วิจัยชี้ผู้ป่วยที่รักษากับ ‘หมอหญิง’ ได้ผลดีกว่า ‘หมอชาย’

31 สิงหาคม 2566 - 07:21

studies-find-patients-have-better-outcomes-with-female-surgeons-SPACEBAR-Thumbnail
  • งานวิจัยล่าสุด 2 ฉบับบอกว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดโดยศัลยแพทย์หญิงมีแนวโน้มที่จะประสบกับภาวะแทรกซ้อนและตรวจติดตามการรักษาน้อยกว่าการผ่าตัดกับศัลยแพทย์ชาย

  • 13.9% ของผู้ป่วยที่รับการรักษากับศัลยแพทย์ชายเจอ ‘เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการผ่าตัด’ ขณะที่ตัวเลขของศัลยแพทย์หญิงอยู่ที่ 12.5%”

ใครๆ ก็บอกกันว่าเมื่อยามเจ็บป่วย ชีวิตของคนๆ หนึ่งก็เหมือนอยู่ในกำมือหมอ ผู้ป่วยบางคนสามารถที่จะเลือกหมอผ่าตัดให้พวกเขาได้ แต่หลายต่อหลายคนก็ไม่มีโอกาสทำเช่นนั้น และในปัจจุบันคนไข้บางคนยังยึดติดอยู่ว่าหมอผู้ชายจะมีความน่าเชื่อถือในการรักษามากกว่าด้วย 

แต่งานวิจัยล่าสุด 2 ฉบับบอกว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดโดยศัลยแพทย์หญิงมีแนวโน้มที่จะประสบกับภาวะแทรกซ้อนและตรวจติดตามการรักษาน้อยกว่าการผ่าตัดกับศัลยแพทย์ชาย  

แพทย์ในแคนาดาและสวีเดนได้ทำการตรวจสอบบันทึกผู้ป่วยมากกว่า 1 ล้านรายการจากทะเบียนการแพทย์ทั้ง 2 แห่งแยกกัน และพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษากับศัลยแพทย์หญิงนั้นมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีปัญหาน้อยลงในช่วงหลายเดือนหลังการผ่าตัด และในบันทึกดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่าศัลยแพทย์หญิงมีแนวโน้มที่จะผ่าตัดช้ากว่าและนั่นอาจทำให้ได้รับผลลัพธ์ที่ดีขึ้นสำหรับการใช้เวลาอยู่ในห้องผ่าตัด 

ดร.คริสโตเฟอร์ วอลลิส ผู้นำการศึกษาวิจัยแห่งโรงพยาบาลเมาท์ ไซย์ไน ในโตรอนโต เผยว่า “การค้นพบนี้ควรกระตุ้นให้ศัลยแพทย์ชายไตร่ตรองแนวทางการผ่าตัดของตน และเรียนรู้จากแพทย์เพื่อนร่วมงานหญิงเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย…”  

การวิเคราะห์รายงานในวารสารนานาชาติ ‘Jama Surgery’ แสดงผลลัพธ์ 90 วันหลังการผ่าตัดซึ่งพบว่า “13.9% ของผู้ป่วยที่รับการรักษากับศัลยแพทย์ชายเจอ ‘เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการผ่าตัด’ ซึ่งครอบคลุมถึงการเสียชีวิต ภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์ การผ่าตัดใหม่จากการติดเชื้อ หัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง ขณะที่ตัวเลขของศัลยแพทย์หญิงอยู่ที่ 12.5%” 

“นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่รักษากับศัลยแพทย์หญิงจะมีอาการดีขึ้นหลังการผ่าตัดไปแล้ว 1 ปี โดย 20.7% มี ‘เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการผ่าตัด’ เมื่อเทียบกับศัลยแพทย์ชายจะอยู่ที่ 25% แต่เมื่อแพทย์พิจารณาเฉพาะการเสียชีวิตหลังการผ่าตัด ความแตกต่างก็ยิ่งชัดเจนขึ้น โดยพบว่า ผู้ป่วยที่รักษากับศัลยแพทย์ชายมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตหลังการผ่าตัดไปแล้ว 1 ปีมากกว่าผู้ป่วยที่รักษากับศัลยแพทย์หญิงถึง 25%” 

ทั้งนี้ ในการวิจัยครั้งที่ 2 กับผู้ป่วย 150,000 รายในสวีเดนที่ตีพิมพ์ในวารสาร Jama Surgery โดย ดร.มาย์ บลอห์ม และเพื่อนร่วมงานที่สถาบันแคโรลินสกา ในกรุงสตอกโฮล์ม ซึ่งศึกษาเคสของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเพื่อเอาถุงน้ำดีออก 

และพบว่า ‘ผู้ป่วยที่รักษากับศัลยแพทย์หญิงมีภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าและพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสั้นกว่าผู้ป่วยที่รักษากับศัลยแพทย์ชาย เนื่องจากศัลยแพทย์หญิงดำเนินการผ่าตัดช้ากว่าศัลยแพทย์ชาย และมีโอกาสน้อยกว่าที่จะเปลี่ยนจากการผ่าตัดแบบส่องกล้อง (keyhole surgery) ไปเป็นการผ่าตัดแบบเปิด (open surgery) ในระหว่างการผ่าตัด’ 

ดร.บลอห์มเผยว่า “ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าเทคนิคการผ่าตัดและการกล้าเสี่ยงอาจอธิบายความแตกต่างบางประการที่สังเกตได้…ในบางประเทศ มีความเชื่อว่าศัลยแพทย์ชายมีความสามารถเหนือกว่าศัลยแพทย์หญิง…มันน่าสนใจที่การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ระบุว่า ศัลยแพทย์หญิงอย่างน้อยก็เก่งพอๆ กับศัลยแพทย์ชาย หรือในกรณีนี้ก็ดีกว่าเล็กน้อยด้วยซ้ำ” 

ขณะที่ ทิม มิทเชลล์ ประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งอังกฤษ (Royal College of Surgeons of England) กล่าวว่า “การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างในผลลัพธ์ของผู้ป่วยสำหรับศัลยแพทย์ชายและหญิง” 

“ผลลัพธ์ที่ออกมานี้น่าสนใจและมีความสำคัญ อย่างไรก็ตาม การเชื่อมโยงดังกล่าวก็ไม่ใช่สาเหตุที่จะมาโยงถึงคำอธิบายที่เป็นไปได้ ซึ่งในบางกรณีอาจเกี่ยวกับอาการแทรกซ้อนของผู้ป่วยก็ได้…ผู้เขียนวิจัยพยายามผสมผสานเคสผู้ป่วยและปัญหาที่เกิดขึ้นโดยปรับเปลี่ยนตามตัวแปรกวน แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสับสนที่หลงเหลืออยู่นั้นก็ไม่สามารถตัดออกได้ ผมยอมรับว่าอุดมคติของศัลยแพทย์ในฐานะ ‘คาวบอยผู้โดดเดี่ยว’ เป็นของยุคที่ล่วงลับไปนานแล้ว” มิทเชลล์กล่าวทิ้งท้าย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์