ก็มันร้อนเบอร์นี้! ครั้งหนึ่ง ‘ลีกวนยู’ เคยบอกว่า ‘แอร์’ คือเคล็ดลับความสำเร็จของสิงคโปร์

17 เมษายน 2567 - 08:50

singapore-lee-kuan-yew-air-conditioning-secret-to-country-success-SPACEBAR-Hero.jpg
  • “ร้อนจนคิดงานไม่ออก” ฟังดูเหมือนจะเป็นข้ออ้างในวันที่แสงแดดร้อนแรงเช่นนี้ แต่เรื่องนี้มีงานวิจัยมายืนยันว่า ยิ่งอากาศร้อนเราก็ยิ่งเสียสมาธิง่าย

  • ครั้งหนึ่งอดีตผู้นำสิงคโปร์อย่าง ลีกวนยู เคยพูดไว้ว่า หนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จของสิงคโปร์คือ “เครื่องปรับอากาศ”

  • สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีเครื่องปรับอากาศมากที่สุดในโลก และมีเครื่องปรับอากาศต่อหัวมากที่สุดในบรรดาประเทศในอาเซียน

“ร้อนจนคิดงานไม่ออก” ฟังดูเหมือนจะเป็นข้ออ้างในวันที่แสงแดดร้อนแรงเช่นนี้ แต่เรื่องนี้มีงานวิจัยมายืนยันว่า ความร้อนส่งผลต่อการทำงานของสมองและสมาธิ

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียวิทยาเขตลอสแองเจลิส (UCLA) และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐจอร์เจีย ร่วมกันศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างอุณหภูมิและผลการเรียนด้วยการวิเคราะห์ผลการเรียนของนักเรียน 10 ล้านคนในโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศที่มีอุณหภูมิต่างๆ กันเป็นเวลา 13 ปีตั้งแต่ปี 2001-2014 พบว่า เด็กนักเรียนจะมีผลการเรียนแย่ลงในปีที่อุณหภูมิสูง ปีไหนที่อากาศเย็นคะแนนจะสูงขึ้น  

ทีมวิจัยระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 0.55 องศาเซลเซียส จะทำให้ผลการเรียนลดลง 1% โดยผลกระทบต่อการเรียนจะเริ่มเห็นได้ชัดเมื่ออุณหภูมิสูงเกิน 21 องศาเซลเซียส และจะส่งผลกระทบมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงเกิน 32 องศาเซลเซียส และกระทบมากขึ้นไปอีกหากอุณหภูมิสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ในขณะที่อากาศเย็นไม่กระทบต่อผลการเรียน 

ทางแก้ของปัญหานี้ก็คือ เปิดเครื่องปรับอากาศ

singapore-lee-kuan-yew-air-conditioning-secret-to-country-success-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ลีกวนยู อดีตผู้นำสิงคโปร์ Photo by TOSHIFUMI KITAMURA / AFP

เมื่อพูดถึงเครื่องปรับอากาศก็ทำให้นึงถึงคำพูดของอดีตผู้นำสิงคโปร์อย่าง ลีกวนยู ที่เคยให้สัมภาษณ์ New Perspectives Quarterly สื่อสิ่งพิมพ์ที่สัมภาษณ์คนดังทั่วโลกว่า หนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จของสิงคโปร์คือ “เครื่องปรับอากาศ”

ลีกวนยูบอกว่า “เครื่องปรับอากาศ เครื่องปรับอากาศคือสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา บางทีอาจเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ มันเปลี่ยนธรรมชาติของวัฒนธรรมโดยการทำให้การพัฒนาเป็นไปได้ในประเทศเขตร้อน ถ้าไม่มีเครื่องปรับอากาศ คุณจะทำงานได้แค่ในตอนเช้าที่อากาศเย็นหรือตอนเย็นเท่านั้น สิ่งแรกที่ผมทำตอนได้เป็นนายกรัฐมนตรีคือติดตั้งเครื่องปรับอากาศในอาคารที่ข้าราชการทำงาน นี่คือกุญแจสู่ประสิทธิภาพของข้าราชการ” 

นี่อาจเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมสิงคโปร์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรราว 137 กิโลเมตร เป็นหนึ่งในประเทศที่มีเครื่องปรับอากาศมากที่สุดในโลก และมีเครื่องปรับอากาศต่อหัวมากที่สุดในบรรดาประเทศในอาเซียน จนเรียกได้ว่าเครื่องปรับอากาศกลายเป็นวิถีชีวิตของชาวสิงคโปร์ไปแล้ว ไม่มีออฟฟิศหรือห้างไหนที่ไม่ติดเครื่องปรับอากาศ 99% ของคอนโดมีเนียมของเอกชนติดเครื่องปรับอากาศ อพาร์ตเมนต์ของรัฐส่วนใหญ่ติดเครื่องปรับอากาศ 

แต่การอยู่กับเครื่องปรับอากาศของคนสิงคโปร์มีราคาที่ต้องจ่ายมหาศาล

เครื่องปรับอากาศทำให้สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศร้อนที่นับวันมีแต่จะร้อนขึ้นติดอยู่ในกับดักที่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเป็น “วงจรที่อันตรายและเลวร้าย” คือตกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า Catch 22 หรือกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ซึ่งเป็นสภาวะที่ทุกประเทศที่ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศต้องพบจอ 

พูดง่ายๆ คือ ยิ่งโลกร้อนขึ้น คนก็ยิ่งหันไปใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น ยิ่งคนหันไปใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น โลกก็ยิ่งร้อนขึ้น

เครื่องปรับอากาศกถือเป็นหนึ่งในตัวการที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) คาดว่าหากไม่มีการควบคุม การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับเครื่องปนับอากาศอาจทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 0.5 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ หรือในปี 2100  

ผลกระทบของเครื่องปรับอากาศต่อภาวะโลกร้อนมี 2 ด้านคือ 1.เครื่องปรับอากาศหลายเครื่องยังใช้สารทำความเย็นที่เรียกว่า ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่อันตราย 2.เครื่องปรับอากาศใช้ไฟฟ้า (ที่ได้มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟสซิล) จำนวนมาก  

ข้อมูลขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่าเครื่องปรับอากาศและพัดลมใช้ไฟฟ้า 10% ของการใช้ไฟฟ้าทั่วโลก แต่ด้วยความที่สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กๆ จึงปล่อย HFCs และใช้ไฟฟ้าไม่มาก แม้ว่าจะมีการใช้งานต่อหัวที่สูง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดก็ยังน้อยกว่าญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่ราว 90% ของครัวเรือนใช้เครื่องปรับอากาศ 

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสิงคโปร์จะไม่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากนัก และเนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่ร้อนอยู่แล้ว และกำลังร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีเวลาเหลือน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ก่อนที่อุณหภูมิจะสูงจนทนไม่ไหว 

ข้อมูลของรัฐบาลสิงคโปร์ที่เผยแพร่เมื่อปี 2019 ระบุว่า ในช่วงกว่า 60 ปีที่ผ่านมา สิงคโปร์อุณหภูมิสูงขึ้นเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ถึง 2 เท่า ทางการเตือนว่า อุณหภูมิรายวันสูงสุดอาจขึ้นไปแตะ 37 องศาเซลเซียสภายในปี 2100

singapore-lee-kuan-yew-air-conditioning-secret-to-country-success-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Photo by Roslan RAHMAN / AFP

เกาะความร้อน 

อุณหภูมิที่สูงขึ้นในสิงคโปร์ไม่ได้เกิดจากภาวะโลกร้อนเพียงอย่างเดียว ความร้อนในสิงคโปร์ยังเกิดจากปรากฏการณ์ “เกาะความร้อนในเมือง” (Urban Heat Island) ที่พื้นที่เขตเมืองจะร้อนกว่าพื้นที่รอบๆ  

ปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมืองนี้เกิดจากโครงสร้างในเมืองอย่างอาคาร ถนน และยานพาหนะที่กักเก็บและปล่อยความร้อนสู่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนกลางคืน และมักจะเกิดขึ้นในสถานที่ที่ถูกพัฒนามากๆ และค่อนข้างหนาแน่นอย่างสิงคโปร์ เมื่อบวกกับความร้อนเหลือทิ้งที่เกิดขึ้นในตัวเมืองจากยานพาหนะ โรงงาน และเครื่องปรับอากาศ สถานการณ์จึงแย่ลง 

แมธไธอัส รอธ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์เผยว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ของสิงคโปร์ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการผสมผสานระหว่างภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง และว่า แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าความร้อนที่ปล่อยจากเครื่องปรับอากาศจำนวนเท่าใดที่มีผลต่ปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง แต่ในพื้นที่เชิงพาณิชย์บางแห่งที่มีกิจกรรมของมนุษย์และการจราจรหนาแน่น เช่นเดียวกับอาคารสูงหลายชั้นที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กันและใช้เครื่องปรับอากาศ...ความร้อนเหล่านี้อาจเพิ่มอุณหภูมิในสิ่งแวดล้อมได้ราว 1-2 องศาเซลเซียส

รอธเผยอีกว่า พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เล็กๆ และมีน้อย ดังนั้นจึงไม่กระทบกับอุณหภูมิเฉลี่ยของทั้งประเทศมากนัก แต่เครื่องปรับอากาศ “ไม่ได้ประหยัดพลังงานมากนัก และเมื่อใช้ในปริมาณมากและบ่อยครั้งอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถกลายเป็นแหล่งที่ใช้พลังงานส่วนใหญ่ในสถานที่ร้อนได้”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์