษ์โดยการเปรียบเทียบสายพันธุ์ก็ตาม) และลดความสามารถในการแสดงความรู้สึกและการสื่อสารของสุนัข” แอนเดรีย ราวิกนานี ผู้เขียนอาวุโสของการวิจัยกล่าว 

อย่างไรก็ดี อาจต้องทำการศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติมเพื่อยืนยันต้นกำเนิดวิวัฒนาการเหล่านี้และตอบคำถามที่เหลืออยู่ แต่ทีมงานหวังว่าการทบทวนของพวกเขาจะกระตุ้นให้เกิดการวิจัยอย่างต่อเนื่องในหัวข้อนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์