ต่างประเทศชี้กราดยิงในไทยไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะครอบครองปืนมากติดท็อปเอเชีย

4 ต.ค. 2566 - 07:35

  • เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ใครหลายๆ คนหวนคิดถึงเหตุจ่าคลั่งกราดยิงใจกลางดังเทอร์มินอล 21 ที่โคราชเมื่อปี 2020

  • “พลเรือนมากกว่า 10.3 ล้านคนถืออาวุธปืนในประเทศไทย หรือประมาณปืน 15 กระบอกต่อ 100 คน”

shooting-at-major-bangkok-shopping-mall-kills-2-people-SPACEBAR-Hero.jpg

เมื่อความรุนแรงของปืนไม่ใช่เรื่องแปลกในประเทศไทย 

หลังจากเกิดเหตุกราดยิงใจกลางห้างดังสยามพารากอนเมื่อวานนี้ (3 ต.ค.) จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นชาวต่างชาติ 2 รายและบาดเจ็บ 5 ราย จากนั้น 1 ชั่วโมงต่อมาตำรวจก็ระบุว่าสามารถควบคุมตัวผู้ก่อเหตุวัย 14 ปีได้แล้วโดยคาดว่าเขามีอาการป่วยทางจิต แต่ยังไม่ทราบว่าผู้ต้องสงสัยได้รับปืนมาจากที่ใด 

ในเวลาต่อมา สื่อต่างประเทศอย่าง AP รายงานถึงเหตุระทึกนี้ว่า ความรุนแรงของปืนไม่ใช่เรื่องแปลกในประเทศไทย แม้ว่าเหตุกราดยิงจะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนที่ชาวไทยจะวางแผนรำลึกครบรอบเหตุการณ์การสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศซึ่งเป็นเหตุกราดยิงด้วยปืนและมีดอย่างน่าสยดสยองที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กในชนบทที่จังหวัดหนองบัวลำภูเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2022 ส่งผลให้มีเด็กเล็กเสียชีวิตราวกว่า 30 ราย 

ขณะที่ หลิวซือหยิง นักท่องเที่ยวชาวจีนบอกกับสำนักข่าว AP ว่า เธอเห็นคนกำลังวิ่งและบอกว่ามีคนเปิดฉากยิง เธอบอกว่าเธอได้ยินเสียงปืนและเสียงสัญญาณเตือนดังขึ้น จากนั้นไฟในห้างสรรพสินค้าก็ดับลง “เรากำลังซ่อนตัวชั่วคราว ใครจะกล้าออกไปข้างนอก” หลิวซือหยิงบอก 

โกตัม โวรา ชาวอินเดียวัย 45 ปีที่ทำงานด้านการเงินในกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ในห้างขณะนั้นบอกว่า “มันค่อนข้างน่ากลัว” แม้ว่าในตอนแรกเขาจะไม่แน่ใจว่าเขาได้ยินเสียงปืนหรือไม่ “ทุกคนกรีดร้องและวิ่งหนี เกิดความวุ่นวายมากมาย ผมไม่คิดว่าพวกเขาเตรียมตัวมาอย่างดีสำหรับเรื่องนี้ พนักงานส่วนใหญ่ในห้างสรรพสินค้าสับสนและพวกเขาก็เตลิดเปิดเปิงด้วยเช่นกัน” 

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ใครหลายๆ คนหวนคิดถึงเหตุจ่าคลั่งกราดยิงใจกลางดังเทอร์มินอล 21 ที่โคราชเมื่อปี 2020 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 29 ราย  

ตามรายงานของ GunPolicy.org โครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ในออสเตรเลียระบุว่า “กฎหมายปืนในประเทศไทยค่อนข้างเข้มงวด แต่ประเทศไทยกลับมีระดับการเป็นเจ้าของปืนที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย” 

ประเทศไทยมีปืนประมาณ 10 กระบอกต่อประชากร 100 คนรวมทั้งปืนที่ครอบครองโดยผิดกฎหมาย ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียมีน้อยกว่า 1 กระบอกต่อ 100 คน “บทลงโทษสำหรับการครอบครองโดยผิดกฎหมายในประเทศไทย ได้แก่ โทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท” โครงการวิจัยระบุ 

ขณะที่เสียงวิจารณ์ในประเทศไทยระบุว่า “ขั้นตอนการจดทะเบียนอาวุธปืนนั้นง่ายมาก” 

“อัตราการถือครองปืนที่สูงอย่างน่าตกใจในประเทศไทยนั้นมาจากกระบวนการออกใบอนุญาตอาวุธปืนที่สะดวก…การสมัครและรับใบอนุญาตอาวุธปืนในประเทศไทยเป็นเรื่องง่าย” บุญวรา สุมะโน นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเขียนหลังเกิดเหตุสังหารในศูนย์รับเลี้ยงเด็กเมื่อปีที่แล้ว 

อัตราการเป็นเจ้าของปืนในไทยสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

shooting-at-major-bangkok-shopping-mall-kills-2-people-SPACEBAR-Photo01.jpg

ข้อมูลปี 2017 จากโครงการวิจัยอิสระ Small Arms Survey (SAS) ในสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า “พลเรือนมากกว่า 10.3 ล้านคนถืออาวุธปืนในประเทศไทย หรือประมาณปืน 15 กระบอกต่อ 100 คน โดยในจำนวนนั้น ประมาณ 6.2 ล้านกระบอกได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” 

ข้อมูลสถาบันวิจัยอิสระด้านสุขภาพระดับโลกแห่งวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Institute for Health Metrics and Evaluation / IHME) ประจำปี 2019 พบว่า “ประเทศไทยติดอันดับการฆาตกรรมด้วยปืนสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากฟิลิปปินส์”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์