ถูกใจคอกาแฟ...วิจัย ชี้ สารในกาแฟ ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อเมื่ออายุมากขึ้น

10 เมษายน 2567 - 10:00

Study-finds-compound-found-in-coffee-and-fenugreek-improve-muscle-function -SPACEBAR-Hero.jpg
  • โรคซาร์โคเพเนีย ซึ่งมีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรง ส่งผลกระทบต่อผู้ใหญ่หลายคนเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อนำไปสู่ปัญหาการเคลื่อนไหว ภาวะเปราะบาง และในเวลาต่อมาลดความเป็นอิสระในผู้สูงอายุมากมาย

  • นักวิจัยพบว่าสาร ‘ไตรโกนีลีน’ ที่พบในกาแฟและฟีนูกรีก หรือลูกซัด และถูกสร้างในไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหารด้วย ช่วยฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อ

โรคซาร์โคเพเนีย (Sarcopenia) เป็นการสูญเสียกล้ามเนื้อลายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น โดยประมาณ 10-16% ของคนอายุ 65 ปีขึ้นไปทั่วโลกประสบกับภาวะนี้และความชุกของโรคยิ่งสูงขึ้นในคนที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน โดยเฉลี่ยแล้วผู้ใหญ่สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ 250 กรัมทุกปี เมื่ออายุระหว่าง 30 ถึง 60 ปี และยิ่งสูญเสียมากขึ้นอย่างรวดเร็วหลังอายุ 70 ปี

โรคนี้สามารถนำไปสู่ปัญหาการเคลื่อนไหวร่างกาย การหกล้ม และภาวะเปราะบางที่มักนำไปสู่การสูญเสียความเป็นอิสระในผู้สูงอายุ ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งนับเป็นภาระโรคที่สำคัญในประชากรผู้สูงอายุ

งานวิจัยล่าสุดตรวจสอบกลไกเกี่ยวกับโมเลกุลของโรคซาร์โคเพเนีย โดยใช้หนอน หนูเพศผู้ และตัวอย่างเนื้อเยื่อที่มาจากผู้เข้าร่วมชายที่เป็นโรคซาร์โคเพเนีย 

ทีมวิจัยพบว่าสารที่พบในกาแฟ และฟีนูกรีก และยังถูกสร้างในไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหาร สามารถฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อในมนุษย์ผู้สูงอายุ หนู และหนอน

งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Metabolism

โรคซาร์โคเพเนีย ภาระโรคในผู้สูงอายุ

งานวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ว่าคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำมีแนวโน้มน้อยที่จะประสบภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ และโภชนาการที่ไม่ดี ซึ่งรวมถึงการกินโปรตีนไม่เพียงพอก็มีความสัมพันธ์กับภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตามปัจจัยอื่นๆนอกเหนือจากนี้ถือว่าน้อยมาก ดังนั้นนี่คือสิ่งที่ควรแนะนำแก่ผู้ที่ประสบภาวะนี้

โรคนี้มักส่งผลกระทบต่อผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และคาดว่าน่าจะเป็นเพราะการลดลงของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่สำคัญเมื่อสูงวัย

“แม้ว่าโรคซาร์โคเพเนียสามารถเกิดขึ้นได้ในทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่ผมสังเกตว่าผู้ชายอาจประสบการเป็นซาร์โคเพเนียจำนวนมากกว่า ด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับฮอร์โมน และการออกกำลังกายลดลง โรคซาร์โคเพเนียมักกลายเป็นปัญหาหลังจากอายุ 50 ปี แต่สัญญาณบ่งบอกล่วงหน้าอย่างกล้ามเนื้ออ่อนแรงก็สามารถปรากฏขึ้นได้ก่อนอายุ 50 ปี ซึ่งเป็นการแสดงว่าจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ ที่สำคัญวัยชราเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับแรกของการเป็นโรคซาร์โคเพเนีย” ดร.คิวเบนิค เทไคร์บาเชฟ ผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ แห่ง North American Observatory on Health Systems and Policies (NAO) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องในงานวิจัยนี้ กล่าว

Study-finds-compound-found-in-coffee-and-fenugreek-improve-muscle-function -SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ผู้สูงอายุใช้วอร์คเกอร์ช่วยเดินและมีพยาบาลดูแลใกล้ชิด

กระบวนการเผาผลาญส่งผลต่อโรคซาร์โคเพเนียและกล้ามเนื้อผู้สูงวัยอย่างไร

ในการศึกษานี้ ทีมวิจัยนานาชาติพิจารณาเฉพาะเจาะจงไปที่บทบาทของระดับ นิโคตินาไมด์อะดีนีนไดนิวคลีโอไตด์ (NAD+) ของคนที่เป็นโรคซาร์โคเพเนีย 

NAD+ เป็นโคเอนไซม์ (Coenzyme) ในร่างกายที่สำคัญทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ในร่างกาย ทั้งการเผาผลาญ การทำงานของฮอร์โมน ระบบประสาทและสมอง พบในไมโทคอนเดรียซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเผาผลาญพลังงานภายในเซลล์

งานวิจัยก่อนหน้านี้โดยนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ เผยว่าระดับ NAD+ ที่ต่ำ พร้อมกับการผลิตพลังงานของไมโทคอนเดรียที่ต่ำ สัมพันธ์กับกล้ามเนื้อลายเสื่อมมากขึ้นและโรคซาร์โคเพเนีย

สมาชิกหลายคนในทีมวิจัย อยู่ใน Nestle Research ผู้ผลิตอาหารเนสท์เล่ ในเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

นักวิจัยวิเคราะห์ระดับซีรั่มของชายชาวจีน 20 คน อายุ 65-79 ปี ที่เป็นโรคซาร์โคเพเนีย และกลุ่มสุขภาพดีที่อายุเท่ากัน และพบว่าผู้ป่วยซาร์โคเพเนียมีการไหลเวียนของสารที่ชื่อว่า ไตรโกนีลีน (trigonelline) ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นสารที่พบในพืชและสัตว์

เมื่อวิเคราะห์เพิ่มเติม ทีมวิจัยพบว่าระดับไตรโกนีลีน มีความสัมพันธ์ในแง่ดีต่อมวลกล้ามเนื้อ แรงบีบมือ และความเร็วในการเดิน และระดับ NAD+ สูงขึ้นในกล้ามเนื้อลาย ซึ่งพบผลเหมือนกันในการศึกษาอื่น

นักวิจัยได้ทดลองใส่ไตรโกนีลีนในเนื้อเยื่อตัวอย่างในหลอดทดลอง และพบว่า myotubes ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อชนิดหนึ่งที่พบในกล้ามเนื้อ มีระดับ NAD+ เพิ่มขึ้นเมื่อใส่ไตรโกนีลีนเข้าไป และเซลล์กล้ามเนื้ออื่นๆ เซลล์ตับ เซลล์ไตไม่ให้ผลเหมือนกัน ซึ่งการทดลองเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อตัวอย่างจากผู้เข้าร่วมและกลุ่มสุขภาพดี โดยใส่ไตรโกนีลีนนั้นระดับ NAD+ เพิ่มขึ้นทั้งคู่ 

นอกจากนี้ยังได้ทดลองในหนอนด้วยการใส่ไตรโกนีลีนในวันแรกของวัยผู้ใหญ่และพบว่าอายุยืนขึ้นเมื่อเทียบกับอีกกลุ่ม และยังพบการเพิ่มขึ้นของการหายใจของไมโทคอนเดรีย

ส่วนการทดลองในหนู ทีมวิจัยได้ให้สารอาหารไตรโกนีลีนในหนูเพศผู้อายุ 20 เดือน และในช่วง 5 วัน ฟื้นฟูการทำงานของไมโทคอนเดรีย ช่วง 12 สัปดาห์ พบพลาสมา ตับ และกล้ามเนื้อ ระดับไตรโกนีลีนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับอีกกลุ่ม ยิ่งไปกว่านั้นการทดลองยังแสดงให้เห็นว่าแรงบีบมือเพิ่มขึ้นในหนูที่ได้รับสารอาหารไตรโกนีลีน เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มด้วย

ผู้เขียนแนะว่าการค้นพบนี้แสดงว่าแทนที่จะเปลี่ยนโครงสร้างของเส้นใยกล้ามเนื้อ แต่ไตรโกนีลีนกลับฟื้นฟูการทำงานของไมโทคอนเดรียในเซลล์เหล่านี้

วิธีเพิ่มไตรโกนีลีนในร่างกาย

ผู้เขียนต้องการเน้นว่าไตรโกนีลีนพบในกาแฟและฟีนูกรีก หรือลูกซัด โดยอ้างว่าระดับคาเฟอีนที่สูง สัมพันธ์กับระดับภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อต่ำในเกาหลี แต่การวิเคราะห์ของพวกเขายังไม่พบในแถบตะวันออกกลาง พวกเขาคาดว่าอาจเป็นเพราะการบริโภคที่ต่ำในแถบนั้น

ทีมวิจัยยังพบว่าใยอาหารและโฟเลต สัมพันธ์กับระดับไตรโกนีลีนที่สูงขึ้นในร่างกาย และอธิบายว่าสารนี้ถูกสร้างขึ้นได้ในระบบทางเดินอาหารเนื่องจากการทำงานของไมโครไบโอม

“จากรายงานในงานวิจัย การวิเคราะห์แบบจำลองเกี่ยวกับอาหารในทางคลินิกระบุถึงการเชื่อมโยงระหว่างการกินใยอาหารและโฟเลตกับระดับไตรโกนีลีนในร่างกายมนุษย์ ขณะที่สัญญาณเหล่านี้เปิดโอกาสใหม่ๆในการปรับการผลิตไตรโกนีลีนภายในร่างกาย เรามุ่งเน้นไปที่การทำงานในการผลิตไตรโกนีลีนที่กินได้ในปริมาณมากในอาหารอย่างฟีนูกรีกหรือกาแฟ” แคธารีนา ฟิชเชอร์ โฆษก Nestle Research กล่าว

ไตรโกนีลีนมีในกาแฟแค่ไหน

ไตรโกนีลีน เป็นสารอัลคาลอยด์ ที่พบในเมล็ดกาแฟดิบ โดยกาแฟอราบิก้ามีสารไตรโกนีลีนประมาณ 1% และ 0.7% ในกาแฟโรบัสต้า แม้ว่าสารนี้จะมีปริมาณน้อยกว่าคาเฟอีน แต่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดสารกลิ่นรสระหว่างการคั่ว โดยไตรโกนีลีนจะสลายเมื่ออุณหภูมิเข้าใกล้ 160 องศาเซลเซียส โดยพบว่าไตรโกนีลีนสลายไป 60% เมื่อความร้อนถึง 160 องศาเซลเซียส

มีงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับกาแฟที่แสดงให้เห็นถึงข้อดี ข้อเสีย และไม่มีผลต่อสุขภาพ อีกทั้งยังมีสารอื่นๆในแก้วกาแฟ อย่างเช่น น้ำตาล นม ครีมเทียม  ดังนั้นการดื่มกาแฟเพื่อรักษาโรค ยังควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้ดูแล หรือศึกษาให้ละเอียดและคำนึงถึงข้อควรระวังด้วย ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่มักมีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์