สิงคโปร์คุมเข้ม ‘นักโทษคดีร้ายแรง’ แม้พ้นโทษแล้ว (อาจ) ต้องติดคุกต่อ

7 กุมภาพันธ์ 2567 - 09:50

singapore-hold-dangerous-offenders-indefinitely-under-new-law-SPACEBAR-Hero.jpg
  • กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับผู้ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไปที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหา ‘อาชญากรรม’ เช่น การฆาตกรรม การข่มขืน และการมีเพศสัมพันธ์กับผู้เยาว์

  • ข้อหาเหล่านี้ถือว่ามี ‘ความเสี่ยง’ ที่พวกเขาจะกระทำความผิดอีกครั้งเมื่อได้รับการปล่อยตัว

เมื่อวันจันทร์ (5 ก.พ.) ที่ผ่านมา สิงคโปร์ผ่านกฎหมายควบคุม ‘ผู้กระทำความผิดที่เป็นอันตราย’ อย่างไม่มีกำหนด แม้ว่านักโทษเหล่านี้จะพ้นโทษจำคุกแล้วก็ตาม 

กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับผู้ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไปที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหา ‘อาชญากรรม’ เช่น  

  • การฆาตกรรม 
  • การข่มขืน 
  • การมีเพศสัมพันธ์กับผู้เยาว์ 

ข้อหาเหล่านี้ถือว่ามี ‘ความเสี่ยง’ ที่ผู้กระทำจะกระทำความผิดซ้ำเมื่อได้รับการปล่อยตัว 

คี แชนมูแกม รัฐมนตรีกระทรวงกฎหมายและมหาดไทยกล่าวสุนทรพจน์ในรัฐสภาว่า “ผู้กระทำผิดที่ยังคงก่อให้เกิดอันตรายอย่างแท้จริงต่อผู้อื่นไม่ควรได้รับการปล่อยตัว” 

แชนมูแกมยกตัวอย่างชายคนหนึ่งที่ถูกจำคุกฐานข่มขืนลูกเลี้ยงวัย 6 ขวบ ซึ่งหลังจากได้รับการปล่อยตัวแล้ว ต่อมาในปี  2015 เขาก็เริ่มล่วงละเมิดทางเพศหลานสาวของพี่สาวซึ่งมีอายุ 10 ขวบ และในปี 2017 เขาก็ยังล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิงที่เป็นน้องสาวของเหยื่อรายก่อนวัย 9 ขวบอีกด้วย 

“เราต้องจัดการกับภัยคุกคามประเภทนี้และปกป้องสังคมของเรา” แชนมูแกมกล่าว

กฎหมายใหม่ที่ว่านี้หมายความว่า “แทนที่นักโทษเหล่านี้จะได้รับการปล่อยตัวหลังจากพ้นโทษจำคุก แต่ผู้กระทำผิดดังกล่าวจะต้องให้รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยพิจารณาอีกครั้งว่า ‘พวกเขาจะไม่เป็นภัยคุกคามต่อสาธารณะอีกต่อไป’” 

รัฐมนตรีจะได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการพิจารณาทบทวนพฤติกรรมซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ 

  • ผู้พิพากษาที่เกษียณแล้ว  
  • ทนายความ  
  • จิตแพทย์  
  • และนักจิตวิทยา  

โดยผู้กระทำผิดและทนายความของเขาสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการได้ นักโทษคนใดไม่เหมาะที่จะได้รับการปล่อยตัว คดีของพวกเขาจะได้รับการทบทวนทุกปี  

สิงคโปร์ประเมินว่ากฎหมายนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้กระทำความผิดน้อยกว่า 30 รายต่อปี ขณะเดียวกันที่สหรัฐฯ เองก็มีกฎหมายคล้ายๆ กันนี้สำหรับผู้กระทำความผิดทางเพศซึ่งมีแนวโน้มว่าจะกระทำความผิดอีกครั้งใน 20 รัฐ, ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และรัฐบาลกลาง 

ในสิงคโปร์ กฎหมายนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งจากพรรคฝ่ายค้าน แม้ว่าจะมีบางคนออกมาเตือนก็ตาม 

ซิลเวีย ลิม สมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายค้านจากพรรคแรงงานกล่าวว่า “เป็นการยากที่จะคาดการณ์ความรุนแรงในอนาคตได้อย่างแม่นยำ และมีความเสี่ยงที่จะ ‘ควบคุมตัวบุคคลมากเกินไป’ โดยอาศัยการคาดการณ์ถึงอันตรายที่ผิดพลาด” 

“ผู้พิพากษาสามารถพิพากษาสั่งลงโทษต่อเนื่องกันได้แล้ว โดยสามารถคุมขังผู้กระทำผิดในคุกได้ตลอดชีวิตของพวกเขา ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการ ‘ปล่อยให้ฝ่ายบริหารพิจารณาว่าเมื่อใดควรปล่อยผู้กระทำผิด’” 

ขณะที่องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า พวกเขา ‘คัดค้าน’ กฎหมายควบคุมนักโทษต่อเนื่องหลังครบโทษจำคุก เนื่องจากละเมิดสิทธิตามกระบวนการอันชอบธรรมตามกฎหมาย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์