ลงนามเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับสหรัฐฯ และยูเครนในข้อตกลงจัดการแร่ธาตุของยูเครนเมื่อวันพุธ (30 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งนั่นจะทำให้สหรัฐฯ สามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติบางส่วนของยูเครนได้
ข้อตกลงนี้จะจัดตั้งกองทุนลงทุนเพื่อฟื้นฟูประเทศยูเครนซึ่งใช้เวลาดำเนินการหลายเดือนในการจัดตั้ง โดยยูเครนหวังว่ากองทุนนี้จะช่วยรับประกันความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในระหว่างที่ประเทศกำลังต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซียเป็นเวลานานกว่า 3 ปี
และนี่คือสาระสำคัญ 7 ประการของข้อตกลงนี้
1. ยูเครนไม่ต้องคืนเงินที่สหรัฐฯ เคยให้ในสมัย โจ ไบเดน
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เรียกร้องให้ยูเครนจ่ายเงินคืน 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 11 ล้านล้านบาท) ที่ทรัมป์อ้างว่าสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือในช่วงสงคราม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เซเลนสกีปฏิเสธ
แต่ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ จะยอมทำตาม โดยนายกฯ เดดนิส ชไมฮาลของยูเครนกล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้ประเทศของเขาต้องชำระหนี้คืนแต่อย่างใด
ทรัมป์มองว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นชัยชนะสำหรับฝ่ายเขาด้วยเช่นกัน โดยกล่าวว่าประเทศของเขาจะ ‘ได้รับคืนมากกว่าในทางทฤษฎี’ มากกว่าเงินหลายพันล้านดอลลาร์ที่ โจ ไบเดน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ มอบให้แก่ยูเครน
2. สหรัฐฯ มีท่าทีแข็งกร้าวต่อปูตินมากขึ้น
ภาษาที่สหรัฐฯ ใช้ในการประกาศข้อตกลงนั้น ‘รุนแรง’ ต่อรัสเซียมากกว่าที่รัฐบาลทรัมป์เคยใช้โดยทั่วไป ข้อตกลงดังกล่าวอ้างถึง ‘การรุกรานเต็มรูปแบบของรัสเซีย’ ขณะที่กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เสริมว่า “รัฐหรือบุคคลใดๆ ที่ให้การสนับสนุนทางการเงิน หรือจัดหาเครื่องจักรสงครามให้กับรัสเซียจะ ‘ไม่ได้รับอนุญาต’ ให้ได้รับประโยชน์จากการฟื้นฟูยูเครน”
สิ่งนี้จะเป็นกำลังใจแก่ยูเครน ซึ่งเรียกร้องให้เพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซียในการเจรจาระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ เกี่ยวกับ ‘การหยุดยิง’ ที่อาจเกิดขึ้น
3. น้ำมันและก๊าซรวมอยู่ในดีลแร่ธาตุ
แม้ว่าการพูดคุยส่วนใหญ่เกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับความมั่งคั่งจากแร่ธาตุของยูเครน แต่ข้อตกลงนี้ยังรวมถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และไฮโดรคาร์บอนอื่นๆ ด้วย
ในทุกกรณี ทรัพยากรยังคงเป็นของยูเครน แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีสิทธิ์เข้าถึงร่วมกันก็ตาม การรวมน้ำมันและก๊าซเข้าไว้ด้วยกันถือเป็นการผ่อนปรนจุดยืนของยูเครน เนื่องจากเงื่อนไขดังกล่าวไม่ปรากฏในร่างข้อตกลงก่อนหน้านี้
เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า พวกเขาเชื่อว่าจะสามารถสร้าง ‘มูลค่าเพิ่ม’ ได้จากทรัพยากรเหล่านี้หากการสู้รบยุติลงโดยเร็ว
4. ยูเครนเข้าร่วม ‘สหภาพยุโรป’ ได้โดยไม่มีอุปสรรค
ยูเครนปรารถนาที่จะเข้าร่วมสหภาพยุโรปมานานแล้ว และการเจรจาเข้าร่วมอย่างเป็นทางการได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ยูเครนมีข้อกังวลบางประการว่าข้อตกลงด้านทรัพยากรอาจขัดขวางยูเครนในการเข้าร่วมสหภาพยุโรปได้หากให้การปฏิบัติ่เป็นพิเศษแก่ผู้ลงทุนจากสหรัฐฯ เนื่องจากยูเครนและบรัสเซลส์มีหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านวัตถุดิบอยู่แล้ว
แต่ข้อความในข้อตกลงระบุว่า “สหรัฐฯ รับทราบถึงเจตนาของยูเครนที่จะเข้าร่วมสหภาพยุโรป และความจำเป็นที่ข้อตกลงนี้จะต้องไม่ขัดแย้งกับเรื่องดังกล่าว” นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า “หากยูเครนจำเป็นต้องพิจารณาเงื่อนไขข้อตกลงใหม่เนื่องจากมี ‘ภาระผูกพันเพิ่มเติม’ ในการเข้าร่วมสหภาพยุโรป สหรัฐฯ ก็ตกลงที่จะเจรจาด้วยความสุจริตใจ”
ยูเครนยังบอกอีกว่า สหรัฐฯ จะสนับสนุนการถ่ายโอนการลงทุนและเทคโนโลยีเพิ่มเติมในยูเครน รวมถึงจากสหภาพยุโรปและที่อื่นๆ
5. ความมุ่งมั่นทางทหารของสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในโต๊ะเจรจาอีกครั้ง...
สหรัฐฯ เผยว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่สำคัญที่ต้องลงนาม หากยูเครนต้องการรับความช่วยเหลือทางทหารต่อไป
ยูเลีย สวิริเดนโก รองนายกฯ อันดับหนึ่งยูเครน ซึ่งบินไปวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อลงนามข้อตกลง กล่าวว่า สหรัฐฯ คาดว่าอาจให้ความช่วยเหลือใหม่ๆ ในอนาคต เช่น ระบบป้องกันภัยทางอากาศ
นี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ของทรัมป์เช่นกัน ซึ่งเขาพยายามที่จะยุติการสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครนตั้งแต่กลับเข้าทำเนียบขาว แต่คำถามที่ยังค้างคาใจประการหนึ่งคือ ในท้ายที่สุดแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวจะมีความหมายอย่างไรต่อสถานการณ์สงคราม ขณะที่รัสเซียยังไม่ตอบสนองต่อข้อตกลงดังกล่าว
6. ...แต่สหรัฐฯ สามารถถอนตัวได้ทุกเมื่อ
ดูเหมือนว่าจะไม่มีการรับประกันความปลอดภัยที่เป็นรูปธรรมจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยูเครนและยุโรปกดดันให้ทำเนียบขาวทำมานานแล้ว
ทรัมป์ลังเลที่จะให้คำมั่นทางทหารเช่นเดียวกับที่ไบเดนให้มานานแล้ว แต่ความสนใจของเขาที่จะดำเนินต่อไปตามเส้นทางที่มีการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อยูเครนนั้นเป็นไปในทางอ้อม เนื่องมาจากพันธกรณีทางเศรษฐกิจที่ระบุไว้ในข้อตกลงนี้ นั่นหมายความว่ายังคงมีความเปราะบางเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของยูเครน
7. กำไรจากกองทุนจะถูกนำ ‘กลับไปลงทุนใหม่’ ในยูเครน?
ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งที่รัฐบาลยูเครนเน้นย้ำคือ ในช่วงทศวรรษแรกของกองทุนการลงทุนเพื่อการฟื้นฟูนั้น กำไรจะถูก ‘นำไปลงทุนซ้ำทั้งหมดในเศรษฐกิจของยูเครน’ ไม่ว่าจะเป็นในโครงการใหม่ หรือการฟื้นฟู
สิ่งนี้อาจมีความสำคัญอย่างยิ่งหากสหรัฐฯ ไม่ได้รับประโยชน์ทางการเงินเป็นเวลา 10 ปี อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ปรากฏอยู่ในข้อตกลงที่ลงนามในกรุงวอชิงตัน แม้ว่าในภายหลังอาจเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลง ‘ทางเทคนิค’ เพิ่มเติม ขณะที่รองนายกฯ อันดับหนึ่งยูเครน ยูเลีย สวีรีเดนโก โพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า “เงื่อนไขเหล่านี้จะต้องหารือกันต่อไป”
หลังจากช่วงระยะเวลาเริ่มต้น 10 ปีดังกล่าว ยูเครนกล่าวว่ากำไรอาจจะถูกแบ่งระหว่างหุ้นส่วน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ สก็อตต์ เบสเซนต์ เผยกับสำนักข่าว Fox News เมื่อช่วงดึกของวันพุธ (30 เม.ย.) ว่า “ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นสัญญาณไปยังประชาชนชาวอเมริกันว่า เรามีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมได้รับเงินทุนและอาวุธบางส่วน รวมถึงการชดเชยค่าใช้จ่ายต่างๆ และเป็นหุ้นส่วนกับความสำเร็จของประชาชนชาวยูเครน”
สตีเฟน มิลเลอร์ รองเสนาธิการกองทัพสหรัฐฯ กล่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันพฤหัสบดี (1 พ.ค.) ว่า “ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการ ‘ชำระคืน’ แก่สหรัฐสำหรับเงินหลายแสนล้านดอลลาร์ที่ผู้เสียภาษีของเราสงสัยว่าเป็นเงินสนับหนุนสงคราม”
(Photo by Handout / UKRAINIAN PRESIDENTIAL PRESS SERVICE / AFP)