เรื่องราว ‘รักต้องห้าม’ ของสามัญชนที่ทำให้(ว่าที่)กษัตริย์ ‘สละ’ บัลลังก์

15 ธ.ค. 2566 - 23:00

  • การตัดสินใจครั้งใหญ่ที่ทำเอาคนทั้งโลกช็อกไปตามๆ กันของ ‘พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8’ ที่ยอมสละราชบัลลังก์ของเขาเพื่อคนที่เขารัก

shocking-moment-king-edward-viii-abdication-nation-SPACEBAR-Hero.jpg

‘ความรัก’ อาจไม่ใช่ทุกสิ่งก็จริง แต่ก็มีคนไม่น้อยที่ยอมเสียสละสิ่งต่างๆ เพื่อรักษาความรักไว้ ดังเช่นการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่ทำเอาคนทั้งโลกช็อกไปตามๆ กันของ ‘พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8’ ที่ยอมสละราชบัลลังก์เพื่อคนที่เขารัก  

ย้อนกลับไปเมื่อ 63 ปีที่แล้ว (ราวปี 1936) ในเดือนธันวาคม พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดได้ตัดสินใจสละราชบัลลังก์และฐานันดรเพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตกับผู้หญิงอันเป็นที่รัก ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่าง ‘วอลลิส ซิมป์สัน’ นักแสดงหญิงหม้ายชาวอเมริกันและคนดังในแวดวงสังคม

shocking-moment-king-edward-viii-abdication-nation-SPACEBAR-Photo V01.jpg
Photo: Wikipedia – Wallis Simpson

“ในที่สุด.. ผมก็ได้พูดคำนี้ด้วยตัวเอง” พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 กล่าวผ่านรายการวิทยุที่ทำเอาคนฟังช็อกไปตามๆ กัน ไม่เพียงแค่ประกาศสละบัลลังก์เท่านั้น แต่เขายังเล่าถึงแนวทางการใช้ชีวิตแบบใหม่และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ แม้ว่าเขาจะเป็น (ว่าที่) กษัตริย์อังกฤษองค์แรกที่ตัดสินใจทำเช่นนั้นเพื่อที่จะได้แต่งงานกับผู้หญิงที่เขารัก 

ไร้ซึ่งสัญญาณเตือน

ก่อนที่จะมีการประกาศสละบัลลังก์ ประชาชนชาวอังกฤษทุกคนไม่มีใครระแคะระคาย และไม่มีใครรู้ว่าจะมีการประกาศเช่นนี้ แม้ว่าทุกคนต่างรับรู้ถึงความสัมพันธ์ของเขาและซิมป์สันเป็นอย่างดี แต่การ ‘ปิดบัง’ การตัดสินใจอันใหญ่หลวงของทั้งสองนี้ก็ส่งแรงสั่นสะเทือนต่อรัฐบาล และกลายเป็น ‘วิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญ’ ของประเทศในขณะนั้น 

เอ็ดเวิร์ดตกหลุมรักซิมป์สันในช่วงต้นทศวรรษ 1930 แม้ว่าซิมป์สันจะผ่านการแต่งงานมาแล้ว 2 ครั้ง แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคระหว่างพวกเขาทั้งสอง เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของเอ็ดเวิร์ดที่มีความสัมพันธ์กับหญิงที่เคยแต่งงานแล้ว  

จนกระทั่งในเดือนมกราคม ปี 1936 เรื่องรักๆ ใคร่ๆ เริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในราชวงศ์ เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 5 สิ้นพระชนม์ ทำให้เอ็ดเวิร์ดต้องขึ้นเป็นกษัตริย์ และเขาก็แสดงความประสงค์ชัดเจนว่าจะอภิเษกสมรสกับซิมป์สัน ทว่ามีเสียงต่อต้านมากมายจากราชวงศ์และคนวงในของอังกฤษ

shocking-moment-king-edward-viii-abdication-nation-SPACEBAR-Photo V02.jpg
Photo: Wikipedia - Stanley Baldwin

สแตนลีย์ บอลด์วิน นายกรัฐมนตรีอังกฤษในสมัยนั้น กล่าวเตือนเอ็ดเวิร์ดว่า ประชาชนชาวอังกฤษจะไม่ยอมรับ ‘หญิงอเมริกันที่เคยหย่าร้างมาแล้ว 2 ครั้ง’ เป็นราชินี แต่สิ่งนั้นก็ไม่สามารถยับยั้งความรักของเอ็ดเวิร์ดได้  โดยบอกว่าเขาพร้อมที่จะสละราชสมบัติหากรัฐบาลจะต่อต้านการแต่งงานของเขา 

ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นและการแทรกแซงความสัมพันธ์ของทั้งคู่ เอ็ดเวิร์ดเสนอการแต่งงานที่เขาและซิมป์สันจะได้แต่งงานกัน โดยที่ซิมป์สันจะไม่ใช่ราชินี แต่เป็นเพียง ‘สนม’ (Consort) เท่านั้น แต่ความคิดนี้ก็ถูกสำนักงานคณะรัฐมนตรีคัดค้านและปัดตกไปอย่างรวดเร็ว

shocking-moment-king-edward-viii-abdication-nation-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: AFP

‘ระเบิด’ กลางการออกอากาศ 

เอ็ดเวิร์ดบอกกับนายกฯ ว่าเขาต้องการเผยแพร่ประกาศต่อประชาชน โดยจะจัดรายการวิทยุกระจายเสียง เนื่องจากในเวลานั้นเอ็ดเวิร์ดเข้าใจความทรงพลังของวิทยุ และตั้งใจจะใช้เป็นเครื่องมือสร้างอิทธิพลต่อความคิดของสาธารณชน และจูงใจประชาชนให้เข้าใจการแต่งงานของเขา โดยที่เขายังคงครองบัลลังก์ได้ ทว่านายกฯ บอกกับเอ็ดเวิร์ดตรงๆ ว่าสิ่งนี้มันเป็นไปไม่ได้ และรังแต่จะทำให้เกิดปัญหาในประเทศ  

“ผมพบว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแบกรับภาระอันหนักอึ้ง และปฏิบัติหน้าที่ของกษัตริย์อย่างที่ผมปรารถนา หากไม่มีความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากผู้หญิงอันเป็นที่รักของผม” เอ็ดเวิร์ดกล่าวพร้อมยืนยันว่าการตัดสินใจเป็นของเขาแต่เพียงผู้เดียว เนื่องจากคนอื่นๆ รอบตัวเขาก็มีแต่แนะนำแนวทางอื่นๆ  

ไม่เคยเสียใจ 

เซอร์ จอห์น รีธ  ผู้จัดการสำนักข่าว BBC เขียนลงไดอารีว่า ‘สิ่งที่ชายหนุ่มคนนั้นทิ้งไป เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่กว่าที่กษัตริย์หรือชายคนใดเคยมีมา ผมรู้สึกเสียใจแทนเขา’

shocking-moment-king-edward-viii-abdication-nation-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: AFP

หลังจากการออกอากาศเผยแพ่รออกไป เรื่องนี้ก็ส่งผลกระทบต่อจอห์น รีธเช่นกัน เขากลับไปที่บ้านและบันทึกข้อความลงไดอารีของเขาว่า เขาทนแทบไม่ไหวที่จะพูดคุยกับภรรยาและลูกสาวเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็ทำได้แค่คิดเรื่องเหล่านี้บนเก้าอี้  

ภายหลังจากการสละราชสมบัติ เอ็ดเวิร์ดก็ยังคงมีบทบาทในแวดวงต่างๆ และก่อความขัดแย้งมากขึ้น โดยทั้งคู่ได้เดินทางไปเยอรมนีอย่างไม่เป็นทางการและได้พบกับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และผู้นำคนอื่นๆ ในนาซีด้วย กระทั่งในปี 1970 เขาได้ให้สัมภาษณ์ที่บ้านของเขาในปารีสกับผู้สื่อข่าว BBC โดยบอกว่า ‘เขาไม่เคยคิดเสียใจเลยกับการตัดสินใจครั้งนั้น’ 

แม้ว่าจะฟังดูไม่น่าเชื่อ เมื่อพิจารณาจากจุดที่เขาเคยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภูมิหลังและบทบาทของเขาในฐานะกษัตริย์ แต่เอ็ดเวิร์ดก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์