เพื่อนบ้านเผาแต่เราสำลักฝุ่น สิงคโปร์ทำยังไงเมื่อเจอฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้าน

29 มี.ค. 2566 - 05:50

  • สิงคโปร์เคยเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากอินโดนีเซียเช่นเดียวกับที่หลายจังหวัดในภาคเหนือของไทยกำลังสำลักฝุ่นจากเมียนมาและลาวอยู่ในขณะนี้

  • เหตุการณ์นี้นำมาสู่การออกกฎหมายมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน Transboundary Haze Pollution Act (THPA) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนสิงหาคม 2014 เพื่อจัดการกับปัญหาฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้าน

singapore-transboundary-haze-pollution-indonesia-forest-fires-pm2.5-SPACEBAR-Thumbnail
ก่อนหน้านี้สิงคโปร์เคยเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียซึ่งหนักหน่วงเช่นเดียวกับที่หลายจังหวัดในภาคเหนือของไทยกำลังสำลักฝุ่นจากเมียนมาและลาวอยู่ในขณะนี้  
 
สิงคโปร์และมาเลเซียต้องเจอกับมลพิษทางอากาศรรุนแรงจากการเผาพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรจากเกาะสุมาตราและกาลิมันตันของอินโดนีเซียมาตั้งแต่ปี 1972 แต่ฟางเส้นสุดท้ายของสิงคโปร์มาจากเหตุการณ์ฝุ่นควันปกคลุมสิงคโปร์อย่างหนักจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพในปี 2013 ซึ่งเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี  
 
เหตุการณ์นี้นำมาสู่การออกกฎหมายมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน Transboundary Haze Pollution Act (THPA) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนสิงหาคม 2014 เพื่อจัดการกับปัญหาฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้อำนาจรัฐบาลดำเนินคดีกับบริษัทหรือปัจเจกบุคคล ทั้งที่อยู่ในสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ซึ่งทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศที่กระทบต่อสุขภาพของชาวสิงคโปร์ โดยพุ้งเป้าไปที่บริษัทต่างๆ ไม่ใช่ประเทศหนึ่งประเทศใด 
 
กฎหมาย THPA ให้อำนาจองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (NEA) และศาลสืบหาข้อมูลหลักฐานต่างๆ ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ของประเทศที่เข้าไปตรวจสอบ ขณะที่ผู้กระทำความผิดจะต้องไปขึ้นศาลที่สิงคโปร์ โดยมีทั้งโทษปรับและ/หรือจำคุก 
 
หากองค์กรใดหรือบุคคลใดเผาป่าหรือพื้นที่ทางเกษตรจนเกิดมลภาวะที่ทำให้คุณภาพอากาศของสิงคโปร์อยู่ในระดับ “ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ” จะต้องจ่ายค่าปรับไม่เกิน 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 2,585,750 บาทต่อวัน โดยมีเพดานค่าปรับสูงสุดอยู่ที่ 2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 51,704,749 บาท รวมทั้งยังมีโทษจำคุกอีกด้วยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการกระทำผิด  
 
เกณฑ์วัดคุณภาพอากาศสิงคโปร์กำหนดให้ค่ามลภาวะตั้งแต่ 101 ขึ้นไปเป็นเวลา 24 ชั่วโมงขึ้นไปถือว่าคุณภาพอากาศแย่
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2P4gyzfu0pctBAI6A3B92S/f3fb95bf5374e273d68305e2c1c5d821/singapore-transboundary-haze-pollution-indonesia-forest-fires-pm2.5-SPACEBAR-Photo01
Photo: AFP
นักผจญเพลิงชาวอินโดนีเซียกำลังดับไฟป่าในจังหวัดรีเยา ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นตอของหมอกควันพิษที่แพร่กระจายไปทั่วอาเซียน เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2019
 
ปี 2015 NEA ได้ส่งหนังสือเตือนไปยังบริษัทของอินโดนีเซีย 6 แห่งหลังจากมีไฟไหม้เกิดขึ้นในที่ดินของบริษัทเหล่านั้น เดือนมีนาคม 2017 NEA ปิดการสอบสวนบริษัท 2 แห่ง และปี 2021 ดำเนินคดี 4 บริษัท 
 
อย่างไรก็ดี การบังคับใช้กฎหมายมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนของสิงคโปร์มีความท้าทายรื่องอำนาจอธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้านอยู่บ้าง  
 
อย่างในกรณีของอินโดนีเซียที่รับปากว่าจะร่วมมือกับสิงคโปร์ควบคุมการเผาไร่นาและการแพร่รกระจายของหมอกควัน แต่ทางการก็ย้ำว่า ความพยายามใดๆ ที่ดำเนินการจะต้องไม่กระทบต่ออธิปไตยของอินโดนีเซีย นั่นหมายความว่า คำพิพากษาหรือมาตรการลงโทษที่ศาลหรือรัฐบาลสิงคโปร์มีต่อคู่ความฝั่งอินโดนีเซียจะไม่ได้บังคับใช้ทันทีในอินโดนีเซีย แต่จะต้องตรวจสอบและพิจารณาตามกฎหมายของอินโดนีเซียอีกครั้งหนึ่งก่อน หากผิดจริงจึงจะลงโทษตามกฎหมายของอินโดนีเซีย 
 
ในส่วนของอินโดนีเซียเองนั้น รัฐบาลชนะคดีที่ฟ้องหลายบริษัทที่เป็นต้นเหตุของเหตุไฟป่าครั้งรุนแรงเมื่อปี 2015 แต่ก็ยังสามารถบังคับใช้โทษปรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
 
ด้านสิงคโปร์เน้นย้ำว่า กฎหมาย THPA ไม่ได้มาแทนที่กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของประเทศอื่น แต่มีขึ้นเพื่อให้บริษัทที่กระทำผิดต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองเท่านั้น 
 
ส่วนประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM 2.5 โดยตรง กฎหมายที่พอจะนำมาใช้กับกรณีฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้านเห็นจะมีเพียงความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดน (AATHP) ที่ทุกประเทศในอาเซียนลงนามและให้สัตยาบันรับรอง 
 
ทว่าข้อตกลงนี้กลับไม่ได้ผล โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดบทลงโทษสำหรับประเทศที่ไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งอาจเป็นเพราะอาเซียนมีแนวปฏิบัติหนึ่งนั่นคือ การไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น 
 
อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้หรือเปล่าที่ไม่มีเพื่อนบ้านของไทยประเทศไหนเลยที่ปราบปรามการเผาไร่เผานาเพื่อการเกษตร แม้แต่ประเทศไทยเองนายกรัฐมนตรียังทำได้เพียงขอความร่วมมือจากเกษตรกรเท่านั้น ปอดคนไทยจึงยังต้องรับกรรมกันต่อไป 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์