อาเซียนหนีไม่พ้น! ทะเลจีนใต้กำลังจะกลายเป็นสมรภูมิเดือดของสหรัฐฯ กับจีน

9 มิ.ย. 2566 - 07:01

  • เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาที่เครื่องบินรบ J-16 ของจีนและเครื่องบินสอดแนม RC-135 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เกือบจะชนกันในทะเลจีนใต้

  • ฟิลิปปินส์ตกลงให้สหรัฐฯ เข้าไปตั้งฐานทัพเพิ่มอีก 4 แห่งในฟิลิปปินส์จากที่มีอยู่เดิม 5 แห่ง ทำให้สหรัฐฯ ครอบครองจุดยุทธศาสตร์สำคัญในทะเลจีนใต้ทันที

south-china-sea-battle-field-us-china-philippines-bases-SPACEBAR-Hero
ในขณะที่ความสนใจส่วนใหญ่พุ่งไปที่ไต้หวันว่าน่าจะเป็นตัวจุดชนวนให้สหรัฐฯ กับจีนเปิดฉากปะทะกัน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพจีนกลับเตือนว่า ไม่ใช่ไต้หวันอย่างที่หลายคนคิด แต่เป็นทะเลจีนใต้ต่างหากที่จะทำให้สงครามระหว่างสองมหาอำนาจปะทุขึ้น 

โจวโป อดีตนายพลอาวุโสของกองทัพประชาชนจีนเผยว่า ด้วยการเผชิญหน้ากันอย่างเฉียดฉิวจนหวิดจะชนกันทั้งในทะเลและในอากาศที่เพิ่มขึ้น ความขัดแย้งมีแนวโน้มจะถูกจุดชนวนจากอุบัติเหตุหรือการคำนวณผิดพลาดในทะเลจีนใต้ที่ถูกทำให้เป็นพื้นที่ทางการทหารมากขึ้น 

เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาที่เครื่องบินรบ J-16 ของจีนและเครื่องบินสอดแนม RC-135 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เกือบจะชนกันในทะเลจีนใต้ และสถานการณ์เริ่มร้อนแรงมากขึ้นเมื่อฟิลิปปินส์ตกลงให้สหรัฐฯ เข้าไปตั้งฐานทัพเพิ่มอีก 4 แห่งในฟิลิปปินส์จากที่มีอยู่เดิม 5 แห่ง ทำให้สหรัฐฯ ครอบครองจุดยุทธศาสตร์สำคัญในทะเลจีนใต้ทันที ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมของจีนในทะเลจีนใต้และความตึงเครียดกรณีไต้หวัน 

ฐานทัพแห่งใหม่ทั้ง 4 แห่งของสหรัฐได้แก่ ฐานทัพบาลาบัค (Balabac) บนเกาะปาลาวัน ฐานทัพคามิโลโอเซียส (Camilo Osias) ในจังหวัดคากายัน สนามบินลัลโล (Lal-lo) ในจังหวัดคากายัน และฐานทัพเมลชอร์เดลาครูซ (Melchor Dela Cruz) ในจังหวัดอิซาเบลา  

ที่ตั้งของฐานทัพใหม่เหล่านี้สำคัญมาก ฐานทัพคามิโลโอเซียสทางตอนหนือของเกาะลูซอนตั้งอยู่ห่างจากเมืองเกาสงทางตอนใต้ของไต้หวันเพียง 500 กิโลเมตร ขณะที่เกาะปาลาวันตั้งอยู่ใกล้กับหมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้ซึ่งจีนเข้าไปสร้างเกาะเทียมที่มีทั้งรันเวย์และระบบขีปนาวุธติดตั้งอยู่ 

คอลลิน โก๊ะห์ นักวิจัยจาก S. Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์เผยว่า ฐานทัพเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งใดๆ ก็ตามในภูมิภาค “ฐานทัพทางตอนเหนือไม่เพียงแต่ตั้งเป้าไว้สำหรับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในไต้หวัน แต่ยังมีประโยชน์ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ มันยากที่จะจินตนาการว่าความขัดแย้งที่ช่องแคบไต้หวันจะไม่เกี่ยวข้องกับมิติของทะเลจีนใต้” 

โก๊ะห์ระบุว่าช่องแคบปาสือทางตอนเหนือของช่องแคบลูซอนซึ่งอยู่ใกล้กับไต้หวันป็นจุดยุทธศาสตร์ของช่องแคบ (chokepoint) ที่สำคัญทั้งสำหรับกองทัพเรือจีนที่ใช้ออกจากน่านน้ำของตัวเองสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อพุ่งป้าไปที่ฐานทัพของกองทัพสหรัฐฯ บนเกาะกวม ทั้งสำหรับเรือรบสหรัฐฯ ในการออกสู่ทะเลจีนใต้  

โก๊ะห์บอกอีกว่า ฐานทัพบาลาบัคเหมาะสำหรับรวบรวมข่าวกรองและทำกิจกรรมทางอากาศและทางน้ำในช่วงที่ไม่มีสงครามในพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้แนวปะการังมิสชีฟถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4kaPLcShGaxyQuvNaBEN1n/96c3cafe3fc07695420ec9d52666134e/info_south-china-sea-battle-field-us-china-philippines-bases__1_
ฐานทัพแห่งใหม่ 4 แห่ง และอีก 5 ฐานทัพที่สหรัฐฯ มีอยู่แล้วในฟิลิปปินส์ ได้แก่ ฐานทัพอากาศอันโตนิโอเบาติสตาในปาลาวัน ฐานทัพอากาศบาซาในปัมปังกา ฐานทัพแม็กไซไซในจังหวัดนูเอวาอซีฮา ฐานทัพอากาศเบนิโตเอบูเอนในจังหวัดเซบู และฐานทัพอากาศลัมเบียในจังหวัดมินดาเนา ทำให้สหรัฐฯ สามารถเชื่อมช่องว่างในแนวโค้งแห่งพันธมิตร (arc of US alliances) ทั้งหลายของสหรัฐฯ ไล่ตั้งแต่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นทางเหนือ ไปจนถึงออสเตรเลียทางใต้ 

แนวโค้งแห่งพันธมิตรนี้จะทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นผู้ชมแถวหน้าในการเฝ้าจับตาดูจีนในทะเลจีนใต้และไต้หวัน แถมยังทำให้สหรัฐฯ ได้เปรียบในแง่ของพื้นที่ที่สามารถปักหมุดในพื้นที่สุดปลายด้านตะวันออกเฉียงใต้ของทะเลจีนใต้ที่ห่างจากไต้หวันราว 300 กิโลเมตรเท่านั้น 

เกรกอรี บี โพลิง ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก Centre for Strategic and International Studies ในสหรัฐฯ เผยว่า “ไม่มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดในอนาคตใดในทะเลจีนใต้ที่ไม่จำเป็นต้องเข้าถึงฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ ไม่ได้กำลังมองหาฐานทัพถาวร มันเกี่ยวกับสถานที่ ไม่ใช่ฐานทัพ” 

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความกังวลในฟิลิปปินส์ว่าตัวเองจะตกอยู่ในความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในอนาคต แต่ฟิลิปปินส์ก็ไม่มีทางเลือก จึงต้องดึงสหรัฐฯ เข้ามาคานอำนาจจีนไว้ ดังที่ โฮเซ กุยเซีย จูเนียร์ อดีตเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำสหรัฐฯ เผยว่า “เราอยู่ในสถานการณ์ที่ได้แต่ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้แล้วต่างคนต่างอยู่ แต่ในปี 2012 พวกเขาพยายามยึดหมู่เกาะสการ์โบโร แล้วปี 2014 พวกเขาก็เริ่มสร้างเกาะ การเข้ายึดครองพื้นที่ของจีนทำให้ความสัมพันธ์เปลี่ยน เรามีขีดความสามารถจำกัดมากในการต่อต้านภัยคุกคามจากจีน จีนทำให้พื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นพื้นที่ทหารและทำให้ดินแดนของเราตกอยู่ภายใต้การคุกคามมากขึ้น มีแค่สหรัฐฯ ที่มีอำนาจในการหยุดจีน ฟิลิปปินส์ทำคนเดียวไม่ได้” 

ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยมีฐานทัพที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย 2 แห่งในฟิลิปปินส์ นั่นคือ ฐานทัพซูบิกและฐานทัพคลาร์ก ก่อนจะถอนตัวออกมาในปี 1992  

แต่ CNN มองว่าการเข้าไปตั้งฐานทัพครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน เพราะครั้งนี้กองทัพจีนไม่ได้อ่อนแออีกต่อไป แถมยังมาจ่ออยู่ที่หน้าประตูบ้านฟิลิปปินส์เรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ฟิลิปปินส์ได้แต่มองด้วยความกังวลแต่ก็ไม่มีกำลังจะเข้าไปแทรกแซง ได้แต่ปล่อยให้จีนวาดแผนที่ในทะเลจีนใต้ใหม่ตามความพอใจ 

หลังจากฟิลิปปินส์ประกาศพิกัดฐานทัพสหรัฐฯ 4 แห่งใหม่ ทางการจีนโต้กลับทีนทีว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้ภูมิภาคนี้ทวีความตึงเครียดขึ้น  

เหมาหนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า “ข้อเท็จจริงชัดเจนมากๆ ว่าสหรัฐฯ เพิ่มกำลังพลที่ประจำการในภูมิภาค โดยขับคลื่อนด้วยแนวคิดที่จะต้องมีแค่ผู้แพ้และผู้ชนะเท่านั้น เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่เห็นแก่ตัว ซึ่งรังแต่จะนำไปสู่ความตึงเครียดเพิ่มขึ้น และความสงบและเสถียรภาพที่น้อยลงในภูมิภาค”  

เหมาหนิงยังเตือนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ให้ “คิดถึงสิ่งที่ถูกต้องสำหรับภูมิภาคและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อจะได้เลือกสิ่งที่จะตอบสนองต่อความสงบและเสถียรภาพในภูมิภาค รวมทั้งผลประโยชน์ของตัวเอง” 

ขณะที่หนังสือพิมพ์ Global Times ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนกล่าวหาสหรัฐฯ ว่า “สร้างกับดักให้ฟิลิปปินส์” และ “พยายามผลักฟิลิปปินส์ออกมาเผชิญหน้ากับจีน” 

นอกจากเพิ่มฐานทัพในฟิลิปปินส์แล้ว เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยังประกาศว่าจะนำระบบข่าวกรองและการตรวจตราที่ล้ำสมัย รวมทั้งยังมีสมรรถนะในการยิงขีปนาวุธต่อต้านเรือมาประจำการในหน่วยนาวิกโยธินในโอกินาวาซึ่งอยู่ห่างจากไต้หวันราว 320 กิโลเมตร นับเป็นหนึ่งในการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญของกองทัพสหรัฐในภูมิภาคในรอบหลายปี 

ในเวลาไล่เลี่ยกันนาวิกโยธินสหรัฐฯ ได้เปิดแคมป์บลาซ ฐานทัพแห่งใหม่บนเกาะกวมซึ่งเป็นเกาะสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่อยู่ทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ นับเป็นฐานทัพนาวิกโยธินแห่งใหม่แห่งแรกในรอบ 70 ปี 

หลังจากนี้ทะเลจีนใต้ รวมทั้งแนวโค้งแห่งพันธมิตรของสหรัฐฯ คงมีอะไรให้จับตาดูอีกมาก 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์