สมัยก่อนเรามักจะได้ยินคำพูดที่ว่า ‘มีลูกมากจะยากจน’ แม้ว่าในเวลานั้นมันจะยังฟังแล้วไม่อ่อนไหว และดูไม่น่าจะจริง แต่ใครจะไปรู้ว่าอีกไม่กี่ปีต่อมามันดันเป็นจริงซะงั้น
ไม่ว่าจะด้วยปัญหาเศรษฐกิจ และสถานการณ์โลกที่วุ่นวาย ทำให้หลายๆ ประเทศทั่วโลกประสบกับปัญหาอัตราการเกิดต่ำ ซึ่งหากไม่มีการปรับตัวหรือเพิ่มจำนวนเด็กขึ้นมาภายในปี 2100 ค่าเฉลี่ยของการมีบุตรของผู้หญิงทั่วโลกจะลดลงเหลือเพียง 1.7 คน ส่งผลให้ประชากรโลกปรับจำนวนจาก 9,700 ล้านคนในปี 2064 ลดลงเหลือ 8,800 ล้านคนในปี 2100
แน่นอนว่าประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นหนึ่งใน 23 ประเทศของโลกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าวมากที่สุด ขณะที่ ‘หมอชลน่าน’ หรือ ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ของไทย ต้องออกมาบอกให้คนไทยเอาความคิดที่ว่าลูกมากจะยากจนออกไป และจ่อทำแคมเปญ ‘Give Birth Great World’ เพื่อส่งเสริมการมีบุตร

อัตราการเกิดที่ลดลงเป็นปัญหาสำคัญสำหรับประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียบางแห่ง และรัฐบาลหลายประเทศกำลังใช้เงินหลายแสนล้านเพื่อพลิกแนวโน้มเหล่านั้น
ญี่ปุ่นเริ่มใช้นโยบายส่งเสริมให้คู่รักมีลูกมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 เกาหลีใต้เริ่มทำเช่นเดียวกันในช่วงทศวรรษ 2000 ขณะที่นโยบายการเจริญพันธุ์ครั้งแรกของสิงคโปร์มีขึ้นตั้งแต่ปี 1987 แม้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะระบุจำนวนเงินที่แน่นอนของนโยบายเหล่านี้ แต่ประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล ของเกาหลีใต้กล่าวว่า ประเทศของเขาใช้เงินมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมาเพื่อพยายามเพิ่มจำนวนประชากร
ตามรายงานล่าสุดของสหประชาชาติ (UN) พบว่า ทั่วโลก แม้ว่าจะมีหลายประเทศที่พยายามลดอัตราการเกิด แต่จำนวนประเทศที่ต้องการเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่านับตั้งแต่ปี 1976

แล้วทำไมรัฐบาลเหล่านี้ถึงต้องการเพิ่มจำนวนประชากร?
พูดง่ายๆ ก็คือ การมีประชากรจำนวนมากขึ้นที่สามารถทำงานและผลิตสินค้าและบริการได้มากขึ้น นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น และแม้ว่าจำนวนประชากรที่มากขึ้นอาจหมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้นสำหรับรัฐบาล แต่ก็อาจส่งผลให้ได้รับรายได้จากภาษีมากขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ หลายประเทศในเอเชียกำลังเข้าสู่วัยชราอย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่นเป็นผู้นำกลุ่มด้วยจำนวนประชากรเกือบ 30% ซึ่งขณะนี้มีอายุเกิน 65 ปี และประเทศอื่นๆ บางประเทศในภูมิภาคนี้ก็ตามหลังอยู่ไม่ไกลนัก
เปรียบเทียบกับอินเดียที่เพิ่งแซงจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก มากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรมีอายุระหว่าง 10 - 20 ปี ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีศักยภาพในการเติบโตอย่างมาก

ทว่าภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลงอาจส่งผลเชิงบวกในบางสถานการณ์ โดยที่นักประชากรศาสตร์เรียกว่า ‘เงินปันผลทางประชากร’ ซึ่งเงินปันผลในที่นี้หมายถึง การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นไปตามอัตราการเกิดที่ลดลงและการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบอายุตามมา ส่งผลให้คนในวัยทำงานเพิ่มมากขึ้น และมีเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพาน้อยลง และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ ภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลงช่วยเปลี่ยนเกาหลีใต้จากประเทศที่ยากจนมากมาเป็นประเทศที่ร่ำรวยมาก
มาตรการส่วนใหญ่ทั่วภูมิภาคเพื่อเพิ่มอัตราการเกิดมีความคล้ายคลึงกัน ได้แก่ การจ่ายเงินสำหรับผู้ปกครองใหม่ การศึกษาที่ได้รับเงินอุดหนุนหรือฟรี สถานรับเลี้ยงเด็กเพิ่มเติม สิทธิประโยชน์ทางภาษี และขยายการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร

แต่มาตรการเหล่านี้ได้ผลหรือไม่?
ข้อมูลในช่วง 2 – 3 ทศวรรษที่ผ่านมาจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์แสดงให้เห็นว่าความพยายามในการเพิ่มจำนวนประชากรมีผลน้อยมาก ขณะที่กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่ระบุว่า ‘นโยบายล้มเหลว’
“เรารู้จากประวัติศาสตร์ว่านโยบายประเภทต่างๆ ที่เราเรียกว่าวิศวกรรมประชากรศาสตร์ ที่พวกเขาพยายามจูงใจผู้หญิงให้มีลูกมากขึ้น มันไม่ได้ผล เราจำเป็นต้องเข้าใจปัจจัยพื้นฐานว่าทำไมผู้หญิงถึงไม่มีลูก และนั่นมักเกิดจากการที่ผู้หญิงไม่สามารถผสมผสานชีวิตการทำงานเข้ากับชีวิตครอบครัวได้”
อลันนา อาร์มิเทจ จากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ บอกกับ BBC
จีน - นโยบายมากมายแต่ก็ยังมืดมน
จำนวนทารกคนแรกที่เกิดในประเทศจีนปีที่แล้วไม่ถึง 10 ล้านคน โดยอยู่ที่ 9.56 ล้านคน เช่นเดียวกับอัตราการเกิดบุตรคนที่ 2 และ 3 ที่ลดลงอย่างน่าประหลาดใจแม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายกระตุ้นการมีบุตรออกมา แต่มันก็ยังไม่สามารถทำให้พ่อแม่ชาวจีนตัดสินใจมีบุตรได้
เหอ ยาฟู่ นักประชากรศาสตร์อิสระ กล่าวว่า ทารกแรกเกิดไม่ว่าจะเป็นคนที่ 1, 2 หรือ 3 มีจำนวนที่ลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งสิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่ามีผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์น้อยลง และอัตราการเกิดก็น้อยลง
พ่อแม่ชาวจีนระมัดระวังในการมีลูกมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยหลายประการ รวมถึงค่าครองชีพที่สูงลิ่ว และค่าเล่าเรียน แม้ว่าล่าสุดจะได้รับแรงจูงใจจากหน่วยงานท้องถิ่นตั้งแต่การแจกเงินสดไปจนถึงเงินอุดหนุนซื้อบ้าน ขณะที่ในระดับชาติ จีนยุตินโยบายลูกคนเดียวที่เคยเป็นข้อขัดแย้งในปี 2016 โดยอนุญาตให้คู่รักทุกคู่มีลูกได้ 2 คน และผ่อนปรนเพิ่มเป็น 3 คนในปี 2021

ในปี 2022 มาตรการที่ประกาศโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน ได้ให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงการดูแลสุขภาพของมารดา และความพยายามในการ ‘ลด’ การทำแท้ง ทว่ามันก็ยังไม่เป็นผล เมื่อปีที่แล้ว จำนวนประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษ เนื่องจากจำนวนผู้เสียชีวิตมีมากกว่าจำนวนการเกิด และจำนวนประชากรโดยรวมลดลงจาก 850,000 คน เป็น 1.4 พันล้านคน
ขณะเดียวกัน การสูงวัยของประชากรก็มีแนวโน้มเร่งตัวเร็วขึ้น ภายในปี 2035 อายุขัยเฉลี่ยของประเทศจะเกิน 80 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 78.2 ปีในปี 2021 หากเป็นไปตามการประมาณการของเหอ จำนวนผู้ที่มีอายุ 80 ขึ้นไปจะสูงถึง 70 ล้านคนภายในปี 2035 และ 1.4 พันล้านคนภายในปี 2050
ถึงอย่างนั้น จีนก็ไม่ใช่ประเทศเดียวในภูมิภาคหรือโลกที่เผชิญกับวิกฤติทางประชากรประเภทนี้ อัตราการเจริญพันธุ์ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกลดลงเกือบเท่าๆ กันในช่วง 2 - 3 ทศวรรษที่ผ่านมา กระทั่งเพื่อนบ้านของจีนอย่าง ‘ญี่ปุ่น’ และ ‘เกาหลีใต้’ ก็อยู่ในกลุ่มประเทศที่อัตราการเกิดต่ำที่สุดเช่นกัน

ญี่ปุ่น - วางแผนรับมือการเกิดต่ำ แม้ปัญหาที่แท้จริงคือสังคม
ญี่ปุ่นได้จัดทำร่างแผนออกแบบมาเพื่อแก้ไขอัตราการเกิดที่ลดลงของประเทศ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการสนับสนุนทางการเงินสำหรับครัวเรือนที่เลี้ยงลูก โดยมีข้อเสนอให้ยกเลิกเพดานรายได้สำหรับการจ่ายเงินสดรายเดือนให้กับผู้ปกครอง และขยายระยะเวลาการชำระเงิน ซึ่งปัจจุบันจะสิ้นสุดเมื่อเด็กอายุครบ 15 ปี เปลี่ยนเป็นจนกว่าเด็กๆ จะสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมปลาย
อัตราการเจริญพันธุ์ของญี่ปุ่นลดลงสู่ระดับต่ำสุดในปี 2022 นับตั้งแต่เริ่มมีการจดบันทึกในปี 1947 จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขในปีนี้พบว่า จำนวนเด็กโดยเฉลี่ยที่เกิดกับหญิงชาวญี่ปุ่นในช่วงชีวิตของเธออยู่ที่ 1.26 คน ซึ่งลดลงเป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน ในบรรดา 47 จังหวัดของประเทศ อัตราเจริญพันธุ์ของโตเกียวต่ำที่สุดที่ 1.04 ขณะที่โอกินาวาสูงที่สุดที่ 1.70

จำนวนทารกที่เกิดในปีที่แล้วต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1899 เมื่อทางการเริ่มติดตามตัวเลขดังกล่าว ในปี 2022 ญี่ปุ่นมีอัตราการเกิด 770,747 ราย ลดลงจากปีก่อน 40,875 ราย และลดลงต่ำกว่า 800,000 รายเป็นครั้งแรก
ยามาดะ ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นปล่อยปัญหานี้มาเป็นเวลา 30 ปี ซึ่งส่งผลให้อัตราการเกิดและลดจำนวนประชากรต่ำ พวกเขาไม่เข้าใจลักษณะพิเศษของวัฒนธรรมของญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออก
ยามาดะตรวจสอบปัจจัยทางวัฒนธรรมหลายประการ เช่น ความไม่เท่าเทียมทางเพศอย่างรุนแรง การวางภาระการดูแลเด็กให้กับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ความคาดหวังของผู้หญิงในการแต่งงานกับผู้ชายที่ร่ำรวย เด็กที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่และพยายามเลื่อนหรือหลีกเลี่ยงการแต่งงาน และพ่อแม่ที่ไม่ได้มีฐานะดีจนทำให้ลูกๆ สามารถมีชีวิตตามมาตราฐานการดำรงชีวิตที่เท่าเทียมหรือสูงกว่าได้ และจึงตัดสินใจไม่มีตั้งแต่แรก
ขณะที่ความไม่เท่าเทียมทางเพศในญี่ปุ่นเองก็แย่ลงเรื่อยๆ ในการประชุม World Economic Forum แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นขยับจากอันดับ 9 มาเป็นอันดับที่ 125 จาก 146 ประเทศ ที่จัดตามความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งนั่นเป็นผลงานที่เลวร้ายและเป็นการรั้งท้ายในเอเชียตะวันออก

อามาโนะ ผู้นำกลุ่มพลเมือง กล่าวว่า วัฒนธรรมในที่ทำงานเองก็เพิ่มปัญหาที่เกี่ยวกับการมีลูกอีกด้วย ขณะที่คนทำงานมีสิทธิ์ลาเพื่อไปคลอดบุตร แต่คนที่ใช้วันลาจริงๆ กลับถูกมองว่าไม่มีความเกรงใจ และเพิ่มภาระงานให้กับเพื่อนร่วมงาน
ยามาดะ บอกว่า ปัญหาอีกประการหนึ่งคือญี่ปุ่นยังไม่ได้จัดลำดับความสำคัญของปัญหาอัตราการเกิด หากไม่ทำเช่นนั้นอาจบั่นทอนลำดับความสำคัญอื่นๆ เช่น การสร้างกำลังทหารอย่างต่อเนื่องของญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
“อีกทั้งส่วนใหญ่ของปัญหาในญี่ปุ่นคือ มีเพียง 25% ของครัวเรือนที่มีลูก นั่นหมายความว่าอีก 75% ไม่มีลูก ดังนั้นสำหรับคนส่วนใหญ่ นั่นอาจเป็นไม่ถูกมองว่าเป็นปัญหา อีกทั้งบางทีเราได้ยินคนที่เลี้ยงลูกสะท้อนเสียงออกมาว่าสังคมไม่ได้เห็นอกเห็นใจคนที่มีลูกขนาดนั้น” ยามาดะกล่าว
เกาหลีใต้ - ประเทศเดียวในโลกที่อัตราการเจริญพันธุ์น้อยกว่า 1:1
ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้เผชิญกับอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงอย่างรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ในปี 1960 อัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมของประเทศ ซึ่งก็คือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่ผู้หญิงคนหนึ่งมีในช่วงวัยเจริญพันธุ์ อยู่ที่ต่ำกว่า 6 คนต่อผู้หญิง 1 คน ในปี 2022 เกาหลีใต้เป็นประเทศเดียวในโลกที่อัตราการเจริญพันธุ์ของเด็กน้อยกว่า 1 คนต่อผู้หญิง 1 คน แม้ว่าประเทศอื่นๆ เช่น ยูเครน จีน และสเปน จะใกล้เคียงกันก็ตาม

ดัดลีย์ โพสตัน ศาสตราจารย์สังคมวิทยาของเท็กซัส A&M บอกว่า การลดลงอย่างรวดเร็วและยาวนานนี้จะมีผลกระทบอย่างมากต่อเกาหลีใต้ ซึ่งอาจชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ประเทศร่ำรวยน้อยลง และมีประชากรน้อยลง
เกาหลีใต้มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในโลกนับตั้งแต่ปี 2013 ผู้หญิงทั่วทั้งเกาหลีใต้เลือกที่จะมีลูกน้อยลง หรือไม่มีเลย ขณะที่พวกเขาต่อสู้กับค่าครองชีพที่สูงขึ้นซึ่งกระทบชีวิตของคนหนุ่มสาว ในเวลาเดียวกัน อัตราการแต่งงานลดลงมากกว่า 35% จากข้อมูลที่มีอยู่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากชาวเกาหลีใต้หันไปให้ความสำคัญกับงานมากกว่าการสร้างครอบครัวมากขึ้น
นานาประเทศที่ประสบปัญหาการเกิดต่ำ ผู้กำหนดนโยบายได้ลงทุนเงินจำนวนมหาศาล และไตร่ตรองนโยบายที่กำหนดเป้าหมายโดยเฉพาะ เพื่อพยายามทำให้คนหนุ่มสาวมีลูกมากขึ้น (แต่จนถึงตอนนี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ) ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้คนไม่อยากมีลูก หรือตัดสินใจที่จะไม่มีลูก จึงเกิดเป็นคำถามที่ตามมาว่า แค่ ‘ส่งเสริม’ มันเพียงพอสำหรับ 1 ชีวิตที่จะเกิดมาจริงๆ หรือ?