เม่นทะเลถือเป็นอาหารชั้นเลิศในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ ในญี่ปุ่นที่เรียกว่า “อูนิ” ในนิวซีแลนด์ที่เป็นอาหารท้องถิ่นของชาวเมารีที่เรียกว่า “คินา” รวมทั้งในแคว้นซิซิลีของอิตาลี ที่ “สปาเก็ตตี้เม่นทะเล” หรือ spaghetti ai ricci di mare เป็นหนึ่งในอาหารขึ้นชื่อที่ร้านอาหารแทบจะทุกร้านเสิร์ฟขึ้นโต๊ะให้บรรดานักท่องเที่ยวได้ชิมกันในช่วงซัมเมอร์ของทุกๆ ปี
แต่อาหารจานนี้อาจจะไม่มีให้ลิ้มลองกันแล้ว เพราะเม่นทะเลสีม่วง (Paracentrotus lividus) ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของสปาเก็ตตี้เม่นทะเลกำลังหายไปจากน่านน้ำของอิตาลีที่ละน้อยๆ
สถานการณ์น่าเป็นห่วงถึงขั้นที่นักวิจัยเตือนว่าเม่นทะเลซิซิลีซึ่งอาศัยอยู่บนพื้นทะเลและกินสาหร่ายเป็นอาหารอาจสูญพันธุ์ไปเลยหากยังไม่มีมาตรการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วนจากทางรัฐบาล
หลังจากมีคำเตือนออกมา นักการเมืองท้องถิ่นได้เสนอให้ออกกฎห้ามจับเม่นทะเลในซิซิลีเป็นเวลา 3 ปี เพื่อให้ประชากรเม่นทะเลได้ฟื้นตัว แต่ข้อเสนอนี้ได้รับเสียงคัดค้านจากทั้งชาวประมงและบรรดาเจ้าของร้านอาหาร
กาเอตาโน เซริโอ เชฟจากร้าน Osteria Lo Bianco ในเมืองปาแลร์โมเผยว่า “ผมเข้าใจว่าจำเป็นต้องมีการอนุรักษ์เม่นทะเล แต่อีกแง่หนึ่งการห้ามจับเม่นทะเลในซิซิลี 3 ปีถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับพวกเราทำอยู่ในอุตสาหกรรมร้านอาหาร ถ้ามีสปาเก็ตตี้เม่นทะเลในเมนู เราขายได้วันละไม่ต่ำกว่า 40 จาน”
อันที่จริงซิซิลีมีกฎจำกัดการจับเม่นทะเลบังคับใช้อยู่แล้ว แต่น่าเสียดายที่ยังบังคับใช้ไม่เข้มงวดมากนัก นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยปาแลร์โมบอกว่ามีชาวประมงเพียง 12 คนที่มีใบอนุญาตจับเม่นทะเล ส่วนอีกหลายร้อยคนที่เหลือจับเม่นทะเลผิดกฎหมายซึ่งวิธีก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เนื่องจากเม่นทะเลอาศัยอยู่ในที่ที่น้ำไม่ลึกมาก ซึ่งวิธีการเหล่านี้อาจสร้างความเสียหายได้มากมาย
ผลการวิจัยของนักวิจัยในอิตาลีที่เสนอต่อรัฐบาลระบุว่า หนทางเดียวที่จะหยุดการสูญพันธุ์ของเม่นทะเลคือ หยุดจับเม่นทะเลโดยสิ้นเชิงอย่างน้อย 3 ปี
“เราไม่เห็นเม่นทะเลหรือสัญญาณของประชากรของเม่นทะเลจำนวนมากในเขตพื้นที่ปกป้องสัตว์น้ำของซิซิลีเลย หากต้องการอนุรักษ์เม่นทะเลเราต้องหยุดการจับอย่างน้อย 3 ปี” ปาโอลา จานกุซซา ผู้ประสานงานด้านวิทยาศาสตร์ของการวิจัยเม่นทะเลเผย
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า เม่นทะเลสีม่วง (Paracentrotus Lividus) อ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมและได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศและมลพิษอย่างต่อเนื่อง ทว่าในซิซิลีสถานะการเป็นอาหารชั้นเลิศของเม่นทะเลกำลังทำให้เม่นทะเลที่นั่นลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ
มาร์โก ทอคคาเชลี จากสภาการวิจัยเพื่อการเกษตรและเศรษฐกิจ (CREA) ซึ่งเป็นองค์การวิจัยชั้นนำของอิตาลีเผยว่า “ในซิซิลีเม่นทะเลตกเป็นเหยื่อของการประมงผิดกฎหมายอย่างหนักเพราะมีคุณค่าทั้งทางโภชนาการและทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดขึ้น”

ขณะที่ แอนเจโล พูมิเลีย เชฟจาก Foresteria Planeta ไวน์รีสอร์ตทางตะวันตกเฉียงใต้ของซิซิลี เรียกร้องให้ตระหนักถึงความเสี่ยงของการจับเม่นทะเลผิดกฎหมาย โดยบอกว่าเพื่อนเชฟหลายคนของเขาเลือกซื้อเม่นทะเลจากชาวประมงผิดกฎหมายซึ่งขายในราคาถูกมาก
พูมิเลียหนึ่งในเชฟชื่อดังของอิตาลียกตัวอย่างว่า ลองคิดดูว่าเม่นทะเลสดๆ จากนอร์เวย์หรือญี่ปุ่น 100 กรัมราคาสูงถึง 250 ยูโร (9,620.50 บาท) ต่อกรัม แต่ชาวประมงผิดกฎหมายในซิซิลีขายให้เจ้าของร้านอาหารในราคาเพียง 7 หรือ 10 ยูโร (269.32 หรือ 384.75 บาท) ต่อ 100 กรัม
เชฟรายนี้ยังบอกอีกว่า มีช่องทางที่จะซื้อเม่นทะเลอย่างถูกกฎหมาย แต่มันแพงเกินไปสำหรับร้านอาหารหลายๆ ร้าน
“พวกเราที่ทำอาหารมีคุณภาพและตามรอยที่มาของวัตถุดิบทุกอย่าง ซื้อเม่นทะเลจากต่างประเทศ เพราะที่ซิซิลีกฎหมายเกี่ยวกับเม่นทะเลคลุมเครือและไม่สมบูรณ์ เราต้องมีความตระหนักไม่อย่างนั้นเราอาจไม่มีอาหารชั้นเลิศของภูมิภาคอีกต่อไป”
ญี่ปุ่นก็เจอแบบเดียวกัน
ที่ฮอกไกโดซึ่งเป็นแหล่งอูนิขึ้นชื่อของญี่ปุ่นก็เคยเผชิญสถานการณ์คล้ายกับที่ซิซิลี เมื่อช่วงปลายปี 2021 จู่ๆ “ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี” (red tide) หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ ที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของแพลงก์ตอนพืชก็เกิดขึ้นนอกชายฝั่งฮอกไกโด ซึ่งปกติปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นประจำทางฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น แต่ปีนั้นฮอกไกโดได้รับผลกระทบเป็นครั้งแรก โดยผู้ว่าการฮอกไกโดถึงกับออกปากว่า เป็นวิกฤตในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีทำให้เม่นทะเลและแซลมอนตายเป็นเบือ ส่งผลให้ราคาขายปลีกพุ่งขึ้นทั่วญี่ปุ่น เม่นทะเลและแซลมอนที่มาจากฮอกไกโดราคาพุ่งขึ้น 2 เท่า หรือบางเจ้าก็ 3 เท่า ส่งผลให้ร้านซูชิหลายๆ ร้าน รวมทั้งซูชิสายพานชื่อดังต้องขึ้นราคาอาหารไปตามๆ กัน นอกจากนี้ยังกระทบกับการทำประมงในช่วงฤดูใบไม้ร่วงซึ่งเป็นช่วงพีค สร้างความเสียหายเกือบ 10 ล้านเยน
ในส่วนของวิทยาศาสตร์นั้น นักวิจัยเองก็ยังมึนงง เพราะปกติแม้ว่าปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีจะเกิดขึ้นเป็นปกติทางฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น โดยเฉพาะนอกชายฝั่งเกาะฮนชูในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน แต่ไม่เคยเกิดขึ้นแถวฮอกไกโดมาก่อน ช่วงแรกๆ จึงมีการตั้งทฤษฎีว่าเป็นเพราะอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นของน้ำทะเลนอกชายฝั่งของฮอกไกโดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพราะคลื่นความร้อนที่รุนแรงในฤดูร้อนปีนั้นทำให้อุณหภูมิในญี่ปุ่นสูงขึ้น และนำมาสู่การเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืชที่ทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนสี
แต่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยในฮอกไกโดพบว่า ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีในปีนั้นเกิดจากแพลงก์ตอนที่เจริญเติบโตได้ดีในน้ำเย็นไม่ใช่น้ำอุ่น
เม่นทะเลเสี่ยงสูญพันธุ์จริงหรือ?
เม่นทะเลที่กินได้ของยุโรป (Echinus esculentus) ถูกระบุให้อยู่ในประเภท “เกือบเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์” (Near Threatened) ในบัญชีแดงสปีชีส์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ประชากรของเม่นทะเลสีม่วง (Paracentrotus lividus) ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนยังลดลงอย่างหนัก ซึ่งคาดว่าอาจได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น โรค และถูกมนุษย์จับกินมากเกินไป
โลกร้อนกระทบเม่นทะเลยังไง?
เม่นทะเลอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ดังนั้นจึงเป็นเหมือนระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับปัญหาที่อาจกิดขึ้นกับระบบนิเวศ เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้น
ฮิวจ์ คาร์เตอร์ ภัณฑารักษ์ด้านสัตว์ทะเลของพิพิธภัณฑ์ Natural History Museum ของอังกฤษเผยว่า “ภาวะทะเลเป็นกรดและอุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจเป็นภัยคุกคามระยะยาวต่อเม่นทะเล” เพราะภาวะทะเลเป็นกรดที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มอัตราการละลายของแคลเซียมคาร์บอเนต ยิ่งเป็นกรด เม่นทะเลก็ยิ่งสะสมแคลเซียมคาร์บอเนตที่ใช้สร้างเปลือกที่แข็งแรงได้ยากขึ้น และเปลือกของมันก็จะยิ่งบางลงและอ่อนลง โดยการทดลองในห้องแล็บแสดงให้เห็นแล้วว่ากรณีดังกล่าวเกิดขึ้นได้แม้ความเป็นกรดเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น