ลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าคุณเป็นนักท่องเที่ยวและต้องทำอะไรหลายๆ อย่างในวันเดียว เช่น ไปรับพัสดุที่ไปรษณีย์ เติมเงินในบัตรโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน ทานมื้อเที่ยง และกดเงินสดไว้ติดกระเป๋า คงเป็นเรื่องวุ่นวายมากเพราะส่วนใหญ่คุณอาจจะต้องแยกตัวจากคณะทัวร์เพื่อไปที่ทำการไปรษณีย์ ไปสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ไปร้านอาหาร และไปกดเงินที่ตู้เอทีเอ็ม
แต่ในเกาหลีใต้ คุณไม่ต้องวุ่นวายขนาดนั้น เพราะคุณสามารถทำทุกอย่างให้จบภายในร้านสะดวกซื้อที่อยู่ใกล้คุณมากที่สุดได้เลย ที่สำคัญ ร้านสะดวกซื้อที่ว่านี้อยู่ไม่ไกลจากจุดที่คุณอยู่แน่นอน
ตอนนี้เกาหลีใต้กลายเป็นราชาแห่งร้านสะดวกซื้อของโลกไปแล้ว ทั้งร้านค้าออนไลน์และออฟไลน์ด้วยอานิสงส์ของเหล่าฟลูเอนเซอร์ในสื่อสังคมออนไลน์และบรรดานักท่องเที่ยวที่ร่วมมือกับคนในท้องถิ่นแห่แหนเข้าไปใช้บริการตามร้านสะดวกซื้อจนทำให้ร้านสะดวกซื้อขยายตัวไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว
สมาคมอุตสาหกรรมร้านสะดวกซื้อของเกาหลีระบุว่า ในช่วงปลายปีที่แล้ว มีร้านสะดวกซื้อจำนวนกว่า 55,200 แห่งในประเทศที่มีประชากร 52 ล้านคน เฉลี่ยหนึ่งร้านต่อประชากรเกาหลี 950 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนสาขาของแมคโดนัลด์ที่มีอยู่ทั่วโลก และทำให้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีร้านสะดวกซื้อหนาแน่นมากที่สุดเมื่อเทียบกับประชากรต่อหัว แซงหน้าญี่ปุ่น และไต้หวันที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีร้านสะดวกซื้อจำนวนมาก
“อุตสาหกรรมร้านสะดวกซื้อในเกาหลีใต้มีความโดดเด่นในแง่ของความหนาแน่นและมีกลยุทธ์ที่เป็นนวัตกรรม ร้านสะดวกซื้อเหล่านี้กลายเป็นช่องทางค้าปลีกที่จำเป็น และมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดเป็นอันดับสองในเซคเมนท์ค้าปลีกออฟไลน์ของประเทศ” จาง วู-ชูล อาจารย์ด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการด้านอาหารจากมหาวิทยาลัย Kwangwoon ในกรุงโซลกล่าว
ร้านสะดวกซื้อในเกาหลีใต้จะต่างจากในสหรัฐฯ ซึ่งร้านสะดวกซื้อจะอยู่ในปั๊มน้ำมัน และในย่านที่อยู่อาศัยแทบจะไม่เห็นห้างสรรพสินค้าปรากฏในสายตา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฏหมายการจัดโซนนิ่ง ส่วนในเมืองใหญ่ๆ ของเกาหลีใต้ อย่างเช่น กรุงโซล มีร้านสะดวกซื้อตั้งอยู่ในทุกมุม
“ร้านสะดวกซื้อเปิดตลอด 24 ชั่วโมงและมีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันที่เร่งรีบของเรา” จางกล่าวพร้อมทั้งระบุว่าอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้เป็น “เรื่องราวความสำเร็จระดับโลก”
ร้านสะดวกซื้อ “วันสต็อป”
ร้านสะดวกซื้อเหล่านี้เป็นร้านค้าที่ให้บริการแบบ “วันสต็อป” โดยเสนอสินค้าและบริการทุกอย่างตั้งแต่อาหารและเครื่องดื่ม แถมในร้านลูกค้ายังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วย ทั้งชาร์จแบตเตอรีมือถือ จ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟ ถอนเงินสด สั่งสินค้าทางออนไลน์และรับพัสดุ และในบางร้านทำได้แม้กระทั่งชาร์จแบตเตอรีสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า แลกเงิน และส่งจดหมายไปต่างประเทศ
“ร้านสะดวกซื้อในเกาหลีใต้ไม่ได้เป็นแค่สถานที่ที่ผู้คนเข้ามานั่งท่ามกลางกระป๋องเบียร์เปล่าที่กองสุมไว้ตั้งแต่เมื่อคืนแต่เป็นที่ที่ให้บริการด้านต่างๆ ที่จำเป็น เรียกว่าเป็นร้านค้าที่นำเสนอความสะดวกสบายแบบสุดๆ ให้แก่ลูกค้า” รายงานของดีลอยท์ โคเรีย ปี 2020 ระบุ
นอกจากนี้ ยังมีแผนกอาหารที่มีตั้งแต่มิโซซุปพร้อมทานไปจนถึงบะหมี่สำเร็จรูปแบบถ้วยสารพัดรสชาติ มีสแน็กอย่างคิมบับและโอนิกิริ รวมทั้งชุดอาหารพร้อมรับประทาน
ภายในร้านสะดวกซื้อในเกาหลีใต้ทุกแห่งจะมีพื้นที่สำหรับวางโต๊ะนั่ง ไมโครเวฟและตู้กดน้ำร้อนซึ่งเป็นที่พึ่งของบรรดาพนักงานออฟฟิศที่มีเวลาไม่มากนักในการรับประทานอาหารเที่ยง
จางบอกว่า ความต้องการร้านสะดวกซื้อในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเป็นเมืองของเกาหลีใต้ขยายใหญ่ขึ้น ตอนนี้กว่า 80% ของประชากรอาศัยอยู่ในศูนย์กลางของเมืองและมีประชากรอีกจำนวนมากที่ย้ายบ้านจากชนบทมาปักหลักในเมืองต่างๆ ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
อีกตัวแปรหนึ่งที่ทำให้ร้านสะดวกซื้อเติบโตอย่างรวดเร็วคือ ข้อมูลด้านประชากร ตอนนี้มีชาวเกาหลีใต้แต่งงานหรือเริ่มต้นใช้ชีวิตแบบครอบครัวน้อยลง หมายความว่าแต่ละครัวเรือนเป็นคนโสดกันมากขึ้นและพวกเขาต้องรัดเข็มขัดท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา
รายงานของแมคคินซีย์ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมี.ค.ระบุว่า นับจนถึงปี 2021 ประมาณ 35% ของครัวเรือนเกาหลีใต้เป็นคนโสด และไม่เหมือนคู่สมรสหรือครอบครัวใหญ่ที่อาจจะชอบทำอาหารที่บ้านและซื้อของที่ร้านของชำในปริมาณมากๆ คนโสดในเกาหลีใต้นิยมซื้อของถูก ซื้อได้ง่าย เช่น ในร้านสะดวกซื้อหรือสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์
การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ก็เป็นส่วนหนึ่งที่หนุนแนวโน้มนี้ โดยผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าทางออนไลน์หรือซื้อสินค้าในเวลาอันรวดเร็วจากร้านค้าที่อยู่ใกล้บ้านมากกว่า
รายงานของแมคคินซีย์ ระบุว่า เทรนด์นี้ส่งผลให้ในช่วงปี 2010 และ 2021 ร้านสะดวกซื้อเกาหลีใต้มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าจาก 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 24.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แซงหน้าซูเปอร์มาร์เก็ตแบบดั้งเดิมและห้างสรรพสินค้า
ปรากฏการณ์สื่อโซเชียล
ร้านสะดวกซื้อเหล่านี้ไม่ได้เป็นที่นิยมในชีวิตจริงเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมในสื่อสังคมออนไลน์ด้วย สะท้อนถึงปรากฏการณ์โลกที่หลายคนเรียกว่า “คลื่นเกาหลี”
ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การส่งออกของเกาหลีใต้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ตั้งแต่เค-ป็อป ซีรีส์เกาหลีไปจนถึนผลิตภัณฑ์ความงาม แฟชั่นและอาหาร ในช่วงปีที่ผ่านมากระแสเกาหลีฟีเวอร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้ร้านสะดวกซื้อของประเทศพลอยได้รับความนิยมมากขึ้นตามไปด้วย
การค้นหาบนยูทูบ ติ๊กต่อก หรืออินสตาแกรม ทำให้เห็นว่ามีการทำคลิปวิดีโอเกี่ยวกับร้านสะดวกซื้อของเกาหลีออกมาอย่างต่อเนื่อง และในคลิปเหล่านี้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์พากันรีวิวมุมราเมงสำเร็จรูป สแน็ก และเครื่องดื่ม หรือติดตามเทรนด์ทางออนไลน์แบบเกาะติด โดยเฉพาะการทานอาหารทั้งวันที่ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งคลิปวิดีโอเหล่านี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงชัยชนะในการดำเนินกลยุทธ์ของบรรดาครีเอเตอร์ทั้งหลาย
จินี เม็ง คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ซึ่งเกิดในเกาหลีใต้แต่มีฐานดำเนินงานอยู่ในออสเตรเลีย เริ่มทำวิดีโอในหัวข้อเกี่ยวกับร้านสะดวกซื้อหลังจากเห็นคลิปลักษณะนี้กลายเป็นไวรัล และประสบความสำเร็จด้วยดี คลิปวิดีโอของเธอที่มีคนเข้าชมมากที่สุด 3 อันดับ มีผู้ชมรวมจำนวน 76 ล้านคน ส่วนในติ๊กต่อกและในอินสตาแกรมก็มีผู้ชมเพิ่มขึ้น
ขณะที่จางให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า คลิปวิดีโอออนไลน์ช่วยขับเคลื่อนกระแสความนิยมที่มีต่อร้านสะดวกซื้อในเกาหลีใต้ได้มาก
“เป็นการบูรณาการระหว่างความโดดเด่นและการตลาดที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ที่ช่วยเพิ่มความนิยมในร้านสะดวกซื้อของเกาหลี” อาจารย์จางกล่าว
Photo by Anthony WALLACE / AFP