แผนรณรงค์ลดพลาสติกไม่คืบ ยอดผลิตเพิ่มปีละ 6 ล้านตัน

10 ก.พ. 2566 - 08:16

  • มีขยะพลาสติกจำนวนมากถูกฝังกลบ หรือถูกทิ้งโดยไม่ได้รับการบำบัดในแม่น้ำและมหาสมุทร

  • การผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลบริสุทธิ์ยังไม่ถึงระดับสูงสุด และการใช้วัตถุดิบตั้งต้นที่นำมารีไซเคิลได้ยังอยู่ในระดับเล็กน้อย

  • นักวิจัยหลายคนกล่าวว่า พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งประมาณ 137 ล้านตัน ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในปี 2021

single-use-plastic-waste-rises-2019-2021-despite-pledges-SPACEBAR-Thumbnail
ขณะที่ทั่วโลกรณรงค์ลดโลกร้อนและลดการใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกทุกประเภท แต่งานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ กลับบ่งชี้ว่า การผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่ก่อมลพิษ เพิ่มขึ้น 6 ล้านตันต่อปี ตั้งแต่ปี 2019-2021 แม้จะมีกฎระเบียบที่เข้มงวดกว่าเดิมทั่วโลก  

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวกลายเป็นหนึ่งในภัยคุกคามเร่งด่วนด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโลก โดยมีขยะพลาสติกจำนวนมากถูกฝังกลบ หรือถูกทิ้งโดยไม่ได้รับการบำบัดในแม่น้ำและมหาสมุทร ประกอบกับกระบวนการผลิตยังเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกต่างหาก 

มูลนิธิมินเดอรู ในออสเตรเลีย ระบุว่า แม้การเติบโตจะชะลอตัวลงเมื่อเร็วๆ นี้ แต่การผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลบริสุทธิ์ยังไม่ถึงระดับสูงสุด และการใช้วัตถุดิบตั้งต้นที่นำมารีไซเคิลได้ยังอยู่ในระดับเล็กน้อย จึงทำให้มีความเป็นไปได้สูงมากที่วิกฤตขยะพลาสติกจะเลวร้ายกว่าเดิม ก่อนที่การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจะลดลง เมื่อเทียบเป็นรายปี 

งานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า จีน ขับเคลื่อนความต้องการพลาสติกทั่วโลกให้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะมีการห้ามผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งบางประเภทเมื่อปี 2019 แต่เป็นแค่ครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตใหม่ 15 ล้านตันในช่วงปี 2019-2021 

เมื่อปีที่แล้ว จีนระบุในแผนจัดการการผลิตพลาสติกว่า จะลดการผลิตและการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอย่างมาก รวมทั้งห้ามผลิตภัณฑ์บางอย่างอย่างสิ้นเชิง ซึ่งการเติบโตของการผลิตพลาสติกในจีนคาดว่าจะชะลอตัว แต่มูลนิธิมินเดอรู กล่าวว่า จีนยังคงมีส่วนในบริษัทชั้นนำ 20 แห่ง ที่วางแผนเพิ่มกำลังการผลิตพอลิเมอร์บริสุทธิ์จนถึงปี 2027 

นักวิจัยหลายคน กล่าวว่า พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งประมาณ 137 ล้านตัน ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในปี 2021 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 17 ล้านตันภายในปี 2027
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5Pryl7QaJhwP0XOysxgXpm/189aa455ba25ab47fe6948c41750ed2a/Info-________________
ผลวิจัยล่าสุดสวนทางกับความพยายามของทั่วโลกที่รณรงค์ลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างมาก เริ่มตั้งแต่สหภาพยุโรป (อียู) ที่ออกกฎหมายแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ไม่ว่าจะเป็นหลอด ช้อนส้อม มีด รวมถึงคอตตอนบัด ตั้งแต่ปี 2021 และภายในปี 2025 กำหนดให้ 25% ของขวดพลาสติกต้องรีไซเคิลได้ อีกทั้ง 90% ของขวดเครื่องดื่มต้องถูกรวบรวมและรีไซเคิลภายในปี 2029 

ส่วนสหรัฐฯ มีบางรัฐที่ห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และเตรียมแบนผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในอุทยาน ภายในปี 2032 โดยจะครอบคลุมอุทยานแห่งชาติ 423 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงเขตพักพิงสัตว์ป่า ที่ดิน และแหล่งน้ำอื่นๆ ที่บริหารจัดการโดยกระทรวงมหาดไทยของสหรัฐฯ 

ด้านออสเตรเลีย มีหลายรัฐที่มีมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวตั้งแต่เดือนก.ค.ปี 2018 รวมทั้งวิกตอเรียเป็นรัฐล่าสุดของออสเตรเลียที่ห้ามขายถุงพลาสติก ตั้งแต่เดือนพ.ย. ปี 2019 หากพบการฝ่าฝืน ผู้ค้าปลีกทุกรายในวิกตอเรียจะถูกปรับอย่างหนัก 

ส่วนเวียดนาม ก็ออกกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ปี 2020 โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการที่จะต้องทำให้ได้ภายในปี 2030 คือ 1.ลดขยะพลาสติกในทะเลให้ได้ 75% 2.กำจัดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและถุงพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายตามชายฝั่ง และ3. ท้องทะเลของเวียดนามต้องปราศจากขยะพลาสติก 

ขณะที่จีน  ห้ามใช้ถุงที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ในเมืองใหญ่ตั้งแต่สิ้นปี 2020 และในปี 2022 ห้ามไม่ให้ใช้หลอดแบบใช้ครั้งเดียวในร้านอาหาร 

เช่นเดียวกับบังกลาเทศ ที่ถือเป็นประเทศแรกที่ห้ามใช้ถุงพลาสติกนับตั้งแต่ 2002 หลังจากพบว่าถุงพลาสติกเข้าไปอุดตันท่อระบายน้ำจนทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศ อีกทั้งบังกลาเทศยังสร้างทางเลือกนำวัสดุจากธรรมชาติแทนพลาสติก ซึ่งก็คือปอกระเจา ทำเป็นเส้นใยที่ใช้ทำกระสอบผ้าใบให้เป็นวัสดุคล้ายพลาสติกแต่สามารถย่อยสลายได้ 

ตามมาด้วยไต้หวัน ที่ประกาศแบนการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทั้งถุงพลาสติก หลอด ช้อน ส้อม และถ้วยพลาสติก ตั้งแต่เดือนก.พ. ปี 2018 

ด้านนิวซีแลนด์ หลังจากห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในปี 2019 รัฐบาลนิวซีแลนด์ ก็วางแผนที่จะใช้ความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพื่อกำจัดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งรวมถึงแผนการลงทุน 40 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (26.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติก 

ขณะที่แคนาดา  นายกรัฐมนตรีแคนาดาประกาศเป้าหมายปีที่แล้ว ห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่เป็นอันตรายภายในปี 2021 ได้แถลงการณ์ไว้ว่า “ในฐานะพ่อแม่ เราอยู่ในจุดที่ต้องพาลูกๆ ไปที่ชายหาดที่ไม่มีเศษ โฟม หรือขวด” 

ส่วนโมร็อกโกที่เคยมีการใช้ถุงพลาสติกสูงถึงปีละ 3 พันล้านใบ ถือว่าสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก จนรัฐบาลโมร็อกโกต้องออกประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกในปี 2009 แล้วค่อยห้ามผลิต ซื้อขาย นำเข้า และส่งออกถุงพลาสติกอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา 

เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ออกกฎหมายห้ามใช้พลาสติกเฉพาะกลุ่มตั้งแต่เดือนก.พ.ปี 2016 ส่วนไทย ก็เริ่มรณรงค์เรื่องนี้ปี 2020 ร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 

ด้านอินโดนีเซีย ในฐานะเป็นประเทศที่มีหมู่เกาะมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวและการประมงเป็นอย่างมาก รัฐบาลอินโดนีเซียจึงประกาศแผนที่จะกำจัดพลากสติก ซึ่งเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจและสุนทรียภาพ โดยจะลดขยะพลาสติกลงให้ได้ 70% ภายใน5ปี และตั้งเป้ากำจัดให้หมดภายในปี 2040

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์