จากข้อมูลที่แชร์โดยนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศชื่อดังระบุว่า อุณหภูมิของโลกได้สูงขึ้นกว่าเกณฑ์สำคัญในช่วงสั้นๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เตือนมานานหลายทศวรรษว่าอาจส่งผลกระทบร้ายแรงที่มิอาจแก้ไขได้ต่อโลกและระบบนิเวศของโลก
“นับเป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในวันศุกร์ (17 พ.ย.) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วร้อนกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรม (industrialization) ถึง 2 องศาเซลเซียส” ซามานทา เบอร์เกส รองผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบสภาพภูมิอากาศของยุโรป (Copernicus Climate Change Service) แชร์ข้อมูลเบื้องต้นบนแพลตฟอร์ม X
การที่อุณหภูมิสูงกว่าเกณฑ์เพียงชั่วคราวไม่ได้หมายความว่าโลกอยู่ในสภาวะร้อนเกิน 2 องศาอย่างถาวร แต่เป็นอาการของภาวะที่โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ และกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่สถานการณ์ระยะยาวที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบ ซึ่งมันเป็นเรื่องยาก หรือในบางกรณีก็เป็นไปไม่ได้ที่จะย้อนกลับไปแก้ไข
“การประมาณการที่ดีที่สุดของเราคือ นี่เป็นวันแรกที่อุณหภูมิโลกสูงกว่า 2 องศาเซลเซียสซึ่งสูงกว่าช่วงปี 1850-1900 (หรือก่อนยุคอุตสาหกรรม) ที่ 2.06 องศาเซลเซียส” เบอร์เกสเขียน
เบอร์เกสกล่าวในโพสต์ของเธอว่า
“อุณหภูมิโลกในวันศุกร์สูงกว่าระดับในปี 1991-2020 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 1.17 องศาเซลเซียส ทำให้วันที่ 17 พฤศจิกายนเป็นวันที่อบอุ่นที่สุดในประวัติการณ์ แต่เมื่อเทียบกับสมัยก่อนยุคอุตสาหกรรม ก่อนที่มนุษย์จะเริ่มเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในวงกว้างและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกนั้น อุณหภูมิอุ่นขึ้นถึง 2.06 องศาเซลเซียส”
“ในวันที่อุณหภูมิร้อนเกิน 2 องศาเซลเซียสไม่ได้หมายความว่าข้อตกลงปารีสถูกละเมิด แต่เน้นย้ำว่าเรากำลังเข้าใกล้ขีดจำกัดที่ตกลงกันในระดับสากลได้อย่างไร เราอาจจะเห็นความถี่ของอุณหภูมิที่ 1.5 องศาเซลเซียสและ 2 องศาเซลเซียสเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนและหลายปีข้างหน้า” เบอร์เกสบอกกับ CNN
แต่โลกอาจร้อนขึ้นได้มากถึง 2.9 องศาเซลเซียส
องค์การสหประชาชาติ (UN) เตือนว่าภูมิอากาศของโลกอาจร้อนขึ้นได้มากถึง 2.9 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ แม้ว่าประเทศต่างๆ จะบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 ก็ตาม
รายงานการปล่อยมลพิษที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (20 พ.ย.) ที่ผ่านมาระบุว่า “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1.2% ในปี 2022 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 57.4 พันล้านตัน
“การปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันอย่างเต็มที่จะยังคงทำให้โลกอยู่ในแนวทางในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในศตวรรษนี้ให้อยู่ระหว่าง 2.5-2.9 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม…เพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนให้น้อยกว่า 1.5 องศาเซลเซียส การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจะต้องลดลง 42% ในปี 2030” รายงานระบุ
นอกจากนี้ รายงานยังบอกอีกว่า “ปีนี้มีอุณหภูมิสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมไปแล้ว 86 วัน โดยเดือนกันยายนปีนี้เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมาซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 1.8 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม”
ทั้งนี้ รายงานระบุว่าการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ‘COP28’ ที่กำลังจะมีขึ้นซึ่งจะเริ่มปลายเดือนนี้จะเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่จะเรียกร้องให้นานาชาติให้การสนับสนุนเพื่อกำหนดเป้าหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศให้มากขึ้น
Photo by CRISTINA QUICLER / AFP