กลโกงแบบเดิมยังได้ผลเสมอ! 6 วงแชร์ลูกโซ่ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

19 ต.ค. 2567 - 03:00

  • เบอร์นาร์ด เมดอฟฟ์ คือผู้ก่อตั้งแชร์ลูกโซ่วงใหญ่ที่สุดในโลก

  • ผู้ก่อตั้งบริษัท MMM ออกหุ้นของตัวเอง แถมตั้งราคาซื้อขายเองเสร็จสรรพ โดยสัญญาว่าจะจ่ายเงินปันผลปีละ 3,000% มาพร้อมสโลแกน “วันนี้แพงกว่าเมื่อวาน”

  • วงแชร์ลูกโซ่ของโรมาเนียที่หลอกเงินชาวบ้านไปครึ่งประเทศมีนักการเมืองให้ความช่วยเหลือด้วย แม้แต่ประธานาธิบดีก็ยังไม่กล้าเข้าไปแทรกแซง

six-world-largest-pyramid-schemes-SPACEBAR-Hero.jpg

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ หรือ Pyramid scheme ก็ไม่เคยหายไปและยังใช้หลอกลวงคนได้ตลอดด้วยรูปแบบเดิมนั่นคือ นำเงินที่ได้จากคนที่เข้าร่วมทีมทีหลังมาจ่ายเป็นกำไรให้คนที่อยู่ในระดับบน โดยไม่มีการขายสินค้าหรือบริการ แชร์ลูกโซ่จะตั้งอยู่ได้ตราบเท่าที่มีสมาชิกรายใหม่เข้าร่วมต่อเนื่อง แต่เมื่อใดที่ไม่มีสมาชิกรายใหม่ ก็จะเริ่มไม่มีเงินจ่ายสมาชิกรายเก่า พีระมิดนี้ก็จะถล่มลงมา 

Spacebar พาย้อนดู 6 แชร์ลูกโซ่ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 

#1 Madoff Investment Securities: นักลงทุนสูญเงิน 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

แชร์ลูกโซ่นี้เป็นวงที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมาในรูปแบบของการลงทุน เบอร์นาร์ด เมดอฟฟ์ ผู้ก่อตั้งแชร์ลูกโซ่วงนี้เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ และคนใจบุญสุนทานชื่อดังคนหนึ่ง  

ปี 1960 เมดอฟฟ์ก่อตั้งบริษัท Madoff Investment Securities เพื่อประกอบธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ และถูกมองว่าเป็นหนึ่งในกองทุนรวมที่น่าเชื่อถือมากที่สุดกองหนึ่งในวอลล์สตรีท  

เมดอฟฟ์มีชื่อเสียงในแง่ดีจากการบริจาคเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ ส่วนบริษัท Madoff Investment Securities เป็นหนึ่งในท็อป 25 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ และจ่ายเงินปันผลคืนให้นักลงทุนสูงถึงปีละ 12% บรรดาธนาคารใหญ่ๆ ของโลกและเซเลบริตีล้วนนำเงินมาลงทุนกับ Madoff Investment Securities เพราะเชื่อว่าเมดอฟฟ์มีข้อมูลวงในที่ทำให้บริษัทจ่ายเงินปันผลได้สูงขนาดนี้ 

40 ปีผ่านไปความจริงก็เปิดเผยว่า เมดอฟฟ์นำเงินจากนักลงทุนรายใหม่มาจ่ายให้นักลงทุนรายเก่า ซึ่งก็เป็นไปตามสูตรแชร์ลูกโซ่สุดคลาสสิก และคนที่แจ้งทางการสหรัฐฯ ก็คือลูกชายของเมดอฟฟ์เอง 

การฉ้อโกงครั้งใหญ่นี้มีคนตกเป็นเหยื่อ 3 ล้านคน มีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 4 คน นักการธนาคารและลูกชายของเมดอฟฟ์ที่หักหลังพ่อตัวเองฆ่าตัวตาย 

เมดอฟฟ์ถูกตัดสินจำคุก 150 ปีซึ่งเป็นโทษจำคุกสูงสุดตามกฎหมายเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2009 ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคไตเรื้อรังที่ศูนย์การแพทย์รัฐบาลกลางเมื่อปี 2021

six-world-largest-pyramid-schemes-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: เบอร์นาด เมดอฟฟ์ (กลาง) เดินออกมาจากศาลในแมนฮัตตันหลังศาลพิจารณาคำร้องขอประกันตัวเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2009 Photo by HIROKO MASUIKE / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP

#2 MMM: นักลงทุนสูญเงินมากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

MMM คือแชร์ลูกโซ่ที่ใหญ่ที่สุดในฝั่งยุโรปตะวันออก การล้มครืนของแชร์ลูกโซ่นี้กระทบคนนับล้าน 

ปี 1989 เซอร์เกย์ มาฟโรดิ ชาวกรุงมอสโก พี่ชาย และภรรยา ร่วมกันก่อตั้ง MMM บริษัทเล็กๆ เพื่อขายอุปกรณ์สำนักงานในสหภาพโซเวียต บริษัทประสบความสำเร็จดีจนในช่วงต้นทศวรรษ 1990 MMM ก็กลายเป็นผู้นำตลาด ทว่าหลังเติบโตบริษัทก็เจอกับปัญหาทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่สรรพากรกล่าวหาว่า MMM เลี่ยงภาษี ทำให้บริษัททำธุรกิจยาก มาฟโรดิจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาทำธุรกิจด้านการเงิน 

แรกเริ่ม MMM พยายามขายหุ้นเมริกันแต่ก็ล้มเหลวเนื่องจากนักลงทุนไม่เชื่อมั่น มาฟโรดิจึงออกหุ้นของตัวเองโดยมีมูลค่า 1,000 รูเบิลในปี 1994 และนี่คือจุดเริ่มต้นของแชร์ลูกโซ่ MMM 
 

หุ้นของ MMM ราคาพุ่งรายวันอย่างไม่มีเหตุผล การโฆษณาและสโลแกน “วันนี้แพงกว่าเมื่อวาน” ของบริษัททำงานได้อย่างดี โฆษณาชิ้นแรกทางทีวีระบุว่า MMM จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นปีละ 1,000% ทำให้คนสนใจลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  

ที่น่าสนใจคือ มาฟโรดิตั้งราคาหุ้นเอง โดนจะประกาศราคาใหม่สำหรับการซื้อขายด้วยตัวเองสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ภายใน 6 เดือนมูลค่าหุ้นของ MMM เพิ่มขึ้น 127 เท่า ปี 1994 บริษัทให้สัญญาว่าจะจ่ายเงินปันผลปีละ 3,000%  

แล้วก็เป็นไปตามสูตรแชร์ลูกโซ่ที่นำเงินของสมาชิกใหม่ไปจ่ายให้สมาชิกเก่า MMM มีเงินพอจ่ายให้นักลงทุนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 1994 หลังจากนั้นมาฟโรดิก็ลดมูลค่าหุ้นลง 127 เท่าให้กลับมาเหลือหุ้นละ 1,000 รูเบิลตามมูลค่าแรกเริ่ม  

และแล้ววันที่พีระมิดพังก็มาถึง หลังจากข่าวการลดมูลค่าหุ้นเผยแพร่ออกไป มีคนฆ่าตัวตาย 50 คน ตำรวจปราบจลาจลบุกออฟฟิศ MMM และอพาร์ตเม้นต์ของมาฟโรดิ ผู้ก่อตั้งแชร์ลูกโซ่วงนี้ถูกจับกุมในข้อหาเลี่ยงภาษี มาฟโรดิเผยว่ามีคนได้รับผลกระทบราว 15 ล้านคน  

#3 Stanford International Bank: นักลงทุนสูญเสีย 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

โรเบิร์ต  อัลเลน สแตนฟอร์ด ก่อตั้งแชร์ลูกโซ่วงใหญ่ในรูปแบบของธนาคาร  ปี 1983 อัลเลนเริ่มขายอสังหาริมทรัพย์ในฟลอริดาแต่ไม่ได้ทำให้ถูกกฎหมาย จึงต้องย้ายธุรกิจไปที่แอนติกาและบาร์บูดาซึ่งเป็นเกาะอยู่ในทะเลแคริบเบียน ที่สามารถเลี่ยงการตรวจสอบภาษีจากสหรัฐฯ และทำธุรกิจได้สะดวก ปี1986 สแตนฟอร์ดเปิดธนาคาร Stanford International Bank ที่นั่น 

ธนาคาร Stanford International Bank ออกบัตรเงินฝากเป็นทางเลือกของการฝากเงิน ธนาคารของสแตนฟอร์ดมีข้อเสนอที่ดีกว่าเจ้าอื่น อาทิ ผลตอบแทนแบบคงที่สูงกว่า ลูกค้าถูกโน้มน้าวว่าบัตรเงินฝากนี้มีทรัพย์สินของธนาคาร Stanford International หนุนหลังอยู่  

 นอกจากนี้ อัลเลนยังปลอมแปลงเอกสารของธนาคารจึงไม่มีใครทราบสถานการณ์ที่แท้จริงของธนาคาร ความจริงคือ ดอกเบี้ยสูงๆ ที่ธนาคารจ่ายให้กับผู้ถือบัตรเงินฝาก จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีนักลงทุนรายใหม่เข้าไปลงทุน   

ธนาคารของอัลเลนดำเนินการเป็นเวลา 23 ปี มีเงินลงทุนจากทั้งสหรัฐฯ แคริบเบียน และอเมริกาใต้ ส่วนอัลเลนยักยอกเงินของนักลงทุนไว้ราว 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กว่าทางการสหรัฐฯ จะเปิดโปงพฤติกรรมของอัลเลนเมื่อปี 2009 ต่อมาปี 2012 อัลเลนถูกพิพากษาจำคุก 110 ปีในข้อหาฉ้อโกง 

#4 European Kings Club: นักลงทุนสูญเงิน 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

วงแชร์ลูกโซ่ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปนี้ก่อตั้งโดย ดามารา และฮาราลด์ แบร์เกส และฮันส์ กึนเธอร์ ชปัคธอลซ์ ดำเนินงานทั้งในสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และออสเตรีย ตั้งแต่ปี 1992-1994 มีผู้เกี่ยวข้องราว 94,000 คน โดยเฉพาะในบางรัฐมีผู้เสียหายราว 1 ใน 10 ของประชากร  

European Kings Club เป็นสถานที่สำหรับเจ้าของกิจการขนาดเล็กและกลางที่ได้รับคัดเลือก โดยเจ้าของกิจการเหล่านี้สามารถรับเงินทุนสนับสนุนได้ การเข้าร่วม “คลับ” ต้องซื้อหุ้นของคลับมูลค่า 1,400 เยอรมันมาร์ก (ราว 26,506 บาทในปัจจุบัน) ส่วนคลับรับปากว่าจะจ่ายเงินคืนให้ผู้ลงทุน 200 เยอรมันมาร์กทุกเดือน ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่สูงมากสำหรับองค์กรที่ทำการซื้อขายหุ้นอย่างเดียว 

แชร์ลูกโซ่นี้ดำเนินมาจนกระทั่งฤดูใบไม้ผลิปี 1994 เมื่อทางการเยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์จับกุมผู้ก่อตั้ง European Kings Club และอายัดเงินราว 500 ล้านเยอรมันมาร์กที่เหยื่อจ่ายให้คลับนี้  

การล่มสลายของ European Kings Club ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย และเยอรมนี เนื่องจากผู้เข้าร่วมคลับบางคนไม่ยอมเชื่อว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ มีการรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนและเรียกร้องให้ปล่อยตัวบรรดาบอสระดับบนๆ เพราะตอนที่เรื่องแดงขึ้นมานั้นแชร์ลูกโซ่นี้ยังดำเนินไปได้อยู่ แม้แต่พนักงานอัยการที่ทำคดีนี้ก็ถูกข่มขู่เอาชีวิต  

ปี 1997 ดารามา บอสใหญ่ถูกศาลเยอรมนีตัดสินจำคุก 8 ปีในข้อหาฉ้อโกงและมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรม แต่หลังจากรับโทษได้เพียง 5 ปีก็ได้รับการปล่อยตัวโดยมีการทัณฑ์บน ส่วนสามีและผู้ร่วมขบวนการที่เหลือถูกจำคุก 4 ปีครึ่ง 

#5 Caritas: นักลงทุนสูญเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

แชร์ลูกโซ่วงนี้เกี่ยวข้องกับพลเมืองโรมาเนียครึ่งประเทศ ระหว่างการมีอยู่ของ Caritas จอห์น สตอยกา บิ๊กบอสของ Caritas หลอกลวงคนไปถึง  4 ล้านคน และที่น่าตกใจคือ รัฐมีส่วนช่วยในมหกรรมโกงครั้งนี้ด้วย 

สตอยกาก่อตั้งบริษัท Caritas ขึ้นในปี 1992 เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ชาวโรมาเนียในช่วงวิกฤตในทศวรรษ 1990 ดูเหมือนว่าชื่อของแชร์ลูกโซ่วงนี้จะผ่านการคิดมาอย่างดี เพราะ Caritas แปลว่า การกุศล ในภาษาละติน และยังสอดคล้องกับชื่อขององค์กรการกุศลระดับโลก ทำให้ชื่อของ Caritas ยิ่งดูน่าเชื่อถือ และชาวโรมาเนียก็พากันเชื่อสตอยกา 

Caritas สัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 800% ใน 3 เดือน โดยเริ่มแรกจำกัดเงินฝากสูงสุดที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วขยับเป็น 100 ดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ แม้นี่จะเป็นเงินจำนวนมากสำหรับชาวโรมาเนีย แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังนำเงินมาลงทุน 

ทีวีและนักการเมืองมีส่วนช่วยให้ Caritas เป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างมาก กอร์จ ฟูนาร์ สมาชิกพรรคชาตินิยมของโรมาเนียให้เงินสนับสนุนองค์กรนี้ด้วย ฟูนาร์ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองคลูจด้วยอนุญาตให้ Caritas เช่าส่วนหนึ่งของอาคารที่ทำการ และจ่ายเงินให้สื่อท้องถิ่นทำข่าวรายชื่อผู้โชคดีที่เงินลงทุนเติบโตถึง 8 เท่า แต่ในที่สุดแชร์ลูกโซ่นี้ก็ล่มภายใน 1 เดือน 

แม้ว่าตลอดเวลาดังกล่าวรัฐบาลโรมาเนียจะรับทราบกิจกรรมผิดกฎหมายของ Caritas ทั้งหมด แม้แต่ประธานาธิบดีก็ยังไม่กล้าเข้าไปแทรกแซง เนื่องจากรัฐบาลกลัวว่าประชาชนจะลงถนนประท้วงและกลัวปฏิกิริยาความไม่พอใจของนักลงทุน 

ก่อนล้มละลาย Caritas หลอกเงินจากชาวโรมาเนียได้ราว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงที่พีคที่สุด Caritas ครอบครองธนบัตรโรมาเนียถึง 1 ใน 3 อย่างไรก็ดี แม้ความเสียหายจะมหาศาลแต่สตอยกากลับถูกจำคุกเพียง 1.5 ปีเท่านั้น ส่วนฟูนาร์ก็ยังอยูในวงการการเมือง เมื่อปี 2014 เขาลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีโรมาเนียแต่แพ้การเลือกตั้ง 

#6 Mutual Benefits Corporation: นักลงทุนสูญเงิน 1,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

โจล สไตน์เกอร์ คือบิ๊กบอสของ Mutual Benefits Corporation ที่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1994 แต่ในเอกสารระบุแค่ว่าตัวเองเป็น “ผู้ให้คำปรึกษา” ในขณะนั้นคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ห้ามไม่ให้สไตนเกอร์ขายหลักทรัพย์ แต่นั่นก็ไม่สามารถหยุดเข้าได้ 

Mutual Benefits Corporation ทำเงินจากการซื้อขายกรรมธรรม์ประกันชีวิตที่เรียกว่า viatical settlement (เมื่อเจ้าของกรมธรรม์ป่วยร้ายแรงขายกรมธรรม์ของตัวเองในราคาที่ต่ำกว่าทุนประกันเพื่อแลกกับเงินสด) สาระสำคัญของการฉ้อโกงนี้คือ ผู้ป่วยขายกรมธรรม์ประกันชีวิตของตัวเองให้ Mutual Benefits Corporation อาจจะเนื่องจากไม่สามารถชำระค่าเบี้ยประกันได้อีกต่อไป หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินขณะที่ยังมีชีวิตอยู่  

Mutual Benefits Corporation จะกลายเป็นผู้รับผลประโยชน์จากกรมธรรม์แทนเจ้าของเดิม และมีภาระในการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตให้กับบริษัทประกันชีวิตแทนจนกว่าเจ้าของกรมธรรม์เดิมเสียชีวิต หลังจากนั้นจึงรับสินไหมจากบริษัทประกันเป็นผลประโยชน์ในการลงทุน 

หลังจากนั้น Mutual Benefits Corporation จะขายกรมธรรม์นี้ต่อให้บุคคลที่ 3 และกลายเป็นตัวกลางระหว่างบริษัทประกันกับเจ้าของกรมธรรม์คนใหม่ เจ้าของกรมธรรม์คนใหม่จะเป็นฝ่ายจ่ายเบี้ยประกันชีวิต โดยได้ผลประโยชน์ตามสัดส่วนการลงทุนเป็นสิ่งตอบแทนจนกว่าเจ้าของกรมธรรม์คนแรกจะเสียชีวิต 

เงื่อนไขซับซ้อนนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยความจงใจเพื่อให้นักลงทุนสับสน นอกจากนี้บริษัทยังปลอมรายงานทางการแพทย์ที่ส่งให้นักลงทุน เพื่อทำให้ดูว่าเจ้าของกรมธรรม์เดิมป่วยหนักเกินจริง ทำให้นักลงทุนเข้าใจว่าตัวเองจ่ายเบี้ยยประกันชีวิตไม่นานก็จะได้เงินประกันจากการเสียชีวิตของเจ้าของกรมธรรม์เดิม แต่จริงๆ แล้วมีเจ้าของกรมธรรม์เดิมเสียชีวิตไม่มาก บริษัทจึงต้องใช้เงินจากนักลงทุนรายใหม่มาจ่ายดอกเบี้ยให้กับนักลงทุนรายเก่าตามสูตรของแชร์ลูกโซ่เป๊ะ 

แม้จะมีการร้องเรียนจากนักลงทุนหลายคนที่ไม่พอใจว่าเจ้าของกรมธรรม์เดิมราว 90% มีชีวิตยืนยาวกว่าที่คาดไว้มาก แต่การกำกับดูแลที่หละหลวมจากหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐ และการสอบสวนที่ผิดพลาดในปี 1998 โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ก็ทำให้ Mutual Benefits Corporation ดำเนินธุรกิจได้นานกว่าทศวรรษ 

กระทั่งปี 2001 แพทย์รายหนึ่งที่ปลอมแปลงคาดการณ์การเสียชีวิตของผู้ป่วยถูกจับกุมในข้อหาฉ้อโกงยอมเปิดโปงสไตน์เกอร์เพื่อแลกกับโทษที่เบาลงสำหรับตัวเอง จนนำมาสู่การสั่งปิด Mutual Benefits Corporation ในปี 2004 ส่วนสไตน์เกอร์ถูกตัดสินจำคุก 20 ปีในปี 2014 รวมแล้วบริษัทขายกรมธรรม์ไป 30,000 กรมธรรม์ มูลค่า 1,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์