กำแพงกั้นน้ำท่วมสุดเจ๋งแบบที่โรงแรมแชงกรี-ลาเชียงใหม่ใช้มีแบบไหนบ้าง?

7 ต.ค. 2567 - 11:29

  • SPACEBAR พาส่องอุปกรณ์กั้นน้ำท่วมสุดเจ๋งแบบที่ ‘โรงแรมแชงกรี-ลาเชียงใหม่’ ใช้มีแบบไหนบ้าง?

shangri-la-chiangmai-flood-barriers-SPACEBAR-Hero.jpg

เชียงใหม่ประสบกับเหตุน้ำท่วมซ้ำอีกครั้งเป็นรอบที่ 2 เมื่อคืนวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา หลายพื้นที่เจอน้ำป่าไหลหลากและแม่น้ำปิงเอ่อล้นท่วมสูงกว่า 1 เมตรทุบสถิติประวัติศาสตร์ในรอบ 50 ปี แม้จะมีกระสอบทรายกั้นน้ำหลายชั้นแต่ก็ไม่สามารถต้านมวลกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวได้ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ในเมืองบางส่วน รวมถึงในอำเภอสารภีที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก 

แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้มีหลายคนหยิบประเด็นนี้มาพูดในโซเชียลมีเดียกันถึงการชื่นชมแบริเออร์กั้นน้ำบริเวณหน้า ‘โรงแรมแชงกรี-ลา เชียงใหม่’ ที่ตั้งอยู่บนถนนช้างคลาน ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง เนื่องจากแบริเออร์ที่ทำจากเหล็กดังล่าวไม่ปล่อยให้น้ำทะลักเข้าไปในตัวโรงแรมแม้แต่หยดเดียว ถือเป็นตัวอย่างของการเตรียมตัวรับมือน้ำท่วม และการบริการให้ความสะดวกแก่ลูกค้าได้อย่างเป็นเลิศ แถมยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมด้วย 

SPACEBAR พาไปดูแบริเออร์ หรือกำแพงกั้นน้ำที่มี ‘ประสิทธิภาพ’ ว่ามีอะไรบ้าง... 

-Water Gate-

‘Water Gate’ เป็นระบบควบคุมน้ำท่วมแบบตอบสนองรวดเร็ว เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะที่พองลมได้เองด้วยการใช้แรงดันของน้ำท่วม แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าและมีน้ำหนักเบากว่ากระสอบทราย แต่ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับการป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วม และสามารถติดตั้ง หรือถอดอุปกรณ์ดังกล่าวออกได้ด้วยตัวคนเดียวภายในเวลาไม่กี่นาที นอกจากนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้นานถึง 25 ปีอีกด้วย 

หลังจากคลี่ Water Gate ออกวางบนพื้น กำแพงกั้นน้ำดังกล่าวจะกางออกเอง และปรับความสูงตามระดับน้ำที่สูงขึ้น หรือลดลง อธิบายหลักการให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ น้ำจะไหลเข้าไปสะสมที่ด้านล่างของกำแพง เมื่อระดับน้ำสูงขึ้น กำแพงจะขยายออกและพองตัวขึ้นนั่นเอง 

ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่พัฒนา Water Gate เช่น Water innovation group, Flood Protection Solutions, Hydro Response เป็นต้น โดยราคาจากบริษัท Flood Protection Solutions อยู่ที่ 1,030-9515 ปอนด์ (ราว 4.5 หมื่น-4.17 แสนบาท) 

-Quick Dam-

‘Quick Dam’ ถุงกันน้ำเป็นอีกหนึ่งแผงกั้นน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพ อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นเหมือนกระสอบทรายแต่ไม่มีทรายอยู่ข้างใน เพราะทำจากโพลีเมอร์ดูดซับน้ำ มี 2 แบบ : 

  • ถุงแบบกระสอบทราย 
  • กำแพงกั้นแบบยาว 

กระบวนการของมันก็คือ ถุงกันน้ำจะขยายตัวขึ้นเป็นกำแพงเมื่อสัมผัสกับน้ำ (โดยทั่วไปใช้เวลา 10 นาที) ติดตั้งง่าย ดูดซับกักเก็บน้ำได้ดี และป้องกันน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถวางซ้อนกันเป็นอิฐได้สูงถึง 3 ชั้น และสามารถวางกั้นเพื่อเบี่ยงทางการไหลของน้ำออกจากบ้าน หรือประตูทางเข้าด้วยเช่นเดียวกัน 

อุปกรณ์ดังกล่าวได้รับการพัฒนาโดยบริษัท ‘Absorbent Specialty Products’ มีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี แพร่หลายมากในอเมริกาเหนือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่าช่องทางการจำหน่ายของ Quick Dam เติบโตขึ้นจนพบเจอได้ตามร้านค้าปลีกอุปกรณ์ปรับปรุงบ้านรายใหญ่ทุกแห่ง เช่น Home Depot, Lowe's Companies, Rona รวมถึงร้านค้าขนาดใหญ่อย่าง Amazon store เป็นต้น 

สำหรับราคานั้นมีหลายราคาขึ้นอยู่กับขนาดของถุง หรือกำแพงกั้นน้ำท่วม 

-Noaq Boxwall / NOAQ Tubewall-

‘Noaq Boxwall’ และ ‘NOAQ Tubewall’ กำแพงป้องกันน้ำท่วมแบบเคลื่อนย้ายได้ อุปกรณ์ทั้ง 2 ประเภทได้รับการออกแบบให้ถ่วงน้ำหนักโดยอัตโนมัติและยึดอยู่กับที่ตามมวลน้ำหนักของน้ำท่วมเอง ทำให้แผงกั้นยึดติดแน่นและมั่นคง เราเรียกการออกแบบนี้ว่า ‘หลักการกั้นขอบ’ ด้วยวิธีนี้ เราจึงสามารถสร้างแผงกั้นที่มีน้ำหนักเบามากได้ แผงกั้นเหล่านี้มีน้ำหนักน้อยกว่า 1% ของกระสอบทราย และสร้างได้เร็วกว่า 100 เท่า 

สำหรับแผงกั้น NOAQ Boxwall นั้นมีความสูง 50 ซม. มีน้ำหนักไม่เกิน 7 กก. โดยแผงกั้นยาว 100 เมตรนั้นสามารถสร้างเสร็จได้ด้วยคน 2 คนในเวลาไม่ถึง 24 นาที 

อุปกรณ์ดังกล่าวถือเป็นทางเลือกใหม่ที่ทันสมัยเพียงแค่วางเรียงต่อๆ กันเหมือนกำแพงโดยที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ ติดตั้ง เหมาะสำหรับสภาพแวดล้อมในเมืองและพื้นผิวต่างๆ ได้ทั้งพื้นยางมะตอย ถนนลาดยาง หรือพื้นคอนกรีต เป็นต้น 

ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่พัฒนาเช่น NOAQ Flood Protection AB ของสวีเดน, Bluemont จากนิวซีแลนด์ เป็นต้น สำหรับราคาจะอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาท 

-SLAM DAM-

‘SLAM DAM’ เป็นเทคโนโลยีนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นโดย ‘SLAMDAM Dutch easymovable dam’ บริษัทในประเทศเนเธอร์แลนด์และมีต้นทุนต่ำ เป็นแผงกั้นฉุกเฉินแบบเคลื่อนที่ความยาว 100 เมตร มีความยืดหยุ่นสูงสามารถติดตั้งบนพื้นผิวใดๆ ก็ได้ ใช้ต้านทานน้ำท่วมได้ดี แถมยังติดตั้งได้ง่ายด้วยคน 2 คนในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังใช้กักเก็บน้ำและของเหลวอื่นๆ ได้ในยามที่เกิดภัยแล้งด้วย 

ราคาโดยประมาณอยู่ที่ 1,350 ยูโร (ราว 49,000 บาท) 

-Aquobex-

‘Aquobex’ จากบริษัท ‘Apex Flood Solutions’ หนึ่งในอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมชั้นเลิศและเป็นที่นิยมสำหรับยึดกับประตูและหน้าต่าง รวมถึงจุดที่น้ำมักจะรั่วซึมเข้ามา มักถูกนำมาใช้เป็นแนวป้องกันด่านแรกช่วยป้องกันน้ำที่ไหลเข้ามา และหยุดน้ำหรือเปลี่ยนเส้นทางการไหล แผงกั้นดังกล่าวมีน้ำหนักเบาและนำกลับมาใช้ใหม่ได้     

ราคาโดยประมาณอยู่ที่ 525 ปอนด์ (ราว 23,000 บาท) 

-AquaFence-

แผงกั้นน้ำท่วม ‘AquaFence’ ซึ่งถูกนำมาใช้ใน ‘โรงพยาบาลแทมปา’ ที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกในรัฐฟลอริดาได้ใช้แผงกั้นน้ำท่วมสูงหลายเมตรจากบริษัทนอร์เวย์ในช่วงที่เกิดพายุเฮอริเคนเฮเลนเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้น้ำไม่สามารถทะลักเข้าท่วมพื้นที่ในโรงพยาบาลได้ 

แผงกั้นน้ำท่วมของ AquaFence สามารถปรับความสูงได้ตั้งแต่ 0.75-2.7 เมตร โครงสร้างของแผงกั้นจะกางออกได้โดยอาศัยแรงดันจากน้ำท่วมแบบที่ไม่ต้องใช้วัสดุอย่างทรายมาถมเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ใช้งานง่าย ติดตั้งรวดเร็ว และสามารถเคลื่อนย้ายระหว่างสถานที่ต่างๆ ได้ตามความต้องการ แถมยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้มากกว่า 60 ครั้ง 

สำหรับราคาโดยประมาณอยู่ที่ 300-700 ดอลลาร์สหรัฐ / ฟุต (ราว 10,000-23,000 บาท)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์