ซากเรือไททานิคกำลังผุพังอย่างช้าๆ ล่าสุดราวกั้นตรงหัวเรือตกไปใต้ทะเลแล้ว

3 ก.ย. 2567 - 06:19

  • การสำรวจซากเรือไททานิคครั้งใหม่เผยให้เห็นราวกั้นขนาดใหญ่ฝั่งหนึ่งบริเวณหัวเรือได้ตกไปที่ใต้พื้นมหาสมุทรแอตแลนติกแล้ว แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการผุพังอย่างช้าๆ

  • ทีมงานเชื่อว่าราวกั้นตรงหัวเรือซึ่งมีความยาวประมาณ 4.5 เมตร (14.7 ฟุต) ได้หลุดออกไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่การสำรวจในปี 2022 ยังเห็นราวกั้นยึดติดกับเรืออยู่เลย แม้ว่าจะเริ่มบิดเบี้ยวแล้วก็ตาม

striking-images-reveal-depths-of-titanic-slow-decay-SPACEBAR-Hero.jpg

การสำรวจซากเรือไททานิคครั้งใหม่เผยให้เห็นราวกั้นขนาดใหญ่ฝั่งหนึ่งบริเวณหัวเรือได้ตกไปที่ใต้พื้นมหาสมุทรแอตแลนติกแล้ว แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการผุพังอย่างช้าๆ 

ภาพไวรัลในภาพยนต์ ‘ไททานิค’ ฉากแจ็คกับโรสยืนอยู่ตรงหัวเรือซึ่งใครๆ ต่างก็ยกให้เป็นฉากสุดโรแมนติกของหนังเรื่องนี้ แม้ปัจจุบันเรือไททานิคของจริงจะกลายเป็นซากใต้น้ำแต่ก็ยังคงดึงดูดให้นักสำรวจต้องส่งหุ่นยนต์ใต้น้ำไปเก็บภาพอยู่บ่อยครั้ง ทว่าภาพล่าสุดที่ถ่ายมาได้กลับไม่เหมือนเดิม เพราะซากเรือได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ หลังจากจมอยู่ใต้ท้องทะเลมานานกว่า 100 ปีนับตั้งแต่เรือชนภูเขาน้ำแข็งและจมลงสู่ท้องทะเลเมื่อปี 1912 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1,500 ราย

“หัวเรือของไททานิคเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นมาก...ตอนนี้มันก็ไม่ใช่แบบนั้นอีกต่อไปแล้ว มันเป็นเพียงการเตือนอีกครั้งถึงความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นทุกวัน ผู้คนต่างถามกันตลอดเวลาว่า ‘ไททานิคจะอยู่ที่นั่นนานแค่ไหน’ เราไม่รู้หรอก แต่เราก็เฝ้าดูมันอยู่แบบเรียลไทม์”

โทมัสซินา เรย์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดเก็บข้อมูลของ ‘RMS Titanic Inc’ บริษัทที่ดำเนินการสำรวจซากเรือช่วงกรกฎาคมถึงสิงหาคม กล่าว

ทีมงานเชื่อว่าราวกั้นตรงหัวเรือซึ่งมีความยาวประมาณ 4.5 เมตร (14.7 ฟุต) ได้หลุดออกไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากการสำรวจในปี 2022 ที่ดำเนินการโดย ‘Magellan’ บริษัททำแผนที่ใต้ทะเลลึก และ ‘Atlantic Productions’ บริษัทผลิตสารคดี เผยให้เห็นว่าราวกั้นยังคงยึดติดอยู่ แม้ว่าจะเริ่มบิดเบี้ยวแล้วก็ตาม 

“เมื่อถึงจุดหนึ่ง โลหะก็แตกหักและหลุดออกไป” โทมัสซินา เรย์ กล่าว 

การสำรวจครั้งก่อนพบว่า บางส่วนของเรือไททานิคกำลังพังทลาย นอกจากนี้ การดำน้ำเมื่อปี 2019 ที่นำโดย วิกเตอร์ เวสโกโว นักสำรวจ ก็เผยให้เห็นว่าด้านขวาของห้องพักของเจ้าหน้าที่กำลังพังทลาย  

ขณะนี้บริษัท RMS Titanic Inc กำลังตรวจสอบภาพอย่างละเอียดเพื่อจัดทำรายการสิ่งที่พบ รวมถึงสร้างการสแกนแบบดิจิทัล 3 มิติที่มีรายละเอียดสูงบริเวณซากเรือทั้งหมด โดยจะเปิดเผยภาพเพิ่มเติมจากการสำรวจในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ 

นอกจากนี้ ทีมยังได้ประกาศการค้นพบสิ่งของอีกชิ้นที่พวกเขาหวังว่าจะได้พบแม้ว่าจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายก็ตาม 

ย้อนกลับไปในปี 1986 โรเบิร์ต บัลลาร์ด (ซึ่งเป็นผู้พบซากเรือไททานิคเมื่อปี 1985) ได้พบและถ่ายภาพรูปปั้นสัมฤทธิ์สูง 60 ซม. ที่เรียกว่า ‘ไดอานาแห่งแวร์ซาย’ อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครทราบตำแหน่งที่แน่ชัด แล้วก็ไม่มีการบันทึกไว้อีกเลย แต่ปัจจุบัน ได้มีการค้นพบรูปปั้นดังกล่าวนอนหงายหน้าอยู่ในตะกอนบริเวณซากเรือ 

“มันเหมือนกับการงมเข็มในมหาสมุทร และการค้นพบสิ่งนี้อีกครั้งในปีนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ” เจมส์ เพนกา นักวิจัยไททานิคและผู้จัดรายการพอดแคสต์ ‘Witness Titanic’ กล่าว 

ครั้งหนึ่ง รูปปั้นนี้เคยจัดแสดงให้ผู้โดยสารชั้นหนึ่งของเรือไททานิคได้ชื่นชม “ห้องรับรองชั้นหนึ่งเป็นห้องที่สวยงามที่สุดบนเรือลำนี้ และมีรายละเอียดที่น่าทึ่งมาก และจุดเด่นของห้องนั้นคือรูปปั้นไดอาน่าแห่งแวร์ซาย แต่โชคร้ายที่เมื่อไททานิคแตกออกเป็นสองส่วนในขณะที่เรือกำลังจม ห้องรับรองก็ถูกฉีกขาดออก ท่ามกลางความโกลาหลนั้น รูปปั้นไดอาน่าก็ตกลงไปในบริเวณที่มืดมิดของซากปรักหักพัง” เพนกา กล่าว 

อย่างไรก็ดี RMS Titanic Inc. บริษัทที่มีสิทธิ์ในการกู้ซากเรือไททานิค และเป็นบริษัทเดียวที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายในการเคลื่อนย้ายสิ่งของออกจากบริเวณซากเรือ ได้วางแผนที่จะกลับมาสำรวจซากเรือในปีหน้าเพื่อกู้ซากเพิ่มเติม และรูปปั้นไดอาน่าเป็นหนึ่งในสิ่งของที่พวกเขาต้องการนำกลับขึ้นมา 

บางคนเชื่อว่าซากเรือดังกล่าวเป็นหลุมศพที่ไม่ควรแตะต้อง 

แต่เพนกาแย้งว่า “นี่คือผลงานศิลปะที่ควรค่าแก่การดูและชื่นชม และตอนนี้ผลงานศิลปะอันงดงามชิ้นนี้ก็อยู่บนพื้นมหาสมุทรที่มืดสนิทมาเป็นเวลา 112 ปีแล้ว...การนำไดอาน่ากลับมาเพื่อให้ผู้คนได้เห็นเธอกับตาของตัวเอง คุณค่าของสิ่งนั้น การจุดประกายความรักในประวัติศาสตร์ การดำน้ำ การอนุรักษ์ เรืออับปาง และประติมากรรม ผมไม่สามารถทิ้งสิ่งเหล่านี้ไว้บนพื้นมหาสมุทรได้” 

(Photo by Woods Hole Oceanographic Institution / AFP)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์