ร้านอาหารในชิบุยะนำร่องคิดราคานักท่องเที่ยวแพงกว่าคนท้องถิ่น

11 พ.ค. 2567 - 02:00

  • โดยปกติร้านอาหารแนวบุฟเฟ่ต์ ราคาต่อหัวจะแตกต่างกันอยู่แล้วขึ้นอยู่กับช่วงเวลา แต่ร้านนี้ไม่เหมือนร้านอื่น หากเป็นคนในท้องถิ่นจะคิดราคาถูกกว่า ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะต้องจ่ายแพงกว่า

  • ประเด็นเรื่อง “ราคานักท่องเที่ยว” กลายเป็นเรื่องถกเถียงเป็นวงกว้างในอุตสาหกรรมร้านอาหารของญี่ปุ่น เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมหาศาล

shibuya-restaurant-charges-higher-prices-foreign-tourists-than-locals-SPACEBAR-Hero.jpg

สายเที่ยวญี่ปุ่นอาจจะต้องเตรียมตัวควักกระเป๋าเพิ่มสำหรับร้านอาหารบางร้านที่มีแผนปรับราคาขึ้นเฉพาะกับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะ อย่างร้าน Tamatebako ร้านอาหารทะเลแบบบุฟเฟ่ต์เปิดใหม่ในย่านชิบุยะซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแลนด์มาร์กสำคัญอย่างสี่แยกชิบุยะมากนัก 

โดยปกติร้านอาหารแนวบุฟเฟ่ต์แบบนี้ราคาต่อหัวจะแตกต่างกันอยู่แล้วขึ้นอยู่กับช่วงเวลา เช่น วันธรรมดากับช่วงมื้อกลางวันจะราคาถูกกว่าช่วงกลางคืนและวันหยุด แต่ที่ไม่เหมือนกับร้านอื่นๆ คือ การตั้งราคาของร้าน Tamatebako ยังขึ้นอยู่กับว่าลูกค้ามาจากไหนด้วย หากเป็นคนในท้องถิ่นจะคิดราคาถูกกว่า ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะต้องจ่ายแพงกว่า เช่น มื้อกลางวันของวันธรรมดาจะอยู่ที่ 5,478 เยนสำหรับคนญี่ปุ่น และ 6,578 เยนสำหรับชาวต่างชาติ ส่วนดินเนอร์ของวันศุกร์ วันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดยาวจะอยู่ที่ 7,678 เยนสำหรับคนท้องถิ่น และ 8,778 เยนสำหรับชาวต่างชาติ

shibuya-restaurant-charges-higher-prices-foreign-tourists-than-locals-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ช็อปปิ้งสตรีทของย่านอาซากุสะ ใกล้กับวัดเซนโซจิ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในกรุงโตเกียว Photo by Philip FONG / AFP

ช่วงนี้ประเด็นเรื่อง “ราคานักท่องเที่ยว” กลายเป็นเรื่องถกเถียงเป็นวงกว้างในอุตสาหกรรมร้านอาหารของญี่ปุ่น เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมหาศาล ทั้งจากการเปิดประเทศหลังการระบาดของโควิด-19 และอานิสงส์ของเงินเยนที่อ่อนค่าสู่จุดต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ทำให้การไปเที่ยวญี่ปุ่นเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ราคาเอื้อมถึงสำหรับใครหลายคน 

เมื่อค่าเงินเยนอ่อนนักท่องเที่ยวหลายคนจึงใช้จ่ายเงินเต็มที่ ผลอย่างหนึ่งก็คือ ร้านอาหารบางร้านขายสินค้าหรืออาหารในราคาที่คนญี่ปุ่นเองรู้สึกว่าแพงหรือราคาสูงเกินจริง แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังจับจ่ายใช้เงินกับสิ่งเหล่านี้ตามปกติ 

นอกจากนี้ เงินเยนที่อ่อนค่าลงยังทำให้อำนาจซื้อของคนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นและรับเงินเดือนเป็นเงินเยนลดลงไปด้วย บรรดาร้านอาหาร ผู้ผลิตอาหาร ผู้ผลิตของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างกระดาษชำระ น้ำยาซักผ้า ต่างก็พร้อมใจกันขึ้นราคา แต่เนื่องจากญี่ปุ่นมีอัตราเงินเฟ้อแทบจะเป็นศูนย์มาอย่างยาวนาน แนวคิดเรื่องการขึ้นเงินเดือนพนักงานตามค่าครองชีพจึงไม่เกิดขึ้น นั่นเท่ากับว่าคนญี่ปุ่นมีเงินในกระเป๋าน้อยลงสวนทางกับราคาสินค้า 

ด้วยเหตุนี้ โชโก โยเนมิสึ เจ้าของร้าน Tamatebako จึงตั้งราคาร้านอาหารเป็น 2 ราคา ราคาหนึ่งสำหรับคนญี่ปุ่น และอีกราคาหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเจ้าตัวเผยว่า “ผมรู้ว่าไม่ใช่ทุกคนจะสนับสนุนการตั้งราคาแบบนี้” และว่า การตั้งราคานี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ร้านอาหารหรือเครือร้านอาหารใหญ่ๆ จะทำได้ แต่สำหรับร้านเล็กๆ เขามองว่าควรทำ 

สำหรับราคาอาหารของร้านนี้ ระหว่างราคาที่สูงกว่าสำหรับชาวต่างชาติ กับราคาสำหรับท้องถิ่นที่ต่ำกว่า ราคาที่สูงกว่าคือราคาอย่างเป็นทางการ โดยราคาที่ต่ำกว่าจะแสดงเป็น “ส่วนลด” และราคาที่ลดจะลดให้เฉพาะ “คนญี่ปุ่นและคนที่มีถิ่นที่อยู่ในญี่ปุ่น” เท่านั้น 

อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นแทบจะไม่มีการคิดราคานักท่องเที่ยวสูงกว่าคนท้องถิ่น แต่จุดประสงค์ของร้าน Tamatebako ดูเหมือนจะเป็นการสร้างสมดุลระหว่างการเก็บเกี่ยวผลกำไรที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยไม่ทำให้คนท้องถิ่นต้องจ่ายเพิ่ม 

ส่วนโมเดลตั้งราคา 2 ราคานี้จะได้ผลหรือไปรอดหรือไม่คงต้องติดตามกันต่อไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์