สิงคโปร์คว้าที่ 1 น้ำประปาสะอาด-ปลอดภัยที่สุดประจำปี 2024 ส่วนไทยอันดับ 100

19 ส.ค. 2567 - 06:14

  • สิงคโปร์ขึ้นมาครองอันดับ 1 ประเทศที่มีการจัดการน้ำประปาสะอาด และปลอดภัยด้วยคะแนน 99.9 คะแนน จากอันดับ 21 ในปี 2022

  • รายงานระบุว่า “สิงคโปร์ไม่เพียงแต่มีการเข้าถึงสุขอนามัยที่ปลอดภัยอย่างทั่วถึงเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้นำระดับโลกในการบำบัด และนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่...”

  • สำหรับประเทศไทยอยู่อันดับ 100 ในขณะที่ 5 อันดับท้ายส่วนใหญ่เป็นประเทศจากทวีปแอฟริกา

singapore-tops-global-ranking-180-countries-safe-clean-drinking-water-SPACEBAR-Hero.jpg

สิงคโปร์กลายเป็นผู้นำโลกสำหรับประเทศที่มีน้ำประปาสะอาดปลอดภัยที่สุด ในการจัดอันดับล่าสุดด้านน้ำประปาสะอาด และปลอดภัย จาก 180 ประเทศทั่วโลกโดยมหาวิทยาลัยเยล ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในปี 2022 อยู่อันดับที่ 21 

ดัชนีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม (EPI) ได้จัดอันดับประเทศต่างๆ ตามมาตรฐานสุขาภิบาลและน้ำ ประจำปี 2024 ซึ่งพิจารณาจากผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของแบคทีเรียที่นำไปสู่โรคท้องร่วงจากการดื่มน้ำที่ไม่สะอาด

“สิงคโปร์ไม่เพียงแต่มีการเข้าถึงสุขอนามัยที่ปลอดภัยอย่างทั่วถึงเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้นำระดับโลกในการบำบัด และนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ รัฐบาลสิงคโปร์ได้บูรณาการการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและความปลอดภัยด้านน้ำ”

รายงานระบุ

ในการจัดอันดับ ความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับน้ำ และระบบสุขาภิบาลของแต่ละประเทศจะได้รับคะแนนตามสูตรที่คำนวณการสูญเสียสุขภาวะ 1 ปี (loss of one year of full health) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกว่า ‘การสูญเสียปีสุขภาวะ’ (disability-adjusted life years / จำนวนปีที่เสียไปเพราะสุขภาพไม่ดี พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัย) โดยปรับตามอายุ  

สำหรับประเทศที่มีการสูญเสียด้านสุขภาพต่ำที่สุดจะได้คะแนนเต็ม 100 ขณะเดียวกันประเทศที่มีการสูญเสียด้านสุขภาพสูงที่สุดจะได้ 0 คะแนน

singapore-tops-global-ranking-180-countries-safe-clean-drinking-water.jpg
Photo: อินโฟกราฟฟิกโดย : กนกวรรณ หิรัญกวินกุล

สำหรับประเทศที่อยู่ท้ายตารางส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา ได้แก่ :

176. มาดากัสการ์ / 12.9 คะแนน 

177. ไนเจอร์ / 12.2 คะแนน 

178. เลโซโท / 9.4 คะแนน 

179. สาธารณรัฐแอฟริกากลาง / 8.9 คะแนน 

180. ชาด / 4.3 คะแนน

“น้ำประปาสะอาดหมายถึงการเข้าถึง ความพร้อม และคุณภาพของน้ำที่ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งใช้เพื่อสุขภาพและความต้องการในครัวเรือนในแต่ละวัน...แหล่งน้ำที่เพียงพอจะต้องเข้าถึงได้ง่ายและไม่มีแนวโน้มว่าจะปนเปื้อน โดยเฉพาะจากอุจจาระ”

รายงานระบุ

ตัวอย่างแหล่งน้ำที่เพียงพอ ได้แก่ : 

  • ระบบน้ำประปาในครัวเรือน 
  • ท่อน้ำประปาสาธารณะ 
  • บ่อบาดาล 
  • บ่อน้ำพุธรรมชาติ 
  • แหล่งกักเก็บน้ำฝน

EPI ระบุว่า “การสัมผัสกับน้ำประปาที่ไม่สะอาดในครัวเรือนขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำหลัก และการบำบัดน้ำประปาเพื่อปรับปรุงคุณภาพก่อนบริโภค ซึ่งรวมถึงน้ำเดือดหรือน้ำกรอง” 

นอกจากนี้ “การสัมผัสกับสุขอนามัยที่ไม่ปลอดภัยนั้นก็ขึ้นอยู่กับประเภทของห้องน้ำที่ใช้ในครัวเรือน ซึ่งมีตั้งแต่ห้องน้ำที่ไม่ได้รับการปรับปรุง เช่น ห้องน้ำแบบเปิดโล่ง ไปจนถึงห้องน้ำที่ปรับปรุงแล้ว เช่น ห้องน้ำแบบปุ๋ยหมัก (composting toilets) ไปจนถึงห้องน้ำแบบชักโครก” EPI ระบุ 

รายงานนี้เผยแพร่ทุกๆ 2 ปี โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษาภาระโรคทั่วโลก (Global Burden of Disease Study) ซึ่งเผยแพร่โดยสถาบันวัดผลและประเมินผลสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation) ที่ตั้งอยู่ในเมืองซีแอตเทิล โดยรวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำในครัวเรือนและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขาภิบาลจาก 204 ประเทศ ตั้งแต่ปี 1990-2021

“หน่วยงานน้ำแห่งชาติของสิงคโปร์ (PUB) เป็นผู้ริเริ่มระบบอัตโนมัติในการตรวจสอบน้ำดื่มและระบบเตือนภัยล่วงหน้า ปัจจุบัน ประเทศได้รับประโยชน์จากระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพในการทดสอบน้ำดื่มเพื่อหาสารเคมี จุลินทรีย์ และสารปนเปื้อนที่อาจปนเปื้อนรังสี...แม้ว่าน้ำประปาจะมีคุณภาพสูง แต่ชาวสิงคโปร์จำนวนมากก็ต้มน้ำประปาก่อนดื่ม ซึ่งช่วยขจัดสารปนเปื้อนแบคทีเรีย และสารเคมีที่อาจเกิดขึ้นได้”

รายงาน EPI ระบุ

สำหรับคุณภาพความสะอาดและความปลอดภัยของน้ำประปาของประเทศไทยโดยรวมอยู่อันดับที่ 100 ของโลกได้ 51.2 คะแนนเต็ม 100 

รายงานจากหน่วยงาน SDGs หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ระบุว่า “สัดส่วนครัวเรือนที่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดเพิ่มขึ้นจาก 97% ในปี 2012 เป็น 99.5% ในปี 2019...” 

นอกจากนี้ องค์กร Planet Water Foundation ยังระบุว่า “แม้ว่าจะมีแหล่งน้ำพื้นฐานอยู่ทั่วประเทศไทย แต่การเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยยังคงเป็นความท้าทาย เนื่องจากผู้คนจำนวนมากต้องพึ่งพาน้ำขวด และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำ ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้มีรายได้น้อยจำนวนมาก”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์