เกาหลีใต้กำลังได้รับผลกระทบจากการสร้างและแชร์ภาพอนาจารทางเพศอย่างโจ่งแจ้งบนอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก กลายเป็นวิกฤตหนังโป๊๊ ‘Deepfake’ ซึ่งเกิดจากการใช้โปรแกรม AI เรียนรู้ท่าทางใบหน้า เสียง จากนั้นจึงสร้างภาพ หรือวิดีโอขึ้นมาใหม่ เพียงแค่ใช้รูปถ่าย หรือวิดีโอของเหยื่อบนโซเชียลมีเดีย โดยส่วนใหญ่มักมุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง
มีรายงานว่า ห้องสนทนาบนแอปฯ ‘เทเลแกรม’ (Telegram) ที่มีสมาชิกกว่า 220,000 บัญชีนั้นจะใช้แชร์ภาพอนาจารที่สร้างด้วย AI โดยที่ผู้ใช้สามารถอัปโหลดรูปถ่ายและสร้างเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมได้ภายในไม่กี่วินาที ซึ่งจะใช้ใบหน้าของเพื่อน เพื่อนร่วมชั้นเรียน หรือคู่รักก็ได้
หลังจากมีรายงานข่าวออกไปก็มีผู้หญิงจำนวนมากขึ้นออกมาเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเหยื่อ ขณะเดียวกัน ห้องสนทนาบน Telegram ก็ถูกเปิดโปงมากขึ้นด้วย สะท้อนให้เห็นขอบเขตที่แท้จริงของปัญหา แถมเหยื่อและผู่ก่อเหตุจำนวนมากยังเป็นเยาวชนอีก
เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ผู้คนจำนวนมากราว 1,200 คนรวมตัวพร้อมใจกันสวมหน้ากากปิดตาสีขาวออกมาประท้วงในกรุงโซลเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม “หยุดวิตกกังวลและหวาดกลัว แล้วต่อสู้เพื่อชีวิตเอาเรากลับคืนมา!” ผู้ประท้วงตะโกน
ตามข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่า วัยรุ่นตกเป็นเหยื่อของคดี Deepfake เมื่อปีที่แล้ว คิดเป็น 75.8% โดยมีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบกว่า 500 แห่ง นอกจากนี้ ระหว่างปี 2021 จนถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ยังพบว่ามีรายงานอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับ Deepfake ถึง 793 คดี แต่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุและดำเนินคดีได้เพียง 16 คนเท่านั้น
“อาชญากรรมล่วงละเมิดทางเพศประเภทนี้เกิดขึ้นในเกาหลีใต้มากกว่าที่อื่น” ชางดาฮเย จากสถาบันอาชญาวิทยาและความยุติธรรมแห่งเกาหลี เผย
รายงานจากบริษัทรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ‘Security Hero’ ของสหรัฐฯ เมื่อปี 2023 พบว่า สื่อลามกอนาจาร Deepfake ทั่วโลกมีรูปภาพของเกาหลีใต้ถึง 53% ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆ มาก
‘Deepfake’ กำลังทำให้ผู้หญิงและวัยรุ่นจำนวนมากทั่วประเทศไม่กล้าโพสต์ภาพตัวเองลงโซเชียลมีเดีย บางคนก็ปิดบัญชีไปเลย เพราะกลัวจะถูกนำภาพไปใช้ในทางอนาจาร
ฮีจิน (นามสมมุติ) ถึงกับตกใจจนตัวสั่น เมื่อได้รับข้อความบนแอปฯ Telegram เป็นภาพใบหน้าของตัวเองแปะอยู่บนร่างที่กำลังร่วมรัก ซึ่งภาพใบหน้านั้นเป็นภาพที่เธอถ่ายตอนอยู่โรงเรียนเมื่อปีที่แล้ว “ฉันกลัว และรู้สึกโดดเดี่ยวมาก...ฉันหยุดคิดไม่ได้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะฉันอัปโหลดรูปภาพลงโซเชียลมีเดีย ฉันควรจะระมัดระวังมากกว่านี้” ฮีจินบอกกับสำนักข่าว BBC
“ไม่ใช่แค่ความเสียหายที่เกิดจาก Deepfake เท่านั้น แต่การแพร่กระจายวิดีโอเหล่านั้นในหมู่คนรู้จักก็ยิ่งน่าอับอายและเจ็บปวดมากขึ้น” เหยื่อวัย 18 ปีรายหนึ่งบอกกับสำนักข่าว AFP
ขณะที่ อาอึน นักศึกษาคนหนึ่งซึ่งมีเพื่อนร่วมรุ่นตกเป็นเหยื่อเผยว่าตอนนี้เธอระแวงเพื่อนผู้ชายของเธอไปหมด “ฉันไม่แน่ใจเลยว่าจะมีใครทำอาชญากรรมลับหลังฉันโดยที่ฉันไม่รู้ตัวหรือเปล่า ฉันเริ่มระมัดระวังมากขึ้นในการโต้ตอบกับผู้อื่น ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องดีเลย”
แม้ภาพจาก Deepfake จะไม่ใช่ของจริง แต่เหยื่อก็ได้รับผลกระทบต้องทุกข์ทรมาน และใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว เพราะถูกเพื่อนร่วมชั้นล้อเลียนบนโลกออนไลน์ “ความคิดเห็นทางออนไลน์บางส่วนกล่าวว่าเหยื่อควรจะ ‘ลืมมันซะ’ เพราะมันเป็นภาพ Deepfake มันไม่ใช่ของจริง” คัง มยองซุก หัวหน้าฝ่ายสนับสนุนเหยื่อของสถาบันสิทธิมนุษยชนสตรีแห่งเกาหลี กล่าวกับ AFP
เกาหลีมีกฎหมายควบคุม แต่ยังหละหลวม
ในอดีต เกาหลีใต้ไม่เคยกำหนดบทลงโทษสำหรับการก่ออาชญากรรมทางเพศออนไลน์ แต่เมื่อไม่นานนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เริ่มการสอบสวน Telegram ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในแนวทางการบังคับใช้กฎหมาย
พระราชบัญญัติการลงโทษความรุนแรงทางเพศฉบับแก้ไขปี 2020 กำหนดให้ผู้ที่ก่ออาชญากรรมทางเพศ Deepfake ต้องโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือปรับสูงสุด 50 ล้านวอน (ราว 1.2 ล้านบาท) แต่มีผู้ถูกลงโทษเพียงไม่กี่คน โดยตัวเลขจากสำนักงานตำรวจเผยว่า อัตราการจับกุมเมื่อปีที่แล้วในกรณีดังกล่าวอยู่ที่เพียง 48% ซึ่งต่ำกว่าการละเมิดทางเพศผ่านดิจิทัลรูปแบบอื่นๆ อย่างมาก
ถึงแม้เกาหลีใต้จะมีกฎหมายบังคับใช้ แต่จากคดี Deepfake ที่แพร่หลายมากขึ้นแสดงให้เห็นว่ายังมีความหละหลวม และยังควบคุมได้ยากอยู่ อีกทั้งเนื้อหา Deepfake เหล่านี้ยังสร้างและแชร์ได้ง่ายอีกด้วย
วิกฤต Deepfake และ Telegram...

ประเด็นอื้อฉาวนี้กำลังมาถึงจุดวิกฤตในเวลาเดียวกับที่ ‘พาเวล ดูรอฟ’ ซีอีโอถูกจับกุมที่ฝรั่งเศสในข้อกล่าวหาว่า ‘มีส่วนรู้เห็นในอาชญากรรมต่างๆ รวมถึงการแบ่งปันสื่อลามกเด็กที่กระทำผ่านแอปฯ ของเขา’
แอปฯ นี้ขึ้นชื่อในเรื่องกฏเกณฑ์ที่ ‘ไม่เข้มงวด’ และถูกกล่าวหาว่า ‘ไม่ได้ดำเนินการใดๆ มากพอที่จะตรวจสอบเนื้อหาและห้องสนทนาเฉพาะมาเป็นเวลาหลายปี’ และนั่นเป็นรูโหว่ที่ทำให้ Telegram กลายเป็นพื้นที่หลักในการเติบโตของพฤติกรรมทางอาชญากรรม
ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติโซลประกาศว่าจะดำเนินการสอบสวน Telegram ในกรณีที่บริษัทมีส่วนในการอนุญาตให้เผยแพร่ภาพลามกอนาจารปลอมของเยาวชน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็กล่าวว่าจะเพิ่มโทษอาญากับผู้ที่สร้างและแชร์ภาพ Deepfake และจะลงโทษผู้ที่รับชมสื่อลามกอนาจารด้วย
แต่ถึงกระนั้น ปัญหาหลักใหญ่ๆ ก็คือ ผู้กระทำความผิดไม่ได้รับการลงโทษเพียงพอ นั่นก็เพราะว่าผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ซึ่งโดยทั่วไปจะถูกพิจารณาคดีในศาลเยาวชน และมักจะได้รับโทษที่เบากว่า
ถึงแม้ว่าห้องสนทนาจะถูกเปิดโปงมากมาย และมีหลายห้องสนทนาถูกปิดลง แต่ก็จะมีห้องสนทนาใหม่ๆ เข้ามาแทนที่อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี เกาหลีใต้เป็นศูนย์กลางของวิกฤตในปัจจุบัน แต่ปัญหาระดับโลกนี้สามารถส่งผลกระทบต่อใครก็ได้ ตั้งแต่คนดังไปจนถึงเด็กสาวมัธยม และนั่นก็เป็นปัญหาที่ภาคส่วนเทคโนโลยีต้องแสดงความรับผิดชอบ