บลูมเบิร์กซูฮกก้าวไกลใช้ TikTok โกยคะแนนคนรุ่นใหม่ท่วมท้น

20 พ.ค. 2566 - 02:43

  • พรรคก้าวไกลที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งมีข้อได้เปรียบในเรื่องการใช้ติ๊กต็อก ซึ่งช่วยให้พรรคโกยคะแนนจากบรรดาคนรุ่นใหม่

  • เมื่อขยับเข้าใกล้วันเลือกตั้งบัญชี TikTok ที่เป็นทางการของพรรคก้าวไกลมียอดผู้ติดตามพุ่งไปอยู่ที่กว่า 2.8 ล้านคน

social-media-plays-key-role-in-election-move-forward-party-SPACEBAR-Thumbnail
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1y9zvYPsIWhlzwQ3oxVdOK/87f0249be130cdfb20343ab3ee3419a2/social-media-plays-key-role-in-election-move-forward-party-SPACEBAR-Photo01
Photo: Jack TAYLOR / AFP
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าโซเชียลมีเดียไม่ใช่ ‘ทางเลือก’ แต่เป็น ‘ช่องทางหลัก’ ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุดในบ้านเรา เพราะคนไทยได้เกือบ 80% เล่นโซเชียลมีเดีย และใช้เวลาอยู่ในนั้นเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง  

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า พรรคก้าวไกลที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งมีข้อได้เปรียบในเรื่องการใช้ติ๊กต็อก (TikTok) แม้ว่าพรรคใหญ่ๆ จะใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงเช่นกัน แต่พรรคก้าวไกลกลับทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์มากกว่า ซึ่งช่วยให้พรรคโกยคะแนนจากบรรดาคนรุ่นใหม่ ทั้งยังได้คะแนนเสียงมากกว่าที่ผลโพลก่อนการเลือกตั้งบอกไว้ 

พรรคก้าวไกลซึ่งได้คะแนนเสียงอย่างไม่เป็นทางการ 151 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้ทิ้งวิธีการหาเสียงแบบดั้งเดิม เช่น การติดตั้งป้ายหาเสียงตามริมทาง และการลงพื้นที่หาเสียงตามบ้านเรือน แต่การพึ่งพาโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ TikTok ช่วยเปลี่ยนความนิยมในโลกเสมือนจริงให้เป็นคะแนนเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าพรรคอื่นๆ ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของหัวคะแนนออร์แกนิกซึ่งมาจากผู้คนที่สนับสนุนพรรคที่แชร์และทำคอนเทนต์การหาเสียงให้พรรคก้าวไกล 

อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร พูดไว้ในคลับเฮ้าส์ว่า “พรรคก้าวไกลใช้คอนเท้นต์ที่ผู้ใช้งานสร้างขึ้นบน TikTok เพราะคนรุ่นใหม่อยู่ในแพลตฟอร์มนี้ และ TikTok ก็มีผู้ใช้งานมากที่สุด” และเสริมว่า “คอนเทนต์กลายเป็นไวรัลเพราะหัวคะแนนออร์แกนิก” โดยอ้างถึงความสามารถของพรรคก้าวไกลในการมีส่วนร่วมกับบรรดาหัวคะแนนออร์แกนิกเหล่านี้เพื่อเผยแพร่นโยบายของพรรค 

Bloomberg ระบุอีกว่า พรรคก้าวไกลได้รับแรงสนับสนุนจากบรรดาคนรุ่นใหม่และคนที่สนใจด้านเทคโนโลยี และเมื่อขยับเข้าใกล้วันเลือกตั้งบัญชี TikTok ที่เป็นทางการของพรรคก้าวไกลมียอดผู้ติดตามพุ่งไปอยู่ที่กว่า 2.8 ล้านคนจากเดิมที่มีอยู่ไม่ถึง 400,000 คนในช่วงต้นเดือนเมษายน 

นอกจากนี้ ยอดผู้ติดตามทวิตเตอร์ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก็ขยับขึ้นเป็นกว่า 1 ล้านคนก่อนวันเลือกตั้ง ส่วนคลิปวิดีโอการหาเสียงคลิปหนึ่งที่โพสต์บนบัญชีทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการของพรรคก้าวไกล 1 วันก่อนการเลือกตั้ง มียอดผู้เข้าชมมากกว่า 1 ล้านครั้ง 

จากข้อมูลของ DataReportal พบว่า ในเดือนมกราคม 2022 มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย 54.5 ล้านคน คิดเป็น 78% ของประชากรทั้งหมด แม้ว่าเฟซบุ๊คจะเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมที่สุดโดยมีมากกว่า 50 ล้านบัญชีในประเทศไทย แต่  TikTok ก็ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายไม่แพ้กัน โดยมีผู้ใช้เกือบ 36 ล้านคน
 
ตัวตึงโซเชียลฯ
Bloomberg ระบุว่า พรรคก้าวไกลใช้หลายกลยุทธ์ในการดึงดูดความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการปราศรัยที่ดุเดือดโดยพิธาหรือแคนดิเดตคนอื่นๆ ในหลายประเด็น อาทิ สถาบันกษัตริย์ ไปจนถึงประเด็นทั่วไปอย่างอาหารท้องถิ่น 

วิธีการที่หลากหลายช่วยให้ผู้สมัครของพรรคบางคนโกยคะแนนถล่มทลาย อย่างในกรณีของ รักชนก ศรีนอก นักเคลื่อนไหวที่เป็นทาสแมวซึ่งโด่งดังจากคลับเฮาส์ เธอคนนี้ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากโพสต์ที่เจ้าตัวลงพื้นที่หาเสียงโดยการปั่นจักรยาน หรือภาพที่เธอถือกระดาษเปล่าแล้วให้ชาวเน็ตมีส่วนร่วมเขียนข้อความอะไรลงไปก็ได้ 

ไม่ถึง 1 เดือนจำนวนผู้ติดตามบัญชี TikTok ของรักชนกทะยานขึ้นมากกว่าครึ่งล้าน และเธอยังเอาชนะในเขตเลือกตั้งที่ลงสนามด้วยคะแนนส่วนต่างถึง 20% โค่นตระกูลการเมืองท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของเก้าอี้มากว่า 2 ทศวรรษได้สำเร็จ

การเลือกตั้งครั้งนี้ยังทำให้เห็นถึงความสำคัญของประโยคที่ว่า ‘Content is king’ การสื่อสารเกี่ยวกับนโยบายที่ชัดเจนและสม่ำเสมอกลายเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างแรงสนับสนุนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และครั้งนี้พรรคก้าวไกลเข้าถึงกลุ่มป้าหมายด้วยสไตล์การใช้ภาษาที่ตรงใจคนฟัง 

พรรคก้าวไกลเข้าร่วมการดีเบตนโยบายในหลากหลายแพลตฟอร์ม โดยมีการอภิปรายและการหาเสียงที่แชร์บนโซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงผู้ชมในวงกว้าง รวมถึงคนรุ่นใหม่และเบบี้บูมเมอร์ที่เริ่มใช้โซเชียลมีเดียหลังการระบาดของโควิด-19 

ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การปล่อยเฟคนิวส์ดูเหมือนจะทำอะไรก้าวไกลไม่ได้ เนื่องจากเหล่าผู้สนับสนุนและแฟนคลับจะช่วยกันชี้แจงแถลงไขความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับพรรคให้เสร็จสรรพ 

และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นกุญแจสำคัญในการเลือกตั้งระดับภูมิภาค ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซียนั้น พรรคอนุรักษนิยมอิสลามก็พึ่งโซเชียลดึงดูดคนรุ่นใหม่ชาวมาเลย์ ซึ่งช่วยให้พรรคได้ที่นั่งถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

เช่นเดียวกับที่ฟิลิปปินส์ เฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ ก็ใช้โซเชียลมีเดียสร้างภาพที่สวยงามของอดีตผู้นำเผด็จการ เฟอร์ดินาน มาร์กอส ผู้เป็นพ่อ ให้บรรดาคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งได้รับรู้ ซึ่งเจ้าตัวก็คว้าคะแนนมาได้แบบแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว 

ณพล จาตุศรีพิทักษ์ จาก ISEAS-Yusof Ishak Institute ของสิงคโปร์เผยว่า พรรคก้าวไกล “มีประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารโดยตรงกับผู้สนับสนุน และนี่เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ในการเมืองไทย” และว่า “พวกเขาใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นสะพานเชื่อมช่องว่างระหว่างการเคลื่อนไหวทางสังคมกับการเมืองแบบรัฐสภา ไม่มีพรรคอื่นทำแบบนี้” 

ส่วน กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Wisesight ผู้ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์เผยกับ Bangkok Post ว่า อารมณ์ความรู้สึกในโซเชียลมีเดียสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของผูใช้ และจากข้อมูล Zocial Eye ของ Wisesight เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พบว่า พรรคก้าวไกลถูกพูดถึง 245,932 ครั้ง ตามด้วยแคนดิเดตของพรรคต่างๆ ที่ 43,537 ครั้ง และพรรครวมไทยสร้างชาติ 25,738 ครั้ง พรรคเพื่อไทย 20,996 ครั้ง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์