เมื่อวันศุกร์ (15 ก.ย.) ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของจีนได้เลี่ยงคำถามเกี่ยวกับนายพล ‘หลี่ช่างฝู’ รัฐมนตรีกลาโหมหลังไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ท่ามกลางการคาดเดาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่านายพลผู้นี้ที่เพิ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคมกำลังถูกสอบสวน ทำให้เกิดข่าวลือเกี่ยวกับชะตากรรมของเขาภายหลังการเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่ระดับสูงโดยไม่ทราบสาเหตุหลายครั้ง
The Financial Times รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (14 ก.ย.) ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เชื่อว่าหลี่ถูกสอบสวน ขณะที่หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal รายงานว่า ทางการนำตัวหลี่ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อสอบปากคำ
แต่ Reuters รายงานว่า หลี่กำลังถูกสอบสวนเกี่ยวกับการทุจริตกรณีจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารระหว่างดำรงตำแหน่งก่อนหน้านี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่อาวุโสอีก 8 คนกำลังถูกสอบสวนเช่นกัน ซึ่งในตอนนี้ชะตากรรมของหลี่ก็ยังไม่ได้รับการอธิบายอย่างเป็นทางการ
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับสถานการณ์ของหลี่ในงานแถลงข่าว เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวว่า “ฉันไม่ตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าว”
อย่างไรก็ดี คำถามเกี่ยวกับการหายตัวไปของหลี่เกิดขึ้นหลังจากการหายตัวไปอย่างไม่ทราบสาเหตุของ ‘ฉิน กัง’ ซึ่งถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม หลังหายตัวไปจากสายตาของสาธารณชนเป็นเวลา 1 เดือนด้วยเหมือนกัน
ทั้งนี้ การหายตัวไปของหลี่ยังเกิดขึ้นหลายสัปดาห์หลังจากเกิดเหตุการณ์สั่นคลอนในกองทัพจีน เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กองทัพปลดปล่อยประชาชน (People’s Liberation Army) ได้เปลี่ยนตัวผู้นำ 2 คนของกองกำลังจรวด ซึ่งเป็นหน่วยงานทหารชั้นยอดที่ดูแลคลังอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของประเทศ อย่างกะทันหัน โดยผู้บัญชาการที่ถูกถอดจากตำแหน่งไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว
การหายตัวไปของรัฐมนตรีที่มีชื่อเสียง 2 คนติดต่อกันอย่างรวดเร็วทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการกำกับดูแลของผู้นำ สีจิ้นผิง ที่ทำให้ระบบการเมืองของจีนมีความคลุมเครือมากขึ้น ในขณะที่เขาเองก็มุ่งใช้อำนาจและบังคับใช้วินัยของพรรคที่เข้มงวด
ดรูว์ ทอมป์สัน นักวิจัยอาวุโสจากสำนักนโยบายสาธารณะลี กวน ยู แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์เผยกับ CNN ว่า “สิ่งนี้กระตุ้นให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นในจีน มันตอกย้ำถึงการขาดความโปร่งใสและลักษณะการตัดสินใจที่คลุมเครืออย่างสมบูรณ์ในประเทศจีน”
ทั้งนี้ หลี่ปรากฏตัวต่อสาธารณะครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมในงานประชุมสันติภาพและความมั่นคงจีน-แอฟริกา (China-Africa Peace and Security Forum) ในกรุงปักกิ่ง และเดินทางออกนอกประเทศจีนครั้งสุดท้ายเมื่อกลางเดือนสิงหาคมโดยเดินทางไปรัสเซียและเบลารุส
ทว่าเมื่อเขาไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนราว 2 สัปดาห์จึงเกิดคำถามมากมาย เพราะจากมุมมองของสาธารณชนนั้นมันไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับรัฐมนตรีกลาโหมของจีน ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการพบปะน้อยกว่ารัฐมนตรีต่างประเทศ แต่มันกระตุ้นให้เกิดการคาดเดาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการหายตัวไปและถูกปลดออกจากตำแหน่งของ ฉิน กัง