ปัจจุบันผู้ค้าบริการทางเพศในเบลเยียมมีสิทธิลาป่วยไข้ ลาคลอดบุตร สิทธิในการรับเงินบำนาญ และสิทธิประโยชน์การจ้างงานอื่นๆ ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งถือเป็นฉบับแรกของโลก
ภายใต้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา อนุญาตให้ผู้ค้าบริการทางเพศทำสัญญาจ้างและได้รับสิทธิคุ้มครองทางกฎหมายเช่นเดียวกับพนักงานคนอื่นๆ รวมถึงได้เงินบำนาญ เงินช่วยเหลือการว่างงาน และได้รับวันหยุดพักร้อนประจำปีด้วย
ผู้ค้าบริการทางเพศยังมีสิทธิปฏิเสธที่จะให้บริการแก่ลูกค้า หรือกระทำการทางเพศบางอย่าง รวมไปถึงหยุดกิจกรรมใดๆ ก็ได้ในเวลาใดก็ได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกไล่ออก หรือถูกลงโทษ
นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้ผู้ว่าจ้างผู้ค้าบริการทางเพศต้องจัดหาถุงยางอนามัย ผ้าปูที่นอนที่สะอาด และปุ่มสัญญาณเตือนภัยฉุกเฉินในห้องพักของผู้ค้าบริการทางเพศ รวมถึงหน้าที่อื่นๆ
“นี่เป็นครั้งแรกของโลกในแง่ที่ว่านี่เป็นกรอบกฎหมายครอบคลุมฉบับแรกที่ให้สิทธิเท่าเทียมกับพนักงานบริการทางเพศ (กับพนักงานคนอื่นๆ) และปกป้องพวกเขาจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับ (งาน)” ดาน เบาเวนส์ ผู้อำนวยการสหภาพแรงงานทางเพศแห่งเบลเยียมบอกกับสำนักข่าว CNN
“เราสามารถพูดได้ว่านี่เป็นวันแรกของยุคใหม่” เควนติน เดลทัวร์ ผู้ช่วยร่างกฎหมายดังกล่าว เผยกับ CBS News
ที่ผ่านมา ผู้ค้าบริการทางเพศทั่วโลกต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ
ตามข้อมูลของ ‘Global Network of Sex Work Projects’ สมาคมระหว่างประเทศของกลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศ ระบุว่า แม้ว่าจะมีบางประเทศที่ออกกฎหมายอนุญาตให้การค้าบริการทางเพศถูกกฎหมาย เช่น เยอรมนี กรีซ ตุรกี และเนเธอร์แลนด์ แต่ในประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ การซื้อ หรือค้าบริการทางเพศ หรือทั้งสองอย่างยังคงผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับใหม่ไม่ได้ครอบคลุมถึงผู้ค้าบริการทางเพศทุกประเภท ตัวอย่างเช่น กฎหมายดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงผู้ที่ทำงานอิสระ ไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์ หรือในหนังโป๊
“นี่คือจุดอ่อน แต่อย่างน้อยมันก็เป็นก้าวแรก...ตอนนี้เรากำลังจะต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้อื่น” เดลทัวร์ กล่าว
“มันเป็นโอกาสสำหรับเราที่จะดำรงอยู่ในฐานะมนุษย์ ฉันต้องทำงานในขณะที่ตั้งท้อง 9 เดือน ฉันมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้า 1 สัปดาห์ก่อนคลอดลูก...ฉันไม่สามารถหยุดได้เพราะฉันต้องการเงิน” โซฟี หญิงโสเภณีในเบลเยียม เล่า พร้อมเสริมว่า เธอต้องทำงานของเธอควบคู่ไปกับการเป็นแม่ของลูก 5 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่ ‘ยากมาก’ และชีวิตของเธอคงจะง่ายกว่านี้มากหากเธอมีสิทธิลาคลอดโดยได้รับเงินจากนายจ้าง
AFP / CHANDAN KHANNA