สื่อนอกชี้ประชาธิปไตยในอาเซียนกำลัง ‘ถดถอย’ และ ‘แย่ลง’ เรื่อยๆ (?)

8 ก.ย. 2566 - 10:14

  • ใครจะไปรู้ว่าครั้งหนึ่งดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเคยเป็นแรงบันดาลใจด้านการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว!

  • ประชาธิปไตยที่เคยเบ่งบานในเวลานั้น ไม่มีอีกแล้วในตอนนี้ที่มีแต่ถดถอยและแย่ลงเรื่อยๆ

south-east-asian-democracy-is-declining-SPACEBAR-Hero

‘ประชาธิปไตย’ ในอาเซียนกำลัง ‘ถดถอย’ จริงหรือ…?

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านยุคที่เราต่างก็เรียกว่า ‘ประชาธิปไตย’ (ได้เต็มปากหรือเปล่า?) มันเป็นแบบนี้มานานแล้วนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 1932 (พ.ศ. 2475) เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญและมีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง 

แต่นับครั้งได้เลย (มั้ง?) ที่เราจะได้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งจริงๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักมาจากการแต่งตั้งเฉพาะการณ์ และมาจากการรัฐประหารจนประเทศตกอยู่ใน ‘รัฐบาลทหาร’ อยู่หลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดยาวนานถึง 9 ปีก่อนจะเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลใหม่ของ เศรษฐา ทวีสิน ที่ประชาชนบางส่วนก็ไม่พอใจมากนักกับการกลับลำของพรรคของเขา 

ถึงกระนั้นไม่ใช่แค่ประชาธิปไตยของไทยเท่านั้นที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดทุกช่วงสมัยแน่นอนว่ามีทั้งช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน ครึ่งใบและถดถอย ซึ่งดูเหมือนว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราก็กำลังประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน ขณะที่สื่อนอกอย่าง The Economist ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ประชาธิปไตยใน 11 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังถดถอย…แต่ทำไมกัน?’  

เพราะความหลากหลายของภูมิภาคทำให้การสรุปภาพรวมเป็นเรื่องยาก ทั้งความหลากหลายของประชากร 690 ล้านคน ทั้งโครงสร้างทางการเมืองที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น สมบูรณาญาสิทธิราชย์สุลต่านแห่งบรูไน คอมมิวนิสต์เลนินแห่งเวียดนาม เผด็จการทหารของพม่า หรือประชาธิปไตยแห่งติมอร์-เลสเต (แต่มีขนาดเล็ก)  

ทว่าระบอบประชาธิปไตยของ 3 ประเทศสำคัญในภูมิภาคได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย และกัมพูชา กลับกำลังดิ้นรน และมีประเด็นปัญหาที่เลวร้ายเกิดขึ้น 

‘อินโดนีเซีย’ ในยุคเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการ ‘ซูฮาร์โต’ สู่ ‘โจโควี’

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/Rajzh0ZjLxyk4BaTXLPh1/f13fc045d18e12947dc7a178fbfedcc6/south-east-asian-democracy-is-declining-SPACEBAR-Photo01
Photo: ปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีกลาโหม (ซ้าย) ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด (ขวา) AFP / ADEK BERRY
หลังจากการล่มสลายของซูฮาร์โตอดีตผู้นำเผด็จการที่ปกครองมายาวนาน กระทั่งในปี 1998 อินโดนีเซียถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จในการมีประชาธิปไตยที่โดดเด่นแม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกก็ตาม ดังที่ แดน สเลเทอร์ แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนเขียนไว้ว่า “ประชาธิปไตยสามารถเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ด้วยวิธีที่น่าประหลาดใจและในสถานที่ที่น่าประหลาดใจ” 

จนกระทั่ง โจโค วิโดโด หรือ ‘โจโควี’ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ในปี 2014 ซึ่งในวาระแรกก็ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะไปได้สวย แต่พอเข้าวาระที่ 2 นับตั้งแต่ปี 2019 โจโควีได้บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซียด้วยการทำลายล้างคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตของประเทศ และกัดกร่อนสิทธิพลเมืองด้วยประมวลกฎหมายอาญาใหม่ที่ไม่เสรี อีกทั้งยังนำกลุ่มบุคคลผู้มีอิทธิพลในกองทัพที่ครั้งหนึ่งเคยปกครองกลับคืนสู่ใจกลางของรัฐบาล  

และแน่นอนว่าโจโควีทำเรื่องที่เซอร์ไพรส์คนทั้งประเทศด้วยการแต่งตั้งคู่แข่งที่ลงชิงประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2014 อย่าง ปราโบโว ซูเบียนโต ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคขบวนการอินโดนีเซียยิ่งใหญ่ (Gerindra Party) ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมตั้งแต่นั้นมา 

แต่ประเด็นมันอยู่ที่ก่อนหน้านั้นซูเบียนโตเคยถูกสหรัฐฯ แบนมาแล้วในข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนัก ทำให้เหล่าบรรดากลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างออกมาวิจารณ์ว่า ‘โจโควีกำลังพาประเทศถอยหลังกลับไปสู่ยุคมืดด้านสิทธิมนุษยชน’ 

ทว่าชาวอินโดนีเซียจำนวนมากกลับมองเห็นจิตวิญญาณของซูฮาร์โตอดีตประธานาธิบดีเผด็จการผู้ล่วงลับในตัวซูเบียนโต ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพ่อตาของเขา ด้วยเหตุนี้ในศึกการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะถึงในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 จึงทำให้เขามีความมั่นใจว่าจะเอาชนะและขึ้นเป็นผู้นำได้

ในวันที่ ‘ไทย’ ยังไม่หลุดพ้นจากระบอบอนุรักษนิยม

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2RzRgCLKQ0ljmSM4bjYTYk/b8457d95cb0db658a2b917c347c649e0/south-east-asian-democracy-is-declining-SPACEBAR-Photo03
Photo: Jack TAYLOR / AFP
ส่วนในประเทศไทย The Economist หยิบประเด็นการเลือกตั้งนายกฯ ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากพรรคการเมืองกลุ่มอนุรักษนิยมพ่ายแพ้อย่างชัดเจน เพราะประชาชนส่วนใหญ่เบื่อระบอบการเมืองเดิมๆ จึงทำให้พรรคก้าวไกลซึ่งสนับสนุนการลดอำนาจของกองทัพและเอาทหารออกจากการเมืองชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ หลังจากประเทศตกอยู่ในการปกครองภายใต้การนำของทหารมาเกือบ 9 ปี  

ทว่าพรรคอันดับ 1 อย่างก้าวไกลกลับถูกกีดกันจากบรรดา ส.ว.ที่สนับสนุนกลุ่มอนุรักษนิยมและกองทัพ ประกอบกับพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 กลับคำพูดหันไปจับมือกับกลุ่มพรรคอนุรักษนิยมและเป็น เศรษฐา ทวีสิน ที่ได้รับโหวตเป็นนายกฯ คนใหม่ท่ามกลางกระแสที่ลือไปต่างๆ นานาว่าที่เพื่อไทยทำเช่นนี้ก็เพื่อให้อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศได้ง่ายขึ้นหลังลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศมานานกว่า 17 ปีซึ่งในตอนนี้เขาได้รับพระราชทานอภัยโทษจำคุกเหลือเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น 

ขณะที่สภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ (Council of Foreign Relations) บอกว่า ‘ประเทศไทยเป็นตัวอย่างของความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยมากกว่า…นับตั้งแต่รัฐประหาร 2006 ประเทศไทยก็เริ่มหวนกลับเข้าสู่ระบอบเผด็จแบบอ่อนๆ (Soft Authoritarianism)’ 

องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิเสรีภาพพลเมือง ‘Freedom House’ เคยจัดอันดับ ‘ประเทศไทยเมื่อปี 2011 ว่า ‘มีความโปร่งใสบางส่วน’ เท่านั้น และประเทศไทยก็อยู่เกือบท้ายตารางของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดในการจัดอันดับเสรีภาพสื่อ’ 

‘กัมพูชา’ ภายใต้การปกครองของตระกูล ‘ฮุนเซน’

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7emYmkNQde7fbp9qhq0hmE/2210385b9b9172ac922ea0e55271f422/south-east-asian-democracy-is-declining-SPACEBAR-Photo02
Photo: TANG CHHIN Sothy / AFP
อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่ากัมพูชาตกอยู่ภายใต้ระบอบของ ‘ฮุนเซน’ มานานกว่า 40 ปีแล้ว เพราะที่ผ่านมาเขาพยายามกำจัดพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับความนิยมด้วยการใช้อำนาจศาลสั่งยุบพรรคการเมืองที่คุกคามการปกครองของเขามาโดยตลอด 

และการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาก็พบว่า พรรคของฮุนเซนชนะอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้เขาเลือกที่จะสละตำแหน่งเก้าอี้นายกฯ ให้ลูกชายของเขา ฮุน มาเนต อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะให้สิทธิ์ประชาชนเลือกตั้งก็ไม่ได้หมายความว่ากัมพูชาจะมีความเป็นประชาธิปไตย เพราะในเวลานี้กัมพูชาแทบจะกลายเป็น ‘เผด็จการทางพันธุกรรม’ (hereditary dictatorship) เหมือนกับเกาหลีเหนือไปแล้ว 

จากตัวอย่างการเมืองของทั้ง 3 ประเทศที่กล่าวมาข้างต้นนั้นแสดงให้เห็นว่าหนทางการก้าวขึ้นสู่อำนาจในแต่ละประเทศซึ่งท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นการสืบทอดอำนาจนิยมเก่าหรือกลุ่มอนุรักษนิยมเดิม และส่วนใหญ่มีกองทัพอยู่เบื้องหลัง 

แม้เสียงของประชาชนจะดังก้องไปทั่วทั้ง 3 ประเทศ แต่รัฐบาลอนุรักษนิยมและกลุ่มชนชั้นอีลิทเหล่านั้นก็คงไม่มีทางได้ยิน ถึงต่อให้ได้ยิน พวกเขาก็คงไม่อาจหันกลับมามองก็เป็นได้ 

ถึงกระนั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้แสดงให้เห็นแล้วว่า ‘ประชาธิปไตยกำลังแย่ลงและถดถอยลงเรื่อยๆ ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว’ หากเกิดในระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าในช่วงเวลานั้นอาจได้ประโยชน์จากปัญหาภายในประเทศที่รุนแรงของจีนก็ตาม แต่ในระยะสั้นประชาชนในภูมิภาคก็มีค่าความเสียหายที่ต้องจ่ายด้วยเช่นเดียวกัน 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เคยเป็นแรงบันดาลใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตยหายไปไหน? มันยังจะกลับมาเป็นเช่นนั้นอีกครั้งได้หรือไม่? คุณคิดยังไง? ประเทศไทยมีโอกาสที่จะได้สัมผัสกับประชาธิปไตยเต็มใบบ้างไหม? 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์