วิจัย ระบุ กินมื้อเช้าแต่เช้า และมื้อเย็นไม่ดึก ลดเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

22 ธันวาคม 2566 - 07:03

Study-find-eating-breakfast-and-dinner-early-can-reduce-cardiovascular-disease-risk-SPACEBAR-Hero.jpg
  • งานวิจัยล่าสุด พบว่า การกินอาหารมื้อแรกก่อน 8 โมงเช้า และกินมื้อสุดท้ายก่อน 3 ทุ่ม ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวและหลอดเลือด โดยเฉพาะผู้หญิง

คุณเป็นคนที่งดมื้อเช้า แล้วไปกินมื้อดึกแทนหรือเปล่า ถ้าใช่ คุณกำลังเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด  

การศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Communications พบว่าการกินอาหารก่อนเวลาสามารถลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยนักวิจัยพิจารณาจากข้อมูลของผู้ใหญ่ 103,389 คน วัยกลางคนอายุประมาณ 42 ปี ที่เข้าร่วมในงานวิจัย NutriNet-Santé โดยบันทึกทางการแพทย์ได้มาจากฐานข้อมูล UK Biobank ซึ่งบันทึกเกี่ยวกับอาหารมีข้อมูลเกี่ยวกับเวลาของมื้ออาหารและจำนวนครั้งที่แต่ละคนกินในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง โดยการศึกษานี้ติดตามโดยเฉลี่ยเป็นเวลา 7 ปี 

ในช่วงเวลาที่ทำการศึกษา มีคนเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 2,036 คน แบ่งเป็น โรคหลอดเลือดสมอง 253 คน ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ 765 คน กล้ามเนื้อหัวใจตาย 162 คน ผ่าตัดขยายหลอดเลือด 428 คน ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 89 คน และภาวะเจ็บแน่นหน้าอก 428 คน 

นักวิจัยสังเกตสิ่งที่ค้นพบต่อไปนี้ มีความเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาที่กิน ระหว่าง 8 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม 

  • การกินมื้อแรกล่าช้า มีความเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 
  • ทุกๆชั่วโมงที่ล่าช้าเพิ่มขึ้น ทำให้ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 6% 
  • การกินมื้อสุดท้ายของวันหลัง 3 ทุ่ม เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนที่กินก่อน 2 ทุ่ม 28%  
  • จำนวนครั้งที่กินไม่เพิ่มความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ 
  • ทุกๆชั่วโมงที่เพิ่มขึ้นในการทำ fasting (อดอาหาร) เวลากลางคืน (กินก่อนเวลาในตอนเย็น แทนอาหารเช้าล่าช้า) ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง 7 %  

นักวิจัย ยังเพิ่มเติมด้วยว่า ผลเสียจากเวลาที่กินอาหารมื้อสุดท้ายในแต่ละวัน มีผลในผู้หญิงมากว่าผู้ชาย  

ทาเทียนา ริดลีย์ โค้ชด้านสุขภาพ นักโภชนาการแบบองค์รวม และครูสอนโยคะ ที่ไม่ได้ร่วมทำการศึกษานี้ กล่าวว่า “การศึกษาแสดงให้เห็นว่า ความสามารถในการเผาผลาญพลังงานของร่างกายของคุณ และการควบคุมความหิวของคุณ มีความเชื่อมโยงกับ จังหวะรอบวัน ” 

นักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าผลเหล่านี้สนับสนุนแนวคิดที่ว่าการกินอาหารมื้อแรกและมื้อสุดท้ายก่อนเวลา โดยอดอาหารในเวลากลางคืนยาวนานขึ้น อาจช่วยป้องกันความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ 

สำหรับการอดอาหารเป็นช่วง ๆ หรือ Intermittent Fasting (IF) ที่คนนิยมทำกันเพื่อลดน้ำหนักในปัจจุบัน คุณจะต้องจำกัดเวลาในการกินที่แน่นอนในแต่ละวัน หลักการของแผนนี้ก็คือร่างกายของเราจะนำไขมันสะสมมาใช้เป็นพลังงานอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะกลูโคส และคาร์โบไฮเดรต เป็นแหล่งพลังงานแรกที่ร่างกายนำไปใช้ทันที แต่เมื่อไม่มีกลูโคส ร่างกายก็เผาผลาญไขมันแทน 

นักวิจัยแนะนำว่ามื้อสุดท้ายของแต่ละวันไม่ควรเกิน 2 ทุ่ม และมื้อแรกก่อน 8 โมงเช้า แม้พวกเขาจะไม่ได้พูดเจาะจงถึง IF แต่การไม่กินเป็นเวลา 12 ชม. ก็เรียกได้ว่ามีความใกล้เคียง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์