‘ปลาออร์ฟิช’ คนไทยเชื่อว่าคือพญานาค แต่คนญี่ปุ่นเชื่อว่าเป็นสัญญาณเตือนสึนามิ

28 ต.ค. 2566 - 23:00

  • ‘ปลาออร์ฟิช’ ที่คนไทยเชื่อว่าเป็นพญานาค และต้องอาศัยบุญกุศลอย่างมากในการมองเห็น ทว่าคนญี่ปุ่นกลับไม่ได้คิดเช่นนั้น ว่ากันว่า ‘ขอไม่เจอเสียยังดีกว่า ถ้ายังไม่อยากถึงคราหายนะ’

sightings-rare-oarfish-raise-bad-luck-or-good-luck-SPACEBAR-Hero.jpg

เนื่องในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปีจะเป็นช่วงของ ‘วันออกพรรษา’ และหนึ่งในความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับวันนี้คือ ‘พญานาค’  

เมื่อพูดถึงพญานาคก็ทำให้นึกถึง ปลาออร์ฟิช ที่สร้างตำนานความเชื่อแตกต่างกันตามวัฒนธรรม คนไทยเชื่อกันว่าปลาออร์ฟิชคือ ‘พญานาค’ และต้องเป็นผู้ที่มีบุญบารมีสูงมากถึงจะได้พบเห็น ต่างจากความเชื่อของประเทศญี่ปุ่น ที่เชื่อกันว่าหากได้พบเจอปลาออร์ฟิชจะนำมาซึ่งโชคร้าย ว่ากันว่าอาจเกิดแผ่นดินไหว หรือสึนามิขึ้นได้หากปลาชนิดนี้ปรากฏตัว 

‘ปลาออร์ฟิช’ เป็นปลาขนาดใหญ่และมีลำตัวยาวมาก (ยาวสูงสุดได้ถึง 11 เมตร) และสามารถพบได้ตั้งแต่เขตอบอุ่นของมหาสมุทรไปจนถึงเขตร้อน และแน่นอนว่ามันเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำลึกระหว่าง 200 – 1,000 เมตร

sightings-rare-oarfish-raise-bad-luck-or-good-luck-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Wikipedia

ออร์ฟิชนำพาความ ‘โชคร้าย’ มาให้ญี่ปุ่น?  

ในปี 2019 ความหวาดผวาว่าจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในญี่ปุ่นแพร่สะพัดในโลกออนไลน์ หลังจากที่ปลาออร์ฟิชปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง โดยปลาออร์ฟิชติดมากับอวนของชาวประมงนอกจังหวัดโทยามะทางตอนเหนือ ทำให้ในฤดูกาลนั้นญี่ปุ่นพบเจอปลาออร์ฟิชไปแล้วร่วม 7 ตัว ปลุกความกลัวเรื่องแผ่นดินไหว และสึนามิให้กับชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก

ตามตำนานของญี่ปุ่น ปลาออร์ฟิชเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘ริวกุ โนะ สึไก’ (Ryugu no tsukai) ซึ่งแปลว่า ‘ผู้ส่งสารจากวังเทพเจ้าแห่งท้องทะเล’ โดยในตำนานเล่าขานกันว่าปลาออร์ฟิชอยู่ใต้หมู่เกาะของญี่ปุ่นและการที่พวกมันขึ้นมาบนผิวน้ำเป็นการเตือนเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น  

ตำนานนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าขานอีกครั้งในปี 2011 หลังจากที่มีคนพบปลาออร์ฟิชเกยตื้นบนชายฝั่ง และเกิดเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 9.1 ริกเตอร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 19,000 ราย และหลังจากนั้นในปี 2009 และ 2010 ก็เจอปลาออร์ฟิชเกยตื้นอีกราวๆ 20 ตัว หลังจากนั้นก็เป็นการล่มสลายของเครื่องปฎิกรณ์ 3 เครื่องในฟุกุชิมะ สิ่งนี้จึงยิ่งตอกย้ำถึงความเชื่อของคนญี่ปุ่นเข้าไปอีกว่าปลาออร์ฟิชเป็นสิ่งที่แสดงถึงความชั่วร้าย

sightings-rare-oarfish-raise-bad-luck-or-good-luck-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Wikipedia

แต่คนไทยเชื่อว่ามันคือ ‘พญานาค’ 

มีเรื่องที่เล่าต่อกันมาอย่างยาวนานเกี่ยวกับการพบเห็นพญานาคใกล้กับประเทศไทย ‘ว่ากันว่าในปี 1973 ทหารอเมริกันได้จับปลาออร์ฟิช ขนาดมหึมา 10 คนหาม ในแม่น้ำโขงได้พร้อมข่าวลือที่บอกว่ามันคือ ‘พญานาค’ และภาพถ่ายนี้ก็ถูกนำมาเป็นภาพติดฝาผนัง และโปสการ์ดมากมายวางขายอยู่จนปัจจุบัน’

sightings-rare-oarfish-raise-bad-luck-or-good-luck-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: Wikipedia

แต่รู้หรือไม่ว่ามันไม่จริง.. ในความเป็นจริงแล้วทหารไม่ได้จับพญานาคได้ และภาพถ่ายใบนี้ไม่ได้ถูกถ่ายขึ้นริมโขงด้วยซ้ำ แน่นอนว่ามันไม่ได้ถูกจับในปี 1973 ด้วย แต่มันถูกถ่ายขึ้นในปี 1996 ใกล้กับซานดิเอโก ซึ่งชายคนหนึ่งกำลังวิ่งจ็อกกิ้งในตอนเช้าและพบเข้ากับปลาออร์ฟิชเกยตื้น ซึ่งปลาตัวนี้ในเวลานั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ราชาแห่งเฮอร์ริง’ โดยมาจากนิทานพื้นบ้านสแกนดิเนเวียน

sightings-rare-oarfish-raise-bad-luck-or-good-luck-SPACEBAR-Photo04.jpg

ความเป็นไปได้ของการปรากฏตัว 

นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นมีความเห็นขัดแย้งในมุมที่ว่า การที่ปลาออร์ฟิชขึ้นมาเกยตื้นนั้น อาจเกิดจากการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกใต้น้ำ ส่งผลให้กระแสน้ำปั่นป่วนและผลักดันให้สัตว์เหล่านี้ปรากฏตัว  

คาซึสะ ไซบะ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำอูโอซุ ยอมรับว่ายังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สำหรับทฤษฎีที่ว่าปลาออร์ฟิชปรากฏตัวขึ้นก่อนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถปฏิเสธความเป็นไปได้ได้ 100%

โอซามุ อินามูระ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำอูโอซุ มองว่าการที่มันขึ้นมาเหนือน้ำ อาจเกี่ยวกับแหล่งอาหารที่เปลี่ยนไปของพวกมัน ซึ่งอาหารของพวกมันคือกุ้งตัวเล็กๆ ชนิดหนึ่ง นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมมันถึงติดมากับอวนของชาวประมง  

ถึงอย่างนั้น เรื่องราวของโลกใต้น้ำก็ยังคงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลึกลับและยังมีอะไรอีกมายมายให้เราได้เรียนรู้ แม้ว่าตำนานเรื่องเล่าของสิ่งต่างๆ จะน่าหลงใหลและน่าดึงดูดขนาดไหน แต่ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ข้อไหนที่พิสูจน์ได้ว่าการพบเห็นปลาออร์ฟิชแปลว่าเราจะโชคดีหรือโชคร้าย และตำนานก็ยังคงเป็นตำนานอยู่วันยันค่ำ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์