‘ร่างทรง’ อาชีพมาแรงในเกาหลีใต้ เมื่อคนรุ่นใหม่หันพึ่ง ‘สายมู’

10 มิ.ย. 2567 - 10:00

  • กูเกิลเทรนด์รายงานว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการค้นหาคำว่า “ร่างทรง” และ “หมอดู” ในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า

  • ในช่วงที่เกาหลีถูกญี่ปุ่นปกครองสมัยต้นศตวรรษที่ 20 และช่วงเผด็จการทหารปกครองช่วงทศวรรษ 1970 มีความพยายามปราบปรามลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับร่างทรง เพราะมองว่าเป็นอุปสรรคของการทำให้ประเทศทันสมัยขึ้น

  • ปัจจุบันร่างทรงถูกยกย่องว่ามีส่วนสำคัญต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมของเกาหลี รัฐบาลเกาหลีใต้ยังส่งเสริมการทำพิธีกรรมของร่างทรงในฐานะ “ทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้”

south-korea-young-shamans-revive-ancient-tradition-social-media-SPACEBAR-Hero.jpg

เกาหลีใต้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ทันสมัยและไฮเทคอันดับต้นๆ ของโลก แต่คนรุ่นใหม่ก็ยังหันหน้าพึ่งพาสายมูอย่าง “ร่างทรง” เป็นที่ยึดเหนี่ยวฮีลใจยามต้องเผชิญกับความยากลำบากจากทั้งเศรษฐกิจและสังคม ทำให้อาชีพร่างทรงกลับมาได้รับความนิยมแพร่หลายอีกครั้ง 

กูเกิลเทรนด์รายงานว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการค้นหาคำว่า “ร่างทรง” และ “หมอดู” เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง Exhuma ที่ร่างทรงต้องปัดเป่าเรื่องร้ายให้กับครอบครัวหนึ่ง แต่จริงๆ คนรุ่นใหม่น่าจะหันมาเป็นร่างทรงกันสักพักหนึ่งแล้ว เพราะจางแจฮยอนผู้กำกับ Exhuma ให้สัมภาษณ์ว่าเขาเจอร่างทรงรุ่นใหม่ๆ หลายคนมากตอนที่ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

รากเหง้าของร่างทรง หรือ มูดัง ในเกาหลีใต้เกิดขึ้นเมื่อราว 2,000 ปีที่แล้ว และส่วนใหญ่มูดังเหล่านี้จะเป็นผู้หญิงที่เล่าว่าค้นพบความสามารถพิเศษของตัวเองในฐานะคนกลางที่ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างมนุษย์กับโลกของวิญญาณหลังจากหายจากการจ็บป่วยรุนแรง  

แต่ในช่วงที่เกาหลีถูกญี่ปุ่นปกครองสมัยต้นศตวรรษที่ 20 และช่วงเผด็จการทหารปกครองช่วงทศวรรษ 1970 มีความพยายามปราบปรามลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับร่างทรง เพราะมองว่าเป็นอุปสรรคของการทำให้ประเทศทันสมัยขึ้น รัฐบาลทหารสมัยหลังสงครามเกาหลีถึงกับตราหน้าว่าร่างทรงเป็นพวกสิบแปดมงกุฎและไล่ออกจากหมู่บ้าน รวมทั้งเผาสำนักทิ้ง ร่างทรงจึงต้องทำกันแบบแอบๆ  

แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะในยุคแห่งโซเชียลมีเดีย อาชีพร่างทรงกลับมาได้รับความนิยมอย่างเปิดเผยอีกครั้ง หลังจากคนรุ่นใหม่หันมาทำอาชีพนี้ อย่าง อีคยองฮยอน ร่างทรงวัย 29 ปี ที่ใช้วิธีเข้าถึงกลุ่มลูกค้าของเธอผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยเธอเริ่มทำยูทูบเมื่อปี 2019 และตอนนี้มียอดซับสไครบ์กว่า 300,000 คน 

อีเล่าว่าลูกค้าวัยมิลเลนเนียลและเจนซีของเธอมักจะถามเกี่ยวกับที่พักอาศัยที่ราคาจับต้องได้และค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก ส่วนสนนราคาค่าปรึกษาถามไถ่ปัญหาต่างๆ อาทิ ความสัมพันธ์ แนวทางการหาหรือสมัครงาน การทำนายอนาคต จะอยู่ที่ราว 100,000 วอน หรือ 2,680 บาทสำหรับการปรึกษา 30-60 นาที 

ฮันซึงฮุน ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Academy of Korean Study เผยว่า ในกรุงโซลราคาบ้านสูงกว่าเงินเดือนเฉลี่ยของปี 2022 ถึง 15 เท่า นอกจากนี้เกาหลีใต้ยังเผชิญวิกฤตเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้คนหันมาพึ่งพาสายมูกันมากขึ้น 

“ด้วยความที่ร่างทรงเป็นคนรุ่นเดียวกัน มีประสบการณ์ทางวัฒนธรรมคล้ายๆ กัน และอยู่ในเมืองเดียวกัน กลุ่มลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่จึงอาจพูดคุยกับร่างทรงได้อย่างลึกซึ้งมากกว่าคุยกับเพื่อนสนิท ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นอาชีพร่างทรงที่ทำหน้าที่ในฐานะที่ปรึกษาแบบเพื่อนคุยกับเพื่อนผุดขึ้นมาเยอะ” 

พัคแชบิน ลูกค้าวัย 32 ปีของอีเล่าว่า เธอไปหาอีเพื่อให้จิตใจสงบ “ฉันมาที่นี่เพื่อขอคำปรึกษาจากใครสักคนที่เข้าใจฉันและมองเห็นฉันอย่างทะลุปรุโปร่ง ซึ่งช่วยให้จิตใจฉันสงบขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงอย่างวิกฤตว่างงาน”

south-korea-young-shamans-revive-ancient-tradition-social-media-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ร่างทรงกำลังเตรียมทำพิธี Photo by Ed JONES / AFP

กระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีใต้คาดว่าในปี 2022 เกาหลีใต้มีร่างทรงและหมอดูราว 300,000-400,000 คน และถึงขั้นเขียนไว้บนเว็บไซต์ว่า ลัทธิร่างทรง “เป็นส่วนสำคัญและทรงพลังของความเป็นเกาหลี” และถูกยกย่องว่ามีส่วนสำคัญต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมของเกาหลี ทั้งเครื่องแต่งกาย ดนตรี และการร่ายรำแบบดั้งเดิม รัฐบาลเกาหลีใต้ยังส่งเสริมการทำพิธีกรรมของร่างทรงในฐานะ “ทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” 

และไม่เพียงแต่คนธรรมดาเท่านั้น บรรดานักการเมืองหรือคนดังๆ ก็หันมาพึ่งบรรดาร่างทรงเหล่านี้ โดยเฉพาะในฤดูกาลแห่งการเลือกตั้ง ร่างทรงที่ดังๆ จะถูกจองคิวจนเต็มแทบไม่มีเวลาพัก  

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้เกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นในวงการร่างทรง เมื่ออดีตประธานาธิบดีพัคกึนฮเยพึ่งพาร่างทรงในการบริหารประเทศและปล่อยให้ร่างทรงคนสนิทเข้ามาวุ่นวายเกี่ยวกับการเมืองจนพัวพันคดีทุจริตคอร์รัปชัน หรือร่างทรงวัย 66 ปีคนหนึ่งในกรุงโซลที่ถูกพิพากษาจำคุก 4 ปีเมื่อต้นปีที่ผ่านมาหลังหลอกลวงเงินลูกค้า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์