ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันระหว่างประเทศเพื่อความโปร่งใส (CPI) ประจำปี 2023 เผยว่า “สิงคโปร์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงรักษาตำแหน่งประเทศที่มีการคอร์รัปชันน้อยเป็นอันดับ 5 ของโลกได้”
สิงคโปร์ยังคงเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน 10 อันดับแรกนับตั้งแต่ดัชนีนี้เผยแพร่ครั้งแรกในปี 1995 โดยอยู่อันดับที่ 3 ในปี 2018 และ 2020 อันดับที่ 4 ในปี 2019 และ 2021 และตกมาอยู่อันดับที่ 5 ในปี 2022 และ 2023
ดัชนีนี้จัดอันดับและวัดผลประเทศต่างๆ ตามระดับการทุจริตในภาครัฐ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจัดทำผ่านความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญและแบบสำรวจของนักธุรกิจ โดยประเทศต่างๆ จะได้รับคะแนนตั้งแต่ 0 (ทุจริตมาก) ถึง 100 (การเมืองใสสะอาดมาก)
ในปี 2023 สิงคโปร์ได้ไป 83 คะแนนซึ่งเป็นคะแนนเดียวกันกับปีก่อน (2022) ขณะที่ประเทศไทยได้ 35 คะแนนลดลงจากปีก่อน 1 คะแนนคว้าอันดับที่ 108

สำนักงานสืบสวนปราบปรามการทุจริต (CPIB) กล่าวว่า “สถานการณ์คอร์รัปชันในสิงคโปร์ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างมั่นคง โดยชี้ให้เห็นว่าจำนวนคดีคอร์รัปชันในภาครัฐยังคงต่ำอย่างต่อเนื่อง…”
สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 3 ในดัชนีหลักนิติธรรมโลกปี 2023 (World Justice Project Rule of Law Index 2023 / WJP) จากการไม่มีการทุจริต นั่นจึงทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศอันดับต้นๆ ของเอเชียจาก 142 ประเทศ “ชื่อเสียงของสิงคโปร์ในฐานะหนึ่งในประเทศที่มีการทุจริตน้อยที่สุดในโลกนั้นได้มาด้วยความยากลำบาก” CPIB กล่าว
อย่างไรก็ดี 71% ของประเทศทั่วเอเชียและแปซิฟิกมีคะแนน CPI ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 45 คะแนน และค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 43 จาก 100 คะแนน โดยประเทศที่มีคะแนนสูงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ นิวซีแลนด์ (85 คะแนน) และสิงคโปร์ (83 คะแนน) ยังคงรักษาตำแหน่งของตัวเองติด 1 ใน 5 ของดัชนีทั่วโลก ตามมาด้วยประเทศอื่นๆ ที่มีกลไกควบคุมการทุจริตที่แข็งแกร่งกว่า ได้แก่
- ออสเตรเลีย (75 คะแนน)
- ฮ่องกง (75 คะแนน)
- ญี่ปุ่น (73 คะแนน)
- ภูฏาน (68 คะแนน)
- ไต้หวัน (67 คะแนน)
- เกาหลีใต้ (63 คะแนน)
สำหรับอันดับท้ายๆ ของดัชนีนั้นส่วนใหญ่จะเป็นรัฐที่ปกครองระบอบเผด็จการ ซึ่งรวมถึงเกาหลีเหนือ (17 คะแนน) และเมียนมา (20 คะแนน) ซึ่งคะแนนตกลงมาอย่างน่าตกใจตั้ง 10 คะแนนนับตั้งแต่ปี 2017 ขณะที่อัฟกานิสถาน (20 คะแนน) ยังคงเป็นประเทศที่เผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์