‘อากาศดีต่อสุขภาพ’ ของหายากแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

17 มีนาคม 2566 - 09:07

southeast-asia-most-polluted-country-in-world-iqair-report-SPACEBAR-Thumbnail
  • รายงานคุณภาพอากาศจาก IQAir พบมีแค่ 8 เมืองจาก 296 เมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีคุณภาพอากาศได้มาตรฐานสุขภาพระหว่างประเทศ

  • อินโดนีเซียมีระดับมลพิษสูงสุดในภูมิภาค โดยมีเมือง 6 แห่งใน 15 อันดับแรกที่มีความเข้มข้นของ PM 2.5 สูงสุด

  • ส่วนลาฮอร์ของปากีสถานเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกในปี 2022

ขณะที่คนกรุงเทพฯ กำลังระทมทุกข์กับปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ก็มีรายงานประจำปี 2022 ด้านคุณภาพอากาศที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ จัดทำโดย IQAir บริษัทเทคโนโลยีของสวิตเซอร์แลนด์ ออกมายืนยันปัญหานี้ว่า เป็นเรื่องที่น่าห่วงจริงๆ โดยรายงานสำรวจพบว่ามีแค่ 8 เมืองจากทั้งหมด 296 เมืองหรือ 2.7% ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีคุณภาพอากาศได้มาตรฐานสุขภาพระหว่างประเทศ 

ฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง เป็นมลพิษทางอากาศรูปแบบหนึ่งที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร ซึ่งการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศเป็นเวลานานจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ภูมิต้านทานต่อโรคระบบทางเดินหายใจอ่อนแอลง และเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอดและโรคหัวใจได้ 

รายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2022 ของ IQAir ฉบับที่ 5 จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูลคุณภาพอากาศ PM 2.5 จาก 7,323 เมือง ใน 131 ประเทศและภูมิภาค โดยรวบรวมข้อมูลมาจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศภาคพื้นดินกว่า 30,000 แห่งทั่วโลก และใช้เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกเป็นค่าพื้นฐานในการนำเสนอข้อมูลคุณภาพอากาศ 

รายงานชิ้นนี้ระบุว่า อินโดนีเซียเป็นพื้นที่ที่มีระดับมลพิษสูงสุดในภูมิภาค โดยมีเมือง 6 แห่งใน 15 อันดับแรกที่มีความเข้มข้นของ PM 2.5 สูงสุด รวมถึงเมืองปาซาร์เคมิส ในจังหวัดบันเตนของเกาะชวา กรุงจาการ์ตาและสุราบายา อยู่ในอันดับที่ 4 และ 7 ในลิสต์เมืองที่มีมลพิษมากที่สุด 

กรุงฮานอยของเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 2 ขณะที่เวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาวเป็นเมืองที่มีมลพิษมากสุดอันดับที่ 14 เมื่อปีที่แล้ว 

แต่ในกลุ่มเมืองที่มีคุณภาพอากาศดีต่อสุขภาพ หรือระดับ 0-5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นการวัดความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ มี 3 เมืองคือ เมืองกูปัง จังหวัดนูซาเต็งการาตะวันออก เมืองปังกัลปีนัง จังหวัดหมู่เกาะบังกาเบลิตุง และเมืองมามูจูจังหวัดสุลาเวสีตะวันตก 

คุณภาพอากาศที่ดีที่สุดของภูมิภาคนี้อยู่ที่ นามซาค ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชนบทของพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดงของเวียดนาม 

เมื่อพิจารณาคุณภาพอากาศของประเทศไทยพบว่า คุณภาพอากาศของไทยแย่ติดอันดับ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่อันดับที่ 57 จาก 131 ประเทศ และทุกภูมิภาคทั่วโลก 

ไทยมี 7 อำเภอที่มีมลพิษสูง คือ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี, อ.เมืองน่าน จ.น่าน, อ.ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ, คลองตาคต จ.ราชบุรี, ท่าวาสุกรี จ.พระนครศรีอยุธยา, ดอนหัน จ.ขอนแก่น และยางซ้าย จ.สุโขทัย ส่วนความเข้มข้น PM 2.5 เฉลี่ยของไทยปี 2022 อยู่ที่ 18.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงกว่าปี 2021 ที่ 10.4% 

กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย เป็นเมืองที่มีความเข้มข้นฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยรายปี สูงเป็นอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับที่ 52 ของโลก มีค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 18 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

แต่ถึงแม้ว่าปี 2022 ไทยมีคุณภาพอากาศดีขึ้นเมื่อเทียบปี 2021 เนื่องมาจากปัจจัยทางสภาพภูมิอากาศ เช่น ความชื้นสูงและพายุอันเนื่องมาจากปรากฏการณ์ลานีญา แต่มาตรการของรัฐบาลยังห่างไกลจากการต่อกรกับวิกฤตมลพิษทางอากาศที่มีรากเหง้าอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งเห็นได้จากความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 โดยรวมของประเทศยังสูงกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก 

ส่วนกัมพูชา เป็นประเทศที่มีความเข้มข้น PM 2.5 น้อยสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 8.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงจากปี 2021 ที่ 58%
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7ypyv36vkVVA3curdc67OY/f9b401c14b9aa43f4323be1be1a066d0/info_southeast-asia-most-polluted-country-in-world-iqair-report__1_
เมื่อดูคุณภาพอากาศในภูมิภาคอื่น เช่น คุณภาพอากาศของเมืองลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน มีความเข้มข้นของ PM 2.5 เพิ่มจากระดับ 86.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อปี 2021 เป็น 97.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าเลวร้ายกว่าเดิมมาก และทำให้ลาฮอร์กลายเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก 

ต่อมาคือเมืองโฮตัน ของจีน ที่มีระดับ PM 2.5 อยู่ที่ 94.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าดีขึ้นจากระดับเดิมที่ 101.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในปี 2021 

ส่วนชาด มีระดับ PM 2.5 เฉลี่ยอยู่ที่ 89.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แซงหน้าอิรัก ประเทศที่มีอากาศเป็นมลพิษอันดับ 2 ของโลก ซึ่งมีระดับ PM 2.5  เฉลี่ยที่ 80.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

รายงานชิ้นนี้ ระบุด้วยว่า อินเดีย และปากีสถาน ประสบปัญหาคุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุด ในภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียใต้ โดยประชากรเกือบ 60% ของประเทศ อาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความเข้มข้นของ PM 2.5 สูงกว่าระดับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำอย่างน้อย 7 เท่า 

รายงานนี้ยังระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการปล่อยฝุ่น PM 2.5 จากแหล่งกำเนิดหลัก (Emission Standard) และการเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) ที่จะเป็นเครื่องมือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบและป้องกันสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 และมลพิษอื่นๆ ได้
 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์