รัฐบาลดีมีประสิทธิภาพ! สิงคโปร์ผงาดคว้าที่ 1 ของโลกอีกครั้ง ส่วนไทยตกอันดับที่ 54

16 พ.ค. 2567 - 09:26

  • สิงคโปร์กลายเป็นประเทศหนึ่งเดียวในเอเชียที่ติดท็อป 1 ใน 10 ‘รัฐบาล’ มีประสิทธิภาพจากทั้งหมด 113 แห่งทั่วโลก

  • ขณะที่เกาหลีใต้ (อันดับที่ 20) ก็เป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียที่ยังคงรักษาอันดับติดท็อป 20 มา 2 ปีเช่นเดียวกันตั้งแต่ปี 2022

  • ส่วนประเทศไทยของเราอันดับตกลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2021 ปีนี้คว้าที่ 54 จากอันดับ 50 ในปี 2023 และอันดับ 47 ในปี 2022

singapore-no-1-again-in-world-ranking-on-government-effectiveness-SPACEBAR-Hero.jpg

สิงคโปร์กลายเป็นประเทศหนึ่งเดียวในเอเชียที่ติดท็อป 1 ใน 10 ‘รัฐบาล’ มีประสิทธิภาพจากทั้งหมด 113 แห่งทั่วโลก ซึ่งสามารถคว้าอันดับ 1 ไปครองเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้วตั้งแต่ปี 2022 แซงหน้าเดนมาร์ก (2) ฟินแลนด์ (3) สวิตเซอร์แลนด์ (4) และนอร์เวย์ (5) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2-5 ตามการจัดอันดับดัชนีโดยสถาบัน ‘Chandler Good Government Index’ (CGGI) ฉบับที่ 4 ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา 

ขณะที่เกาหลีใต้ (อันดับที่ 20) ก็เป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียที่ยังคงรักษาอันดับติดท็อป 20 มา 2 ปีเช่นเดียวกันตั้งแต่ปี 2022 ส่วนประเทศไทยของเราอันดับตกลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2021 ปีนี้คว้าที่ 54 จากอันดับ 50 ในปี 2023 และอันดับ 47 ในปี 2022

รัฐฐบาลดีคุณภาพชีวิตพลเมืองมีชัย.jpg

ดัชนีดังกล่าวดึงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทั่วโลกที่เปิดเผยต่อสาธารณะมากกว่า 50 แหล่ง รวมถึงจากสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก โครงการยุติธรรมโลก และมหาวิทยาลัยเยล โดยให้คะแนนประเทศต่างๆ ตาม 35 ตัวชี้วัดซึ่งแบ่งประเภทตาม 7 เสาหลัก ได้แก่ 

  1. ความเป็นผู้นำ และการมองการณ์ไกล
  2. ความแข็งแกร่งของกฎหมายและนโยบาย
  3. ความแข็งแกร่งของสถาบันต่างๆ
  4. การจัดการด้านการเงิน
  5. การตลาดดึงดูด
  6. อิทธิพลและชื่อเสียงระดับโลก
  7. การยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน 

ดัชนีดังกล่าวดึงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทั่วโลกที่เปิดเผยต่อสาธารณะมากกว่า 50 แหล่ง รวมถึงจากสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก (WTO) โครงการยุติธรรมโลก (World Justice Project) และมหาวิทยาลัยเยล 

ประเทศที่ได้รับการประเมิน 113 ประเทศคิดเป็นประมาณ 90% ของประชากรโลก 

รายงานปี 2024 ระบุว่าแม้ว่าดัชนี 3 ฉบับแรกระหว่างปี 2021-2023 จะเจาะลึกถึงวิธีที่รัฐบาลใช้ขีดความสามารถของตัวเองเพื่อเติบโตในระหว่างและหลังวิกฤตโควิด-19 แต่ฉบับล่าสุดนี้วิเคราะห์เสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เทคโนโลยี ความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากฝีมือมนุษย์

“ในปีที่เต็มไปด้วยวิกฤตและความขัดแย้ง การมุ่งเน้นไปที่ผลดีในระยะยาวอาจเป็นเรื่องยาก นี่คือสาเหตุที่รายงานปีนี้มุ่งเน้นไปที่แรงขับเคลื่อนและความก้าวหน้า”

อัลวิน แปง บรรณาธิการรายงาน และวิกตอเรีย เกียเวอร์-เอนเกอร์ กล่าว

สถาบันกล่าวในรายงานว่า “การทดสอบรัฐบาลที่ดีคือความสามารถในการจัดการสภาวะปัจจุบันไปพร้อมๆ กับการจัดเตรียมประเทศสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น” 

สิ่งที่ช่วยให้สิงคโปร์รักษาตำแหน่งสูงสุดได้คือ การอยู่ในอันดับที่ 1 ใน 3 เสาหลักจากทั้งหมด 7 เสาหลัก ได้แก่  

  • เสาหลักความเป็นผู้นำและการมองการณ์ไกล : ผู้นำสิงคโปร์มีจริยธรรม ปรับตัวได้ มีวิสัยทัศน์ระยะยาว ทั้ง 3 ดัชนีนี้ได้คะแนนเกือบเต็ม  
  • ความแข็งแกร่งของสถาบันต่างๆ : ประสิทธิภาพการทำงานของ กระทรวง หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานตามกฎหมายได้คะแนนเต็ม 1 คะแนน ตามมาด้วยการประสานงาน  
  • การตลาดดึงดูด : สิงคโปร์โดดเด่นด้านการสร้างงาน นวัตกรรม และโอกาส อีกทั้งยังโดดเด่นด้านโลจิสติกส์และดึงดูดการลงทุนด้วย
  • ส่วนเสาหลักการจัดการด้านการเงิน : รัฐบาลสิงคโปร์ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 โดดเด่นในเรื่องการจัดสรร และแจกจ่ายกองทุนสาธารณะ 
  • สำหรับเสาหลักยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน : อยู่ในอันดับที่ 4 ความปลอดภัยส่วนบุคคล สุขภาพพลเรือน และนโยบายสิ่งแวดล้อมนั้นมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง
  • ความแข็งแกร่งของกฎหมายและนโยบาย : อยู่ในอันดับที่ 9 ขณะที่คะแนนความโปร่งใสก็สูงเช่นเดียวกันที่ 0.8 คะแนน  
  • เสาหลักอิทธิพลและชื่อเสียงระดับโลก : ได้อันดับที่ 26 โดยพาสปอร์ตทรงอิทธิพลได้คะแนนเต็ม แต่การดำเนินนโยบายทางการทูตได้คะแนนค่อนข้างต่ำอยู่อันดับที่ 84

สำหรับคุณภาพรัฐบาลของประเทศไทยในปีนี้นั้นอธิบายรายละเอียดแต่ละเสาหลักได้ดังนี้

singapore-no-1-again-in-world-ranking-on-government-effectiveness-SPACEBAR-Photo01.jpg
  • เสาหลักการจัดการด้านการเงิน : อยู่ในอันดับดีสุดที่อันดับ 37 ซึ่งรวมถึงหนี้สาธารณะ และการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ 
  • การตลาดดึงดูด : ได้อันดับ 47 โดดเด่นในเรื่องสิ่งแวดล้อมมหภาคอย่างมาก และโลจิสติกส์
  • การยกระดับคุณภาพชีวิต : อยู่อันดับที่ 51 โดดเด่นในเรื่องความพึงพอใจของประชาชนต่อบริการสาธารณะ และสุขภาพพลเมือง แต่มีปัญหาที่การเลือกปฏิบัติ และความปลอดภัยส่วนบุคคล 
  • ตามมาด้วยความแข็งแกร่งของกฎหมายและนโยบาย : อยู่อันดับ 58 เนื่องจากความโปร่งใสค่อนข้างต่ำ
  • ส่วนอิทธิพลและชื่อเสียงระดับโลก : อยู่อันดับที่ 61 โดดเด่นในเรื่อง ‘Soft Power’ การสร้างแบรนด์แห่งชาติ และการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
  • ขณะที่ความแข็งแกร่งของสถาบันต่างๆ : ได้อันดับ 72 แต่อันดับการประสานงานค่อนข้างต่ำทีเดียว
  • เสาหลักสุดท้ายที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ ความเป็นผู้นำและการมองการณ์ไกล : ได้อันดับต่ำมากที่ 94 จาก 113 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม วิสัยทัศน์ระยะยาว การปรับตัว และนวัตกรรม อยู่ในอันดับที่ 70 ขึ้นไปทุกตัวชี้วัด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์